แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลฮอเรนกา ยูเครน © Oleksandr Popenko / Greenpeace

ระเบิดเริ่มต้นขึ้นที่เมืองฮอเรนกาของยูเครนในตอนเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของสงครามที่กองทัพรัสเซียเริ่มการรุกราน แต่สัญญาณเตือนภัยทางอากาศกลับไม่ทำงานทำให้ชาวบ้านต้องหลบอยู่ในชั้นใต้ดินในบ้านตนเองไปเรื่อย ๆ หลายวัน ที่เมืองโฮสโมเทลที่อยู่ไม่ไกลออกไป มีการโจมตีสนามบินของกองทัพและทหารรัสเซียเข้ามาใกล้หมู่บ้านอย่างมาก กองกำลังผู้รุกรานไม่สามารถเข้ายึดครองฮอเรนกาได้ อย่างไรก็ตามมีชาวเมืองเสียชีวิตกว่าร้อยคนจากการโจมตีของทหารและผู้คนอีกหลายพันคนต้องหนีออกจากบ้าน

แพทย์ท้องถิ่น โอเลน่า โอปานาเซนโก้กล่าวว่าโรงพยาบาลฮอเรนกายังคงทำงานเต็มรูปแบบแม้ว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นข้างนอกก็ตาม “ฉันและแพทย์คนอื่น ๆ อยู่ที่โรงพยาบาล เรายังคงฉีดวัคซีนและรักษาผู้คน” เธอกล่าว “มันคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ปีก่อน ตอนนั้นไฟฟ้าของโรงพยาบาลดับ และดับนานจนถึงเดือนพฤษภาคม” แรงระเบิดของรัสเซียตกลงที่ด้านนอกคลินิกทำให้หน้าต่างหลุดออกไปและด้านหน้าของตึกเสียหาย การขาดไฟฟ้าในช่วงที่อากาศหนาวทำให้ระบบทำความร้อนของโรงพยาบาลล้มเหลวไปด้วย ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลในช่วงฤดูหนาวยากขึ้นไปอีก

คุณหมอโอเลน่า โอปานาเซนโก้แห่งโรงพยาบาลฮอเรนกา © Oleksandr Popenko / Greenpeace

อากาศหนาวทำลายระบบทำความร้อน พนักงานคลินิกต้องลงมือถอดชิ้นส่วนของระบบทำความร้อน เพื่อให้บางส่วนของระบบยังคงใช้งานต่อไปได้ แต่เมื่อฤดูหนาวมาเยือนจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบทำความร้อนใหม่ กรีนพีซยุโรปกลางและตะวันออก (Greenpeace CEE)  Ecoaction, Ecoclub และมูลนิธิ Victory of Ukraine จึงริเริ่มโครงการติดตั้งปั๊มความร้อนระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงพยาบาลซึ่งจะเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ 

ปัจจุบันโรงพยาบาลมีระบบทำความร้อนแบบใหม่ แพทย์สามารถกลับมาใช้อาคารหลังนี้เพื่อนัดหมายผู้ป่วยได้แม้ในวันที่ไฟดับเนื่องจากพวกเขามีแผงโซลาร์เซลล์

กรีนพีซยุโรปกลางและตะวันออกเชื่อว่าโรงพยาบาลฮอเรนกาคือตัวอย่างของการสร้างยูเครนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ “เมื่อเราต้องมองภาพระยะยาว เราต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่ที่ไม่เพียงจะประหยัดเงินแต่ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราไม่ต้องการให้เงินช่วยเหลือจากพันธมิตรระหว่างประเทศต่าง ๆ ถูกนำไปใช้ในการลงทุนเทคโนโลยีที่เก่า ไม่มีประสิทธิภาพและยังคงทำให้ประเทศต้องพึ่งพาพลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์มากต่อไป” Denys Tsutsaiev นักรณรงค์จากกรีนพีซยุโรปกลางและตะวันออกกล่าว

โครงการนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจะประหยัดเงินได้มากแค่ไหนหากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ได้รับความเสียหายถูกฟื้นฟูตามมาตรฐานความยั่งยืน จากการประเมินขั้นต้น โรงพยาบาลฮอเรนกาจะลดต้นทุนค่าทำความร้อนได้ถึง 80% และระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบไฮบริดจะสามารถครอบคลุมความต้องการใช้พลังงานได้ถึง 60% ต่อปี

โครงการนี้ที่โรงพยาบาลฮอเรนกายังทำให้เราได้ทดลองและสำรวจวิธีที่เราจะมีโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ แบบเดียวกัน วิธีแก้ปัญหาที่ใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพที่สุดคือปั๊มความร้อน เชื่อมกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบไฮบริด ซึ่งเป็นวิธีทำความร้อนในอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด  ในโครงการเครื่องมือตรวจวัดถูกติดตั้งไว้ในหลุมลึก 65 เมตรเพื่อให้ปั๊มนำพลังงานความร้อนจากพื้นพิภพขึ้นมาให้ความอบอุ่นแก่โรงพยาบาลได้

การติดตั้งระบบปั๊มความร้อนที่ฮอเรนกา © Oleksandr Popenko / Greenpeace

เพื่อให้มั่นใจว่าปั๊มจะทำงานได้แม้ช่วงที่ไฟฟ้าดับ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบไฮบริดได้ถูกติดตั้งที่หอผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจะเก็บระบบก๊าซแบบเดิมไว้เพื่อสำรอง อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป การติดตั้งแผงโซลาร์ผลิตพลังงานสามารถขยายเพื่อทดแทนไฟฟ้าจากสายส่งได้ถึง 100% ทำให้โรงพยาบาลพึ่งพาตัวเองได้ทางพลังงาน เราและองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ยูเครนเชื่อว่าเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออนาคตซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการของชุมชน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประหยัดเงินอีกด้วย

การติดตั้งแผงโซลาร์ © Oleksandr Popenko / Greenpeace

ค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างระบบทำความร้อนใหม่ที่ฮอเรนกาคือประมาณ 2,000,000 บาทซึ่งจะคืนทุนภายใน 6-7 ปีด้วยการประหยัดพลังงาน

Serhiy Regeda ผู้อำนวยการองค์กรท้องถิ่น Victory of Ukraine เสียดายที่มีเงินไม่มากพอสำหรับการบูรณะโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายในหมู่บ้าน

“ความต้องการของเราคือการหาพันธมิตรจากเมืองต่าง ๆ ในยุโรปที่พร้อมที่จะช่วยชุมชนท้องถิ่นของยูเครนเพื่อการก่อสร้างและฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราได้เตรียมการคำนวนอย่างละเอียดเพื่อช่วยดำเนินการโครงการที่คล้ายกันให้เร็วขึ้น และเราพร้อมที่จะช่วยเหลือหน่วยงานท้องถิ่นออกแบบโครงการที่ยั่งยืน” Denys Tsutsaiev เสริม

โรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่ฮอเรนกาคือหนึ่งในโรงพยาบาลนับพันที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม หลังจากที่เมืองต่าง ๆ เป็นอิสระแล้ว ชาวยูเครนจำนวนมากกลับบ้านและเริ่มซ่อมแซมสิ่งที่ถูกทำลาย ผู้คนต่างสร้างบ้าน โรงงาน โรงพยาบาล และสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ หลักการสำคัญในการสร้างควรจะเป็น “สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าสร้างอะไรล้าหลังแบบเดิม ๆ เหมือนสมัยสหภาพโซเวียต การสร้างที่ยั่งยืนของโรงพยาบาลฮอเรนกาแสดงให้เห็นว่าการบูรณะที่ยั่งยืนเป็นจริงได้แม้ในช่วงสงคราม โครงการนี้และโครงการคล้ายกันที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการลงทุนแห่งอนาคตของสหภาพยุโรปที่ต้องเลือกพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางออก