ความเชื่อนี้มีสาเหตุหลักมาจากการที่ประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในปริมาณมาก (เดนมาร์กและเยอรมนี) มีค่าไฟฟ้าสูงกว่าประเทศที่ยังไม่นิยมใช้พลังงานหมุนเวียนหรือมีการใช้นิวเคลียร์ในปริมาณมาก (ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ สวีเดน)

หากจะกล่าวโดยง่ายคือยอดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคนั้นไม่สามารถนำมาเทียบกับประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าแปรผันไปตามค่าบริการและขอบเขตปัจจัยที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ค่าใช้จ่ายเครือข่าย ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อัตราภาษีสรรพสามิตหรือระดับการเก็บภาษี ฯลฯ จึงไม่ควรสับสนระหว่างยอดค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้ากับราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นคนละสิ่งกัน

ตัวอย่างเช่น:

  • ประเทศเดนมาร์กมีอัตราค่าไฟฟ้าสูงเพราะมีการจัดเก็บภาษีการใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก โดยกว่าสองในสามของค่าไฟฟ้าในเดนมาร์กนั้นเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโดยรวม และภาษีเงินทุน ซึ่งเงินส่วนนี้จะเข้าสู่งบประมาณของรัฐบาล หากไม่นับค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว ราคาไฟฟ้าของเดนมาร์กก็ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆในยุโรปมากนัก
  • ในเยอรมนี เกือบครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าในครัวเรือนคือภาษี โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวะล้มเหลวของอัตราค่าไฟฟ้าในเยอรมนีได้ที่นี่ จริงอยู่ที่ว่าประชาชนในเยอรมนีต้องจ่ายเงินสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนซึ่งส่งผลให้ราคาไฟฟ้าปลีกเพิ่มสูงขึ้น แต่หากพิจารณาผลลัพธ์ที่ได้จากนโยบายพลังงานหมุนเวียน (นโยบาย the Energiewende) ต่อค่าไฟฟ้าในเยอรมนีและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศให้ดี พบว่ามีสองประการสำคัญดังนี้
    1. เยอรมนีเป็นประเทศแรกในโลกที่หันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในเวลานั้น พลังงานหมุนเวียนมีราคาสูงกว่าในปัจจุบันอย่างมาก เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนของเยอรมนีในขณะนั้นสูงกว่าที่ควรจะเป็นในการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง เยอรมนีจึงทำให้โลกทั้งโลกสามารถเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนได้ในราคาที่ต่ำกว่า
    2. ผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นส่วนมากเป็นผู้อยู่อาศัยในครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากอุตสากรรมใหญ่ๆได้รับการยกเว้นในการเก็บภาษีเพิ่มเติม หากมีการจัดสรรปันส่วนค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นได้ ค่าไฟฟ้าในครัวเรือนจะลดลงจากที่เป็นอยู่

พลังงานนิวเคลียร์เองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเช่นกัน โดยแม้ว่าฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้นิวเคลียร์สูงที่สุดในยุโรป (มากกว่าร้อยละ 75) ทว่าราคาขายส่งไฟฟ้านั้นกลับใกล้เคียงกับอังกฤษ เบลเยียม และโปรตุเกส และสูงกว่าเยอรมนีเสียด้วยซ้ำ ซึ่งการที่ราคาไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคในประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็นนั้นเป็นเพราะมีการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบ (Court of Auditors) ในฝรั่งเศสยังกล่าวว่าค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เอง ผู้บริโภคจึงไม่ได้ทราบค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการใช้นิวเคลียร์

ส่วนในสโลวาเกียและฮังการีที่มีสัดส่วนการใช้นิวเคลียร์กว่าร้อยละ 50 ก็ไม่ได้มีราคาขายส่งไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดเช่นเดียวกัน

การให้ความสนใจไปที่ตลาดซื้อขายส่งไฟฟ้า

แทนที่จะพิจารณาจากยอดค่าไฟฟ้าของผู้บริโภค การหันมาให้ความสนใจกับผลกระทบของพลังงานหมุนเวียนต่อราคาในตลาดซื้อขายส่งไฟฟ้านั้นดูจะสมเหตุสมผลมากกว่า  ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตลาดอย่าง Moody’s และอื่นๆ ชี้ว่าพลังงานหมุนเวียนทำให้ราคาในยุโรปเหล่านี้อยู่ในอัตราที่ต่ำตลอดเวลา รวมถึงในเยอรมนี (ดูที่ figure 9.4, p 85) โดยในประเทศเยอรมนีเอง ราคาขายส่งและค่าภาษีเพิ่มเติมของพลังงานหมุนเวียนก็ลดลงในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

หากพิจารณาแค่จาก “ค่าใช้จ่าย” ของนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน อาจทำให้เรามองไม่เห็นถึงผลประโยชน์มากมายที่จะได้รับจากการมีแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลดีต่อระบบสายส่งไฟฟ้าและสังคมโดยรวมทั้งหมด อาทิ:

  • งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่ลดลง แต่ยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ ช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคส่วนพลังงานหมุนเวียน และช่วยกดราคาซื้อขายส่งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย โดยในปี 2556 แค่เพียงการลดมลพิษในอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ช่วยประหยัดไปได้ถึง 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว

ประเด็นสำคัญ: Moody’s กล่าวว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นช่วยทำให้ราคาซื้อขายส่งไฟฟ้าในยุโรปลดลง โดยความผันแปรของราคาเหล่านี้เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีและการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน