ชนพื้นเมืองยาโนมามิมีพื้นที่ที่เป็นอาณาเขตของชนพื้นเมืองใหญ่ที่สุดในบราซิล  พื้นที่แห่งนี้มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่มากกว่าสองหมื่นคน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศบราซิลติดกับเขตแดนประเทศเวเนซูเอลา อย่างไรก็ตามนอกจากชนพื้นเมืองแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังมีกลุ่มคนที่อยู่อาศัยอีกกว่าสองหมื่นคนซึ่งเป็นกลุ่มคนทำเหมืองผิดกฎหมาย ก่อสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ทำลายผืนป่าและกำลังคุกคามกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน การระเบิดเหมืองในภูมิภาคนี้ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมซึ่งกลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก

ปัจจุบันการทำเหมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ของชนพื้นเมืองไม่เพียงแค่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในระดับร้ายแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวอีกด้วย การใช้สารปรอทในการทำเหมืองทำให้ไร่สวนของเกษตรกรชนพื้นเมืองเกิดการปนเปื้อน ซึ่งไร่สวนเหล่านี้ พวกเขาปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังมีปรอทปนเปื้อนในน้ำที่มีปลาซึ่งชนพื้นเมืองจับเพื่อกินอีกด้วย นอกจากนี้สารปรอทยังปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ และการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงหรืออาจเสียชีวิตได้

Illegal Road and Machinery in the Yanomami Indigenous Land in the Amazon. © Valentina Ricardo
ภาพการทำเหมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ของชนพื้นเมืองยาโนมามิ ตั้งอยู่ในผืนป่าแอมะซอน © Valentina Ricardo

นอกจากนั้น การเข้ามายังพื้นที่ชนพื้นเมืองของกลุ่มคนงานเหมืองยังทำให้ชนพื้นเมืองได้รับเชื้อโรคจากนอกพื้นที่และล้มป่วยลง เกิดไข้มาลาเรียระบาดและภาวะทุพโภชนาการเนื่องจากคนในพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชและหาอาหารได้ตามวิถีดั้งเดิมอย่างที่เคยเป็น และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังเป็นอีกภัยคุกคามร้ายแรงต่อชีวิตผู้คนในเขตดินแดนของชนพื้นเมืองยาโนมามิ โดยเฉพาะกับชีวิตเด็ก ๆ โดยมีเด็กจำนวนถึง 11,530 คนที่ได้รับการยืนยันว่าป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ซึ่งจำนวนนี้เป็นเพียงการบันทึกในปี 2565 เพียงปีเดียวเท่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขตแดนและชีวิตของชนพื้นเมืองยาโนมามินั้นอุกอาจร้ายแรง แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจกว่านั้นคือการทำเหมืองผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นข้อขัดแย้งกับชาวยาโนมามิมาตั้งแต่ยุค 70 และด้วยนโยบายที่สนับสนุนการทำเหมือง รวมทั้งท่าทีของอดีตรัฐบาลโบลโซนาโรก็ทำให้ยิ่งเกิดการขยายพื้นที่การทำเหมือง ส่งผลให้เกิดการทำลายล้างเป็นวงกว้างขึ้น เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์กร ฮูทูคารา ยาโนมามิ (Hutukara Yanomami) ที่ระบุว่าตั้งแต่ช่วงปี 2562 – 2564 เกิดเหมืองผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นในพื้นที่ของชนพื้นเมืองมากถึง 1,963% เมื่อเทียบกับสิบปีก่อนหน้า ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ทิ้งร่อยรอยการทำลายล้างและร่องรอยการสูญเสียชีวิตเอาไว้

ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นเส้นทางถนนที่สร้างอย่างผิดกฎหมายเข้าไปยังดินแดนของชนพื้นเมืองยาโนมามิในบราซิล ถนนดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งเสบียงและอุปกรณ์ไปยังเหมืองทองและสนับสนุนแรงงานในเหมือง © Greenpeace

เมื่อธันวาคม 2564 กรีนพีซบินเพื่อสำรวจพื้นที่และพบการต่อขยายเส้นทางขนส่งอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ของชนพื้นเมืองยาโนมามิเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ การขนส่งเสบียงให้กับแรงงานในเหมืองต้องใช้เครื่องบินเท่านั้น ดังนั้นเส้นทางขนส่งดังกล่าวจะทำให้การทำลายพื้นที่ของชนพื้นเมืองง่ายขึ้น เพราะต้องเปิดพื้นที่ให้กับการขนส่งเครื่องจักรทำลายล้างขนาดใหญ่เคลื่อนไปยังเหมือง

ไม่นานมานี้ หลังจากบราซิลได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดใหม่ที่กลายเป็นความหวังของชนพื้นเมืองท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการคุกคามชีวิตของพวกเขา รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาส่งสัญญาณว่าพวกเขามุ่งมั่นที่จะแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้ายซึ่งเป็นมรดกที่รัฐบาลชุดก่อนได้ทิ้งเอาไว้ การตั้งกระทรวงชนพื้นเมืองและการตั้ง โซเนีย กวาจาจารา ผู้นำชนพื้นเมือง ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์และแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาของ โซเนีย กวาจาจารา จะเป็นการเก็บกวาด ‘ความวุ่นวาย’ ที่รัฐบาลชุดเก่าได้ก่อเอาไว้ รวมทั้งยังส่งสัญญาณว่ารัฐบาลชุดนี้เคารพสิทธิชนพื้นเมืองและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนในบราซิล

Protest Against Illegal Mining in Indigenous Lands in Brazil. © Tuane Fernandes / Greenpeace
ภาพผู้นำนักกิจกรรมชนพื้นเมืองที่รวมตัวประท้วงใน Brasília ประเทศบราซิล เพื่อคัดค้านการทำเหมืองผิดกฎหมายในเขตแดนของชนพื้นเมือง ระหว่างการจัดกิจกรรม Free Land Camp ในปี 2564 © Tuane Fernandes / Greenpeace

นอกจากการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดยรัฐบาลเพื่อเริ่มแก้ไขปัญหาในวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดกับชนพื้นเมืองยาโนมามิ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มแก้กันในเชิงโครงสร้างเพื่อนำแรงงานเหมืองผิดกฎหมายกว่า 20,000 คนที่เข้าไปยึดครองพื้นที่ของชนพื้นเมืองยาโนมามิ ให้ออกไปจากพื้นที่ของชนพื้นเมือง รวมทั้งต้องป้องกันดินแดนไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ ดังนั้นจึงมีเพียงการออกแบบนโยบายร่วมกันเพื่อปกป้องพื้นที่เท่านั้นที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าและสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนกว่า ที่สำคัญคือนโยบายเหล่านี้จะต้องการันตีว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบราซิลที่อาศัยอยู่ในป่าแอมะซอนกว่า 28 ล้านคนจะได้รับการปกป้อง