เรื่องนี้นับเป็นข้อโต้แย้งหลักที่อุตสาหกรรมถ่านหินมักยกขึ้นมาใช้ แต่อย่างไรก็ดี คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกลบล้างโดยผลการวิจัยมากมาย แม้กระทั่งทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเคยประเมินการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาโดยตลอด ยังกล่าวว่าพลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้ผู้คนมีไฟฟ้าใช้ได้มากกว่าถ่านหิน

ถ่านหินไม่ใช่แค่ไม่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยากไร้ให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังขังพวกเขาไว้ให้อยู่สภาพที่ย่ำแย่เช่นเดิม โดยรายงานฉบับหนึ่งของอ็อกซ์แฟมในปี 2560 ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า:
“ยิ่งมีการใช้ถ่านหินมากเท่าใด ยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นต้องตกอยู่ในสภาพยากไร้ ทั้งจากผลกระทบร้ายแรงของความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศ และความสูญเสียโดยตรงจากการทำเหมืองและการเผาไหม้ถ่านหินที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพื้นที่ทำกิน มลพิษ และสุขภาพที่เสื่อมโทรมลง”

การพัฒนาที่ยั่งยืน

การเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มั่นคงและราคาจับต้องได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งถ่านหินไม่อาจทำให้ได้ อีกทั้งยังขัดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่นๆอย่างการมีสุขอนามัยที่ดีและการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดอีกด้วย ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนนั้นอาจช่วยให้ไปถึงเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนนี้ได้ทั้งหมด หรืออาจกล่าวได้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียน 100%คือหนทางเดียวที่เราจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้สำเร็จทุกประการ

ที่มา: World Future Council

ในตอนนี้ มีประชากรถึง 1.2 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็ไม่อาจช่วยพวกเขาได้ เกือบทั้งหมดของกลุ่มคนเหล่านี้ (ร้อยละ 84) อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งไม่สามารถเข้าถึงระบบสายส่งไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ และค่าใช้จ่ายในการขยายสายส่งดังกล่าวและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินรวมกันยังสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอิสระที่ไม่ต้องอาศัยระบบสายส่งอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กไปมาก ด้วยเหตุนี้เอง จีนจึงเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 43 ของการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในจีน เพราะพลังงานแสงอาทิตย์แบบอิสระนี้นับเป็นทางเลือกการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลที่มีค่าใช้จ่ายเหมาะสมมากที่สุด

ผลกระทบจากถ่านหิน

อุตสาหกรรมถ่านหินทำลายสุขภาพของมนุษย์ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเหมือง การเผาไหม้ ไปจนถึงการกำจัดของเสีย โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการกับผลกระทบเหล่านี้นั้นสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (ซึ่งแค่ในจีนเพียงประเทศเดียวยังมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศแล้วถึงกว่า 360,000 คน โดยเป็นผลมาจากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นหลัก) รวมถึงการที่ประชาชนมีสุขภาพที่ย่ำแย่และไม่สามารถทำงานได้จากผลกระทบทางสุขอนามัย

นอกจากนี้ น้ำสะอาดยังเป็นปัจจัยที่สำคัญกับมนุษย์มากกว่าไฟฟ้า และถ่านหินนั้นต้องอาศัยแหล่งน้ำในการปฏิบัติการอย่างมหาศาล กว่าหนึ่งในสี่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกที่กำลังปฏิบัติการอยู่และมีแผนการสร้างในปัจจุบันต่างอยู่ในพื้นที่ที่ใช้ปริมาณน้ำมากเกินควร เช่นในประเทศอย่างอินเดีย ชาวนาถึงกับต้องต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อแย่งชิงแหล่งน้ำสะอาดไว้ใช้

การที่ประเทศหนึ่งๆต้องพึ่งพาการใช้ถ่านหินยังทำให้ประเทศนั้นๆที่ต้องนำเข้าถ่านหินอ่อนไหวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาถ่านหิน ซึ่งประเทศที่มีปริมาณไฟฟ้าไม่พอใช้มักต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว โดยมีเพียงประชากรในแอฟริกาแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าแค่ร้อยละ 7 เท่านั้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และอาศัยอยู่ในประเทศที่มีถ่านหินสำรอง

ราคาที่ลดลงเรื่อยๆของพลังงานหมุนเวียน

ราคาพลังงานหมุนเวียนกำลังลดลงเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง โดยในตอนนี้ ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ต่างมีราคาทัดเทียมกับถ่านหินในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี และจะเป็นเช่นเดียวกันในตลาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียในอนาคตอันใกล้นี้

ประเด็นสำคัญ: ราคาของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในระดับเดียวกันหรือถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ในกว่า 30 ประเทศ และจะยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างถ่านหิน (ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับมลพิษในอากาศ แหล่งน้ำปนเปื้อน ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และความเสี่ยงในทรัพย์สินพื้นฐาน)