4 ปีมาแล้ว ที่คนไทยยังต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมกฎหมายอากาศสะอาดที่จะมาแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ของไทย ถึงไม่เกิดเสียที ทั้งที่ประชาชนต้องการ และพรรคการเมืองต่างๆ สนับสนุน จนเกิดร่างกฎหมายสะอาดและกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมลพิษกว่า 5 ฉบับเข้าไปแล้ว สาเหตุอาจน่าเจ็บใจกว่าที่คิด นั่นคือเรายังคงใช้แนวคิดของ “กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน” เมื่อ 75 ปีก่อน มาปัดตกกฎหมายที่จะมาปกป้องชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบันทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

Air Pollution Protest in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ในปี 2563 นักศึกษา บุคคลทั่วไปและเครือข่ายร่วมกับกรีนพีซ จัดกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย © Wason Wanichakorn / Greenpeace

กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินคืออะไร ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489  หรือสมัยที่เรายังมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน”  ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีปัดตกร่างกฎหมายใดๆ ก็ตามที่เข้าข่ายว่าส่งผลต่อการเงินการคลังของประเทศ (แต่กฎหมายสำคัญ ๆ ทุกฉบับก็ต้องเกี่ยวกับการเงินหรือเปล่านะ?)  ได้ตั้งแต่ร่างกฎหมายฉบับนั้นยังไม่ผ่านเข้าสภาฯ  

เหตุผลหนึ่งที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ปรากฎในรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2491 ซึ่งพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ได้อภิปรายรับรองอำนาจนายกรัฐมนตรีในนามรัฐบาลว่า  “…รัฐบาลเป็นผู้คุมกระเป๋าเงินของประเทศจึงทราบว่าตนมีกำลังทรัพย์ที่จะบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ รัฐบาลจึงควรต้องรู้ก่อน…”

กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินมีชีวิตต่อมาหลายยุคหลายสมัย แต่ถูกยกเลิกไปหลังเรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดให้ร่างกฎหมายใด ๆ ก็ตามที่เสนอโดยประชาชน 50,000 รายชื่อ ไม่ต้องให้นายกฯ รับรองว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาฯ ได้เลย (ซึ่งถ้าประชาชนชนเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดในยุคนั้น ก็จะถูกพิจารณาในสภาฯ และเราจะได้เห็นในการอภิปรายว่า ส.ส.คนไหนสนับสนุนหรือคัดค้าน) แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 ได้ขยายขอบเขตอำนาจให้กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินกลายเป็นเครื่องมือที่นายกรัฐมนตรีใช้ปัดตกกฎหมายที่ไม่ต้องการให้เข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจนี้ปัดตกร่างกฎหมายที่จะมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เสนอจากทั้งประชาชนและพรรคการเมืองไปแล้ว 3 ฉบับ 

ควรหรือไม่ที่หลักการเมื่อ 75 ปีก่อนยังคงถูกใช้ในยุคปัจจุบัน?

“…นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นผู้ใช้เงินงบประมาณ จึงมีความรู้สถานะทางการเงินการคลังของประเทศเป็นอย่างดี โดยเหตุนี้กฎหมายใดที่จะส่งผลต่อสถานะการเงินการคลังของรัฐ จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเสียก่อน…”  

ข้อความข้างต้นนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 หรือใน พ.ร.บ.เนื่องด้วยการเงินฯ ฉบับล่าสุด ที่ทำให้กฎหมายอากาศสะอาดของไทยไม่เคยผ่านเข้าสู่สภาฯ เลยสักฉบับ ซึ่งถ้าเราอ่านดูดีๆ จะคุ้นๆ เพราะสาระหลักแทบไม่ต่างจากที่พระยาอรรถการีย์นิพนธ์กล่าวไว้เมื่อปี พ.ศ. 2491 

แต่จริงหรือไม่ที่ “นายกรัฐมนตรีมีความรู้สถานะการเงินของประเทศเป็นอย่างดี” ควรเป็นคำตอบเดียวในการบริหารประเทศ? หากเรานำตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM 2.5 มารวมกัน ทั้งภาระทางสุขภาพที่ประชาชนและภาคสาธารณสุขต้องแบกรับ การเสียโอกาสแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยว และการที่จังหวัดใหญ่ๆ ของไทยติดอันดับเมืองคุณภาพแย่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก สิ่งเหล่านี้ควรถูกคิดคำนวณและให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมอภิปรายด้วยหรือไม่ ?

Air Pollution Protest in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

ปัดตกได้แบบงงๆ ไม่ต้องบอกเหตุผล?

กฎหมายหลายฉบับที่เสนอเข้าสภาฯ มาจากการระดมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายอย่างยากลำบากของประชาชน แต่ด้วยอำนาจที่ได้จากกฎหมายเกี่ยวเนื่องด้วยการเงิน นายกฯ สามารถปัดตกร่างกฎหมายเหล่านั้นโดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลและไม่ต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามทวงถามเหตุผลจากนายกรัฐมนตรีว่าเพราะเหตุใดถึงปัดตกกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนหลายฉบับแต่ไม่ได้รับการชี้แจงแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่รู้ว่าในอนาคตยังจะมีกฎหมายการเงินคอยสกัดกั้นกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนอยู่หรือไม่ แต่หากเราไม่เสนอกฎหมายใหม่ ๆ เลยโอกาสที่เราจะมีกฎหมายที่จะมาดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนก็นับว่าเป็นศูนย์เช่นกัน

ขณะนี้มีร่างกฎหมายเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมอีกสองฉบับที่กำลังรอจะได้ไปต่อ คือพ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ลงชื่อสนับสนุนได้ที่นี่ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของนายกฯ และร่างกฎหมายว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ซึ่งกำลังเปิดรับลงรายชื่อจากประชาชน ทาง https://thaiprtr.com/ 

ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เดินทางไปที่สัปปายะสภาสถาน เพื่อยื่นริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

หากร่างกฎหมาย PRTR ไม่ถูกปัดตกและเราได้ใช้กันจริงๆ ผู้ปล่อยมลพิษต่างๆ จะต้องเปิดเผยชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือสารมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ ฯลฯ  ต่อสาธารณชน ซึ่งสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Right to Know) ของประชาชน ซึ่งสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร นับเป็นสิทธิแรกๆ ที่เป็นรากฐานการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในทุกประเทศ

ร่วมสู้อีกครั้งหนึ่งผ่านการผลักดันร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน ซึ่งเราหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ถูกปัดตกตั้งแต่ยังไม่ผ่านตาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป

ร่วมผลักดันร่างกฎหมาย PRTR

ผู้ปล่อยมลพิษต่างๆ จะต้องเปิดเผยชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือสารมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ ฯลฯ  ต่อสาธารณชน ซึ่งสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Right to Know) ของประชาชน

ลงชื่อ

#ThaiPRTR #OpenDataมลพิษ #RightToCleanAir