ปัจจุบันโลกของเรายังนิยมใช้วิธี ‘รีไซเคิล’ เพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก แต่แม้ว่าจะมีความพยายามแยกขยะและนำไปรีไซเคิลให้มากที่สุด แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว การรีไซเคิลอาจยังไม่ใช่ทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะหลายประเทศยังคงรีไซเคิลพลาสติกได้น้อย เช่น ในปี 2564 สหรัฐอเมริกามีขยะพลาสติกทั้งหมด 40 ล้านตัน แต่มีขยะพลาสติกที่ถูกรีไซเคิลเพียง 2 ล้านตัน (คิดเป็น 5-6%) เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในทุก ๆ ปี โลกยังผลิตขยะพลาสติกอยู่เรื่อย ๆ ราว 400 ล้านตัน ซึ่งเยอะจนเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้เลย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นข่าวเกี่ยวกับการพบไมโครพลาสติกในอุจาระสัตว์ ในอุจจาระมนุษย์ หรือแม้กระทั่งพบไมโครพลาสติกในเลือดมนุษย์ ข่าวเหล่านี้สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการขยะพลาสติก และตอนนี้ปัญหานี้กำลังกลายเป็นภัยคุกคามของเราและสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

Plastic Trash at Bali's Kuta Beach. © Made Nagi / Greenpeace
ภาพนักท่องเที่ยวกำลังเดินอยู่บนชายหาดชื่อดังของบาลี หาด Kuta ซึ่งเต็มไปด้วยขยะพลาสติกในช่วงฤดูมรสุม โดยขยะพลาสติกมหาศาลกองบนชายหาดนี้กลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตาเนื่องจากการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ © Made Nagi / Greenpeace

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตามองและโลกจะต้องร่วมกันแก้ปัญหานั่นคือ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย แต่ความจริงคือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งกว่า 98% ที่ถูกผลิตขึ้นมา มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และการขยายตัวของการผลิตพลาสติก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพิ่มขึ้นมหาศาลจนอาจทำให้เราไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส

เพราะผลกระทบของพลาสติที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งส่งผลต่อเรารุนแรงมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า การลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจากต้นทางเป็นทางออก และการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแนวคิดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อความสะดวกสบายไปสู่แนวคิดการใช้ซ้ำ ที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังล้นโลกอยู่ในตอนนี้ แต่การจะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นทางนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้ระยะเวลา กลุ่มขับเคลื่อนการลดใช้พลาสติกระดับโลกจึงร่วมมือกันทำรายงาน A Just Transition to Reusable Packaging ที่ลงรายละเอียดการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ต้นทาง โดยระบุชัดเจนถึงแต่ละภาคส่วนว่าควรทำอย่างไรเพื่อจัดการปัญหาพลาสติกภายใต้แนวคิดลดใช้ตั้งแต่ต้นทาง พร้อมเสนอทางออกของการใช้ซ้ำเข้ามาแทนที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่รายงานระบุชัดเจนคือแต่ละภาคส่วนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างหากเราหันมาเลือกวิธีใช้ซ้ำแทนการใช้แล้วทิ้ง

การเปลี่ยนมาใช้แนวคิด ‘ใช้ซ้ำ’ ในภาคธุรกิจ

เมื่อภาคธุรกิจนำเอาวิธีการใช้ซ้ำมาปรับใช้ แน่นอนว่าสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ การทำแผนธุรกิจ (Business Model) ใหม่ซึ่งจะช่วยให้คำมั่นสัญญาในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจเกิดขึ้นจริง ความท้าทายของภาคธุรกิจนี้อยู่ที่จะต้องควบคุมต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและการมอบประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้าอีกด้วย โดยคู่มือ Just Transition แนะนำว่าหลักการในคู่มือนี้เหมาะสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมไปถึงกลุ่มร้านกาแฟ โรงแรม และร้านค้าปลีก เป็นต้น

