“กะเบอะดิน” หมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์ 

กะเบอะดิน คือชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงต่อสู้กับการเข้ามาของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยตั้งแต่ปี 2543 เพื่อปกป้องหุบเขาแผ่นดินเกิดและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ หากโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินเกิดขึ้น แน่นอนว่าพื้นที่เหมืองถ่านหินแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแห่งที่บ่งชี้ว่าการปลดระวางถ่านหินของประเทศไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มีอยู่จริง แต่การฟอกเขียวของรัฐบาลและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงลอยนวล การทำเหมืองถ่านหินเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมพลังงาน จะก่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดทอนความมั่งคั่งทางทรัพยากรและเศรษฐกิจของชุมชนที่พึ่งพาการมีอยู่ของระบบนิเวศที่หลากหลายของชนพื้นเมืองกะเบอะดิน

ภัยทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีการประเมินในรายงานEIA

การสะสมมลพิษจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจะส่งผลโดยตรงต่อชุมชนกะเบอะดินทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและวิถีของชนพื้นเมือง 

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
4 เมษายน 2565 ชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เดินทางไปยังศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ เพื่อยื่นฟ้องให้มีการเพิกถอน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

การพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักในการดำรงชีวิตทั้งการป่าจิตวิญญาณ พืชพันธุ์ทั้งอาหารและยา การทำเกษตรกรรมและการใช้สายน้ำรอบชุมชนในวงจรการผลิตอาหารที่ไม่ใช่เพียงการบริโภคในชุมชนเท่านั้น แต่ผลผลิตเหล่านี้ได้ส่งกระจายไปยังชุมชนนอกพื้นที่และข้ามจังหวัดเช่นกัน การคุกคามจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจึงเป็นความท้าทายของความอยู่รอดของชุมชนกะเบอะดินและห่วงโซ่ที่พึ่งพาต้นกำเนิดทรัพยากรจากชุมชนแห่งนี้ 

กรีนพีซ ประเทศไทยและมหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดทำการสำรวจภาคสนามและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินสภาพตามธรรมชาติ (Baseline Condition) เช่น คุณภาพดิน น้ำ ปลา และพืชเศรษฐกิจ เช่น มะเขือเทศ ก่อนการปนเปื้อนจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ผลการศึกษาพบว่าดินในพื้นที่เกษตรกรรมตามสภาพธรรมชาติของกะเบอะดินเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชอาหารปลอดภัยโดยมีค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 6.00±1.1 ซึ่งอยู่ในช่วงความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมะเขือเทศ

การวิเคราะห์โลหะและกึ่งโลหะพิษในตัวอย่างมะเขือเทศที่ปลูกที่กะเบอะดินก่อนกิจการโครงการเหมืองถ่านหินนั้นยืนยันว่าปลอดภัยในการใช้เป็นอาหารตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ WHO/FAO ในทำนองเดียวกัน ก่อนการประกอบกิจการโครงการเหมืองถ่านหิน คุณภาพน้ำผิวดินจากลำห้วยผาขาวและห้วยอ่างขางก็เป็นปกติเหมาะแก่การใช้เพาะปลูก ปลาที่จับได้จากห้วยผาขาวมีการปนเปื้อนสารหนูในเนื้อเท่ากับ 0.14±0.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก. ต่อ กก.) (ผ่านค่ามาตรฐานความปลอดภัยในอาหารของประเทศไทยคือ 2 มก. ต่อ กก.ในขณะที่ปนเปื้อนปรอทเท่ากับ 0.023±0.011 มก. ต่อ กก. (ผ่านค่าความเข้มข้นปรอทในเนื้อปลาที่ยอมรับได้คือ 0.3 มก. ต่อ กก.) 

นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบจำลองอากาศ AERMOD เพื่อจำลองการปลดปล่อย การฟุ้งกระจาย และการตกสะสมของมลพิษอากาศเพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษอากาศจากกิจกรรมของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อ PM10 และ PM2.5 จากกิจกรรมโครงการเหมืองถ่านหินและขนถ่ายถ่านหิน ความเสี่ยงต่อการตกสะสมของปรอท (Hg) สู่แหล่งน้ำ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) สู่พื้นที่เกษตรกรรมที่ทำให้ดินเปรี้ยวสูญเสียแร่ธาตุสำคัญต่อพื้นที่ และการตกสะสมของโลหะและกึ่งโลหะพิษ 

ผลการจำลองชี้ว่าหากมีการตั้งเหมืองถ่านหินในแถบหมู่บ้านกะเบอะดิน จะเกิดการฟุ้งกระจายของ PM2.5 และ PM10 ในบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในระดับรุนแรง (เกินค่ามาตรฐานคุณภาพบรรยากาศหลายเท่าตัว) โดยแบบจำลองระบุจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศไม่ดีเนื่องจาก PM2.5 และ PM10 ว่าสูงถึงกว่า 200 วันใน 1 ปี โดยผู้ที่ปฏิบัติงานบริเวณโครงการเหมืองถ่านหิน และ ชุมชนที่ใช้พื้นที่เกษตรกรรมรอบโครงการเหมืองถ่านหินเป็นผู้ได้รับความเสี่ยงนี้ ในขณะที่ ผลกระทบจากไนโตรเจนไดออกไซด์ NO2 ที่เกิดจากการตกสะสมของกรดสู่พื้นที่เกษตรกรรมจะอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย (มากกว่า 7.4 กรัม ต่อ ตรม. ต่อ ปี) โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนโดยรอบที่ได้รับผลกระทบกว่า 5,940,000 ตารางเมตร

ส่วนการตกสะสมของฝุ่นพาให้โลหะและกึ่งโลหะพิษ เช่น สารหนู (As) และ ตะกั่ว (Pb) ตกสะสมในดินจนเกิดการถ่ายเทสู่พืชอาหาร เช่น มะเขือเทศ จนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้ของ WHO/FAO ภายในเวลา 25 ปี โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 74,000 ตารางเมตร กระทบการประกอบอาชีพของชุมชนกะเบอะดิน 

และท้ายที่สุดการตกสะสมของปรอทสู่แหล่งน้ำหลักของชุมชนอมก๋อยอย่างห้วยผาขาวและห้วยอ่างขางทำให้มีความเสี่ยงที่ปรอทสะสมในปลาเกินค่าที่ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก หากเด็กหรือหญิงตั้งครรภ์บริโภคปลาปนเปื้อนปรอท

เกษตรกรชมชนกำลังเก็บเกี่ยวมะเขือเทศจากไร่เพื่อนำไปขายยังตลาดตัวเมืองในเชียงใหม่

ข้อมูลภัยทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเหล่านี้ คือความจริงที่ไม่มีปรากฎอยู่ในรายงาน EIA โครงการฯ ดังกล่าวแม้แต่บรรทัดเดียว แต่กำลังจะเป็นบรรทัดฐานครั้งสำคัญของการต่อสู้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่จะตัดสินชะตาชีวิตของชนพื้นเมืองกะเบอะดิน คดีประวัติศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมอีกคดีที่จะต้องร่วมกันยุติการก่อให้เกิดการลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

ชนพื้นเมืองและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จะเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ร่วมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน และในขณะเดียวกันวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อชนพื้นเมืองทั่วโลกราว 370 ล้านคนจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก ชนพื้นเมืองผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุดแต่ต้องรับความเสี่ยงสูงสุด

ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากภัยแล้ง น้ำท่วม พายุถล่ม คลื่นความร้อนและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพลังงานฟอสซิล

หากธรรมชาติคือชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาพภูมิอากาศสุดขั้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการเจริญเติบโตของพืชในป่า พันธุ์ปลาในทะเล หรือแม้กระทั่งการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์หลายอย่าง หายนะจากความถี่ของภัยพิบัติ การเพิ่มขึ้นของเชื้อโรคและการระบาด และการดำรงชีวิตที่มีรากเหง้าจากประเพณี วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมย่อมก่อให้เกิดการล่มสลายขององค์ความรู้อันเป็นฐานรากของชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและคุณค่าทางจิตวิญญาณ และรวมถึงเศรษฐกิจของชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แวดล้อมในพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ความเปราะบางของการดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเหล่านี้อาจนำมาสู่สถานะใหม่ที่เรียกว่า “ผู้ลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อม”เพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องย้ายออกจากชุมชนดั้งเดิมและแสวงหาทางรอดใหม่

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ติดตามการต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดินได้ที่ เฟซบุ๊กเพจกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหิน