ภาพระดับน้ำในคลองเวนิสที่ลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์จนเรือไม่สามารถแล่นได้ © Pedro Gutierrez-Bocci

หลังจากปีใหม่ที่ผ่านมาภูมิภาคยุโรปต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนกลางฤดูหนาว ขณะนี้ประเทศอิตาลีเป็นอีกประเทศที่กำลังเจอกับผลกระทบภัยแล้งอย่างหนัก ล่าสุดเมืองแห่งคูคลองชื่อดังอย่างเวนิสที่มีเรืออันเป็นเอกลักษณ์อย่าง ‘เรือกอนโดลา’ ไม่สามารถแล่นได้เพราะคลองในเมืองแห้งขอดเป็นประวัติการณ์ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือเวนิสไม่ได้มีแค่เรือกอนโดลา แต่ยังมีเรือสัญจรและเรือพยาบาลที่เป็นยานพาหนะสำหรับประชาชนในชีวิตประจำวันอีกด้วย

ภาพระดับน้ำในคลองเวนิสที่ลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์จนเรือไม่สามารถแล่นได้ © Pedro Gutierrez-Bocci

แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาเวนิสจะต้องเผชิญกับสภาวะระดับน้ำสูงขึ้นจนน้ำท่วมเมือง เช่นในปี 2562 ระดับน้ำในเวนิสเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยศูนย์เฝ้าระวังระดับน้ำของเมืองรายงานว่าระดับน้ำขึ้นสูงสุดที่ 1.87 เมตร ถือเป็นระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มจัดเก็บสถิติตั้งแต่ปี 1923  แต่ภาพคลองในเวนิสแห้งเหือดในปีนี้บ่งบอกถึงสัญญาณว่าอิตาลีอาจจะต้องเจอภัยแล้งอย่างหนัก ทั้งนี้นอกจากคลื่นความร้อนเมื่อช่วงต้นปีที่ส่งผลกระทบแล้ว อิตาลียังประสบภาวะแล้งเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนในปี 2022 ซึ่งเป็นผลจากเกิดหิมะบนเทือกเขาแอลป์น้อยเกินไปตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม

จากบทความที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNN  ระบุถึงผลการศึกษาที่เปิดเผยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี กราซ ในออสเตรีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งใช้ข้อมูลแหล่งน้ำใต้ดินจากดาวเทียมมาวิเคราะห์และได้ผลลัพธ์ว่าไม่ใช่เพียงแค่ในอิตาลีเท่านั้น แต่แหล่งน้ำในภูมิภาคยุโรปกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมมาก 

ทอร์สเทน เมเยอร์-เกอร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เราไม่เคยนึกภาพว่าการขาดแคลนแหล่งน้ำจะกลายเป็นปัญหาในยุโรป แต่ตอนนี้เรากำลังเจอปัญหานี้ และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจริงจังในประเด็นนี้”

High Tide and Sea level Rise in Venice. © Giacomo Cosua / Greenpeace
ภาพเมืองเวนิสที่เคยถูกน้ำท่วมกว่า 80% ของพื้นที่ โดยเวนิสเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Giacomo Cosua / Greenpeace

ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การแปรปรวนของสภาพอากาศทั้งในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดพายุบอมบ์ไซโคลน คลื่นความร้อนในยุโรปท่ามกลางฤดูหนาว หรือสภาพอากาศหนาวสุดขั้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกหรือแม้กระทั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนบ่อยและรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการขนส่งในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิต ปรากฎการณ์เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เป็นผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกจะอาศัยอยู่บนโลกได้ยากลำบากมากขึ้น

Flooded Roads after Pabuk Cyclone in Thailand.
ภาพน้ำท่วมในนครศรีธรรมราช ขณะที่พายุหมุนฤดูร้อน ปาบึก พัดเข้าถล่มจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน พายุลูกดังกล่าวถือเป็นพายุที่รุนแรงจนทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพและส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกหลายพันชีวิต

มีข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WORLD METEOROLOGICAL ORGANIZATION – WMO) ที่เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งในปี 2021 ชื่อ The State of the Climate in Asia 2020 ระบุใจความสำคัญว่า เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชียในปี 2020 เป็นสาเหตุของการสูญเสียประชากรหลายหมื่นชีวิต อีกกว่าหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมทั้งยังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรากำลังถูกคุกคามจากภัยความมั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำสะอาด วิกฤตด้านสุขภาพ และต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

ร่วมเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษหลักต้องชดใช้ค่าความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ตุลาคม 2022 กรีนพีซและองค์กรเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กรเปิดตัว ภาคีความร่วมมือพลเมืองยุโรป (the European Citizens’ Initiative (ECI) ) โดยมีข้อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการแบนโฆษณาที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลและการสปอนเซอร์จากอุตสาหกรรมฟอสซิลในสหภาพยุโรป เหมือนกับการแบนการโฆษณาบุหรี่ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษ

ผู้นำโลกจะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่พวกเราได้รับจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดนั้น เป็นเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่พยายาม ‘ชะลอและบิดเบือน’ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยการผลักให้เป็นปัญหาปัจเจกบุคคล โดยใช้เม็ดเงินมหาศาลประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้คนตื่นตัวและเริ่มลดผลกระทบจาก ‘ตัวเอง’ ในขณะเดียวกันก็ออกแคมเปญที่พยายามทำให้ตัวเอง ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ (Greenwash) 

Climate Strike at COP27.
กลุ่มนักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศจากหลายประเทศในซีกโลกใต้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนักรณรงค์ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายต่อปลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ

สิ่งที่เราทำได้คือการรวมพลังกันเพื่อบอกให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของประเทศเห็นความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่ออนาคตของเรา สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชน เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในชุมชนท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รัฐบาลทั่วโลกต้องเดินหน้าตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในขณะที่ดำเนินแผนการไปด้วย


Climate Strike at COP27.
‘กองทุนชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ?’ : เมื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ได้ก่อมลพิษหลัก

หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเริ่มเรียกร้อง “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” 

อ่านต่อ