นอกจากนี้การวิจัยในรายงานแนะนำอีกว่าการใช้ซ้ำยังอาจเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์กับการลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างเช่นกลุ่มธุรกิจ SMEs ในยุโรป หนึ่งในโอกาสของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้คือความสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบ ช่วยลดการผูกขาดอำนาจการผลิตและการขายจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ภาพร้าน Zero waste ในเกียวโต ญี่ปุ่น

แนวคิด ‘ใช้ซ้ำ’ สร้างอาชีพในภาคแรงงาน

แนวคิดการใช้ซ้ำ ทำให้เกิดการสร้างอาชีพที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจนเกิดการพัฒนาความรู้ความสามารถใหม่ ๆ ในด้านอาชีพและวิชาชีพแก่แรงงาน อย่างไรก็ตามอาจจะมีบางอาชีพที่จะหายไปในภาคการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง การนำคู่มือการเปลี่ยนผ่านสู่แนวคิดการใช้ซ้ำมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจะช่วยให้เราเห็นวิธีการและทางออกให้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้น

แนวคิด ‘ใช้ซ้ำ’ จะช่วยผู้บริโภคเปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง

แนวคิดการใช้ซ้ำจะให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคในด้านการช่วยลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่จะจูงใจให้เกิดการใช้ซ้ำในกลุ่มผู้บริโภคให้สำเร็จ ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงระบบการใช้ซ้ำ และความพร้อมในการเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตมาใช้ซ้ำ 

ดังนั้นธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กควรร่วมกันสร้างมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและระบบต่าง ๆ ในกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการใช้ซ้ำและสามารถเข้าถึงสินค้าที่หลากหลายมากที่สุด 

Plastic-Free Picnic in Hong Kong. © Patrick Cho / Greenpeace
ภาพกิจกรรม Plastic-Free Picnic ที่จัดขึ้นในฮ่องกง โดยชุมชนและผู้เข้าร่วมจะนำภาชนะใช้ซ้ำมาเพื่อซื้อขายอาหาร เครื่องดื่มและสินค้า จากร้านค้าแบบไร้พลาสติกเพื่อเป็นการนำเสนอทางเลือกในการลดใช้พลาสติก และเป็นการรวมกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจและอยากลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง © Patrick Cho / Greenpeace

‘การใช้ซ้ำ’ จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

ระบบการใช้ซ้ำเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายด้าน กล่าวได้ว่ายิ่งท้องถิ่นสามารถพัฒนาระบบการใช้ซ้ำได้มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ คนในชุมชนเองก็จะยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น โดยชุมชนจะได้รับประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันชุมชนในหลายประเทศต้องทนทุกข์จากผลกระทบของบ่อขยะ หรือมลพิษจากเตาเผาขยะ) เศรษฐกิจและสังคมด้วย เช่น โอกาสการจ้างงานในชุมชนเพิ่มมากขึ้น หรือโอกาสที่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้น แล้วเงินที่กระจายอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะกระจายอยู่ในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นได้นานขึ้น

ทุกกลุ่มต้องร่วมมือกันเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ซ้ำ เพื่อลดมลพิษพลาสติก

แน่นอนว่าเพียงแค่การรณรงค์จากนักกิจกรรม ชุมชน หรือองค์กรเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งเพียงไม่กี่กลุ่มนั้น ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับเชิงโครงสร้างได้ทันท่วงที ดังนั้นเราทำคู่มือ Just Transition นี้ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายอยากจะสื่อสารว่าแนวคิดการใช้ซ้ำสามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาในระดับนโยบายได้ และรายงานฉบับนี้ประกอบไปด้วย

  • การสนับสนุนกรอบนโยบายและการออกกฎหมาย เช่น ผสมผสานหลักการใช้ซ้ำและเป้าหมายลดพลาสติกให้สอดคล้องไปกับมาตรการ นโยบาย หรือกฎหมายการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  • การสนับสนุนผ่านนโยบายด้านเศรษฐกิจและการสร้างแรงจูงใจ เช่น การจัดหากองทุนสำหรับธุรกิจเพื่อปรับตัวให้เข้ากับหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) การจัดตั้งสมาคมธุรกิจที่นำเอาหลักการใช้ซ้ำไปปรับใช้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม การสนับสนุนหลักการจากคู่มือ Just Transