Activist Preparations on Arctic Sunrise. © Chris J Ratcliffe / Greenpeace
เยบ ซาโน ในบทบาทนักกิจกรรมกรีนพีซ กำลังเตรียมตัวก่อนกิจกรรมปีนเรือขุดเจาะน้ำมันของเชลล์เพื่อเผชิญหน้าอย่างสันติ พร้อมข้อเรียกร้อง ‘หยุดการขุดเจาะ ต้องชดเชยค่าความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ © Chris J Ratcliffe / Greenpeace

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 ผมกำลังกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP19 ในบทบาทของตัวแทนนักเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศจากฟิลิปปินส์ โดยยังไม่ทราบชะตากรรมของพี่ชายตัวเอง เพราะก่อนหน้าสุนทรพจน์ครั้งนั้นแค่สามวัน บ้านเกิดของผม (เมืองตักโลบัน) และฟิลิปปินส์ถูกซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดเข้าถล่ม หลังจากพายุพัดผ่านที่นั่นราบเป็นหน้ากลอง มีผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พี่ชายของผม

ผมได้รับข่าวหลังจากกล่าวสุนทรพจน์จบว่า พี่ชายรอดชีวิต

แม้ว่าครอบครัวของเราจะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ครอบครัวและเพื่อนสนิทของพี่ชายผม เสียชีวิตทั้งหมด หลังจากเหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งนั้น พี่ชายของผมต้องไปร่วมงานศพและเป็นหนึ่งในคนแบกโลงศพ เขายังจำได้ดีว่าเขาแบกโลงศพในงานศพทั้งหมด 78 โลง

เหตุการณ์ครั้งนั้น เพียงแค่ไต้ฝุ่น 1 ลูกก็คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 6,000 คนแล้ว แต่ปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับไต้ฝุ่นทุก ๆ ปี หากคุณได้มีโอกาสมาเยี่ยมสุสานในฟิลิปปินส์ คุณจะเห็นได้ว่าป้ายหลุมฝังศพหลายป้ายมีชื่อถูกจารึกไว้ราว 10 ชื่อหรือมากกว่านั้น

ก่อนหน้านี้ ผมเข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP27 เพื่อยืนหยัดการต่อสู้ของผมอีกครั้งผ่านการประชุมที่แต่ละประเทศทั่วโลกจะต้องประกาศความรับผิดชอบในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ครั้งนี้ผมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศและอุตสาหกรรมร่ำรวยที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลักจะต้องจ่ายเงินเพื่อชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายจากทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบและโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ในฟิลิปปินส์ วิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงเร็วเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงเป็นเหมือนหายนะ เกิดบ่อยขึ้นเพราะอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้น แน่นอนว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะทำลายชีวิตประชาชนมากขึ้นไปด้วย

COP27 ICJAO Press Conference in Sharm el Sheik.
เยบ ซาโน ในบทบาทผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการแถลงข่าวที่การประชุม COP27

ท่ามกลางความคาดหวังจากประชาชนและเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิและสิ่งแวดล้อม ที่สุดแล้วการประชุม COP27 ก็มีมติในการจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage fund) เพื่อชดเชยให้กับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่คำถามต่อมาก็คือ แล้วใครจะเป็นคนจ่าย ?

นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลังจากการประชุม COP27 ผมจึงมาอยู่บนเรือที่แล่นอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ทางเหนือของหมู่เกาะแคนารีส์ ติดตามเรือขุดเจาะน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่ (บรรทุกน้ำมันได้ถึง 34,000 ตัน) เชลล์มีแผนจะใช้เรือขุดเจาะนี้เปิดแหล่งน้ำมันอีก 8 พื้นที่ทางทะเลเหนือ รวมทั้งมีแผนจะแสวงหาแหล่งน้ำมันใหม่นอกเหนือจากนี้อีกด้วย

Greenpeace Activists Approach Shell Oil Platform. © Chris J Ratcliffe / Greenpeace
ภาพนักกิจกรรมกรีนพีซ เยบ ซาโน ถือธงที่มีข้อความ ‘Stop Drilling Start Paying’ ข้าง ๆ เรือขุดเจาะน้ำมัน โดยเชลล์ปล่อยมลพิษมากกว่าประเทศฟิลิปปินส์ทั้งประเทศปล่อยถึง 10 เท่า © Chris J Ratcliffe / Greenpeace

แม้ว่าสุดท้าย ผมจะไม่ได้ขึ้นไปยังเรือขุดเจาะลำนี้ แต่ก็ยังมีนักกิจกรรมกรีนพีซที่เหลือสามารถปีนขึ้นไปได้ และตอนนี้พวกเขากำลังประท้วงอย่างสันติเพื่อคัดค้านการทำลายสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้นโดยเชลล์ รวมทั้งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลบริษัทอื่น ๆ

ผมตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นเพราะผมเองก็มีครอบครัว วิกฤตสภาพภูมิอากาศคือภัยคุกคามต่อเราทุกคน แม้ว่าชีวิตของเด็กๆ จะขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นในการอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์คือ ที่นี่กำลังเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการทำลายล้างที่น่ากลัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งการทำลายล้างในรูปแบบนี้ผมเองก็เคยเจอมันมาก่อน

เมื่อต้องเจอกับตัวเองว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปมากเพียงใด ผมเองก็ไม่สามารถทำความเข้าใจว่าบริษัทอย่างเชลล์สามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองให้เป็นไปอย่างปกติได้อย่างไร การหลอกลวงของบริษัทถือเป็นหนึ่งในความไม่เป็นธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และการปฏิเสธว่าบริษัทตัวเองมีส่วนให้เกิดหายนะแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย

Climate Justice Activists on Shell Platform. © Greenpeace
ภาพนักกิจกรรมกรีนพีซกำลังวาดข้อความลงบนป้ายผ้าบริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ของเรือขุดเจาะน้ำมัน © Greenpeace

บริษัทเองรู้ดีเกี่ยวกับปัญหานี้ก่อนประชาชนอย่างเราด้วยซ้ำ แต่พวกเขาก็ยังจะแสวงหาผลกำไรและขโมยอนาคตที่ปลอดภัยจากพวกเราไป

เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่การดำเนินธุรกิจของเชลล์ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าฟิลิปปินส์ทั้งประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 10 เท่า

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศผลกำไรที่ทำได้ในปี 2565 มากเป็นประวัติการณ์ ราวสี่ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขที่มากกว่าเงินสำหรับจัดการภัยพิบัติและผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในปากีสถานถึงสองเท่า (ตัวเลขการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมในปากีสถานอยู่ที่ 1.6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ท้ายที่สุดแล้ว คำถามที่ยังไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างจริงจังนั่นคือ ‘ใคร’ ที่ควรจะต้องจ่ายค่าความเสียหายเหล่านี้

Climate Strike at COP27.
กลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

แม้ว่าเงินมหาศาลแค่ไหนก็ไม่สามารถทดแทนชีวิตที่สูญเสียไปได้ แต่บริษัทเหล่านี้ควรที่จะดำเนินธุรกิจของตัวเองต่อไป แสวงหาผลกำไรต่อไปผ่านการทำลายสภาพภูมิอากาศอย่างนั้นหรือ ? พวกเขาควรจะต้องรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจที่ทำลายโลกด้วยการจ่ายชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายหรือไม่ ? สำหรับผม ผมมีคำตอบที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า พวกเขาต้องจ่าย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนของเชลล์ ผมถามพวกเขาหนึ่งคำถามว่า คุณมีลูกไหม? แน่นอนว่าพวกเขาทุกคนตอบผมว่าเขามีครอบครัว มีลูก

ในฐานะผู้ปกครองของลูก ผมสงสัยว่าแล้วอะไรที่จะทำให้บริษัทของพวกเขาละทิ้งเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรับมือและต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยของผมและผมก็อยากให้บริษัทอธิบายว่าทำไมยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปโดยไม่คำนึงถึงวิกฤตนี้

การตอบว่าการดำเนินธุรกิจต่อไปเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอ เพราะหากวิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเราทุกคนอย่างรุนแรง อำนาจที่ได้มาก็ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และเงินมหาศาลแค่ไหนก็ไม่สามารถช่วยพวกเขาได้

Portraits of Activists onboard the Arctic Sunrise. © Chris J Ratcliffe / Greenpeace
Yภาพ เยบ ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากฟิลิปปินส์ ในบทบาทนักกิจกรรมกรีนพีซ ร่วมเดินทางมากับเรืออาร์กติก ซันไรส์ © Chris J Ratcliffe / Greenpeace

นักกิจกรรมของกรีนพีซขึ้นไปบนเรือขุดเจาะของเชลล์เพื่อคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันนั่นก็เพราะเรามองว่ามันคือสิ่งที่ต้องทำ เราต้องทำเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของคนรุ่นต่อไป ทั้งลูกหลานของเราและลูกหลานของคนในบริษัทน้ำมันด้วย นอกจากนี้เราทำเพื่อระลึกถึงทุกชีวิตในฟิลิปปินส์ที่ต้องสูญเสียไป และเราทำเพื่อผู้คนบนโลกนี้

ผมอยากจะบอกลูก ๆ ของผมว่าผมกำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของเรา และแม้ว่าผมจะเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานที่เจอกับการทำลายล้างของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ผมรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ผมยังมีความหวังต่ออนาคตที่ปลอดภัยและภูมิใจที่มีโอกาสเปิดโปงคำโกหกด้านสภาพภูมิอากาศจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

เพราะฟิลิปปินส์เคยถูกทำลายด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผมจึงมาที่นี่เพื่อส่งสาส์นให้กับผู้คนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง และกำลังทำร้ายพวกเรา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนโลกแต่วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อคุณแน่นอน

หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่ระบบ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และตั้งอยู่บนหลักความยุติธรรม ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหยุดศิโรราบต่อกลุ่มผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของประชาชน

ในทางปฏิบัติเอง เราต้องหยุดกลุ่มบริษัทเหล่านี้จากการแสวงหาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลและกดดันให้พวกเขาต้องจ่ายชดเชยค่าความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาก่อไว้ ทางที่เราจะรอดพ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจปัญหานี้ลึกซึ้งแค่ไหน และตอนนี้เราต้องกดดันกลุ่มบริษัทจากทั้งสองทาง

ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ กลุ่มบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่สามารถหาทางเบี่ยงเบนการแก้ปัญหา ชะลอการแก้ปัญหา หรือยับยั้งความพยายามของเราในภารกิจนี้ได้อีกต่อไป ตอนนี้พวกเรามีเพื่อนร่วมทางมากขึ้นและคนเหล่านี้ก็กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศและอนาคตที่ปลอดภัย

ด้วยความร่วมมือจากคนทั่วโลก เราจะไม่แพ้ เราจะร่วมกันกดดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้หยุดการขุดเจาะ และต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ


บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ Metro วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566

เยบ ซาโน ร่วมเป็นลูกเรือบนเรืออาร์กติก ซันไรส์ ของกรีนพีซสากล เขาร่วมกิจกรรมการเผชิญหน้าอย่างสันติ คัดค้านเชลล์ในภารกิจเดินทางไปขุดเจาะน้ำมันและก๊าซแหล่งใหญ่ ติดตามการรณรงค์อย่างสันติบนเรือขุดเจาะน้ำมันโดยนักกิจกรรมของกรีนพีซ สากล