“ทำไมช่วงนี้ค่าไฟแพงจัง จะทำงานที่บ้านหรือออกไปทำงานปกติค่าไฟก็ไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่”

นี่เป็นประโยคคำถามยอดฮิตที่เรียกได้ว่าหลายคนคงตั้งคำถามอย่างมากมาย เพราะในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ( Work from Home ) บางบริษัทยังคงให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม วันนี้เราจะพามาหาคำตอบว่าการใช้ไฟของเราเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนกับบิลค่าไฟที่ต้องจ่ายทุกเดือน

เรามีโอกาสได้คุยกับสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หนึ่งในผู้บริหารของสภาองค์กรผู้บริโภคที่กำลังเป็นหนึ่งผู้ขับเคลื่อนประเด็นพลังงานรวมถึงเรื่องราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ๆ จนทำให้หลายคนปวดหัวอยู่ในปัจจุบัน 


        หลายคนอาจได้ยินชื่อสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นครั้งแรก สภาองค์กรของผู้บริโภคคือใคร พวกเขาคือตัวแทนของผู้บริโภคอย่างเราจริงหรือ?

        สำหรับ สารี อ๋องสมหวัง ในอดีตเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยและทำงานเพื่อสังคมมายาวนานกว่า 30ปี สารีและเพื่อนร่วมขบวนการต้องการอยากเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ช่วงแรกของการทำงานเพื่อสังคมได้ร่วมทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไรทางด้านสุขภาพ และในที่สุดก็ผันตัวมาทำงานกับสภาองค์กรผู้บริโภค เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิขั้นพื้นฐานและรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค

        สภาองค์กรของผู้บริโภคคือหนึ่งในตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย

        สารี อ๋องสมหวัง ให้คำนิยามสำหรับการทำงานในฐานะเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรผู้บริโภคไว้ว่างานด้านคุ้มครองเพื่อบริโภคในสังคมไทย

        มีปัญหาดั้งเดิมมาอย่างยาวนานนั่นคือปัญหาความปลอดภัย และทางเลือกการบริโภคที่จำกัด สิทธิพื้นฐานและอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคนั้นถูกตัดขาดจากรัฐอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้าที่สารี อ๋องสมหวังจะเป็นผู้บริหารสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทำงานมานานกว่าสามสิบปี และต้องการผลักดันให้ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นส่วนนึงของขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

        สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม ที่สารีให้ความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องพลังงานและความเป็นธรรมราคาพลังงาน และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้พลังงานหมุนเวียน หมายถึงทุกคนรู้ที่มาของไฟฟ้าที่เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิต

        ภาพกิจกรรม Workshop การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ของอาสาสมัคร Solar Generation ของกรีนพีซ

        ทำไมเราต้องสนใจเรื่องพลังงานหรือทิศทางของพลังงานในประเทศไทย

        ประโยคที่บอกว่า “พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน” นี้ไม่ใช่ประโยคที่เกินจริงเพราะเราทุกคนจำเป็นต้องใช้พลังงาน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าพูดถึงพลังงานที่ใกล้ตัวที่สุดคงหนีไม่พ้นไฟฟ้าในครัวเรือนและอุตสาหกรรม

        ในประเทศไทยใช้ไฟฟ้าจาก 4 แหล่งสำคัญ คือ

        1.ผลิตเองในประเทศที่ควบคุมโดยกฟผ. 

        2.ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 

        3.ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP)  

        4.ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ (VSPPS) สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค และรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงจากการสำรองไฟที่หนักอึ้ง โดยไม่จำเป็น รวมไปถึงการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาด

        Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
        พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

        ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

        มีส่วนร่วม

        การวางแผนพลังงานที่ผิดพลาดและสัญญาโรงไฟฟ้าผูกขาดฉบับ Take or pay ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย

        โดยปกติแล้วการวางแผนพลังงานหรือทิศทางการใช้พลังงานของประเทศไทยจะถูกวางเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี เพื่อให้การใช้พลังงานเกิดประโยชน์สูงสุดและมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและส่งผลดีในระยะยาว แต่ประเทศที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างประเทศไทย มีการเปลี่ยนรัฐบาลรวมไปถึงการยึดอำนาจต่าง ๆ นั่นทำให้กลายเป็นว่าแผนพลังงานที่ถูกวางไว้จะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา 

        ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหรือการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นการซื้อไฟฟ้าที่ผลิตมาจาก พลังงานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติแทบทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงแล้ว รัฐควรสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า ในการวางแผนพลังงานนี้ ควรจะมีการบังคับหรือกำกับทิศทางการใช้แผนพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแผนการใช้พลังงาน ทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียนยังไปไม่ถึงไหนสักที

        Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
        กิจกรรม Climate Strike Thailand หรือเยาวชนร่วมพลังปกป้องสภาพภูมิอากาศ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับรัฐบาลเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งให้พันธะสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมายการกำจัดถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2568 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

        แม้ว่าวาระทางการเมืองของรัฐบาลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุก 4 ปี แต่การวางแผนพลังงานนั้นควรเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการนำแผนพลังงานเก่ามา ทบทวน หากมีข้อใดที่ควรปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำแต่กลายเป็นว่าทุกรัฐบาลใหม่มีการวางแผนใหม่แทบทุกครั้งและกลายเป็นว่าแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ทำให้ประเทศไทยยังคงต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดมลพิษอย่างมากมายมหาศาล

        หากดูข้อมูลย้อนหลังในตอนนี้ ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองมากเกินความจำเป็น จึงทำให้โรงไฟฟ้าเอกชนบางแห่งต้องหยุดการผลิตไปเนื่องจากมีไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็น แต่เจ้าของโรงไฟฟ้านั้นยังคงได้เงินจากผู้บริโภคอย่างเราไปเพราะตัวสัญญาTake or pay ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ที่รัฐทำกับโรงไฟฟ้าเอกชนทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปโดยปริยาย

        ทุนทหารผูกขาดพลังงาน มรดกรัฐประหารของ คสช.

        กลุ่มทุนทหารนั้นดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กำลังเร่งตั้งเป้าหมายการลงทุนเพื่อความมั่นคงของหน่วยงานมากขึ้น และอาจจะนำมาซึ่งการผูกขาดทางพลังงาน

        อ่านต่อ

        การผันผวนของเชื้อเพลิงทำให้ค่าไฟแพงขึ้นผ่านค่า FT จริงไหม?

        ในข้อนี้สารีให้ความเห็นว่าอาจจะจริงบ้างเพราะถ้าเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือถ่านหินที่เรานำเข้ามาผลิตไฟฟ้าที่จะมีส่วนผันแปรไปตามค่าเงินกับราคาในตลาดหุ้นแต่ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ต้องย้อนกลับไปที่นโยบายการผลิตไฟฟ้า การวางแผนและทิศทางของพลังงานในประเทศ รวมถึงกลไกในตลาดหุ้น สัญญาที่รัฐทำกับโรงไฟฟ้าเอกชน แม้จะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเพราะมีกำลังไฟฟ้าล้นเกินแต่โรงไฟฟ้าก็ยังคงได้เงินจากสัญญาที่ทำไว้กับรัฐ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งทำกำไรชั้นดีของนักลงทุน

        Solar Rooftop at Prapokklao Hospital in Thailand. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
        ภาพการเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี โดยการระดมทุนจากประชาชนเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลรัฐ และยังเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดจะเกิดขึ้นได้หากรัฐกระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเป็นธรรม © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

        “ความมั่นคงทางพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในปัจจุบันประเทศเรามีความมั่นคงทางพลังงานมากจนเกินพอ และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าราคาแพง ผ่านการสำรองไฟฟ้าล้นระบบเกือบ 50% โดยประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระเหล่านี้ 

        ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้านแผนพลังงานและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ โดยแผนเหล่านั้นควรเอื้อประโยชน์ต่อราคาพลังงานที่เป็นธรรมและผลักดันให้เกิดการการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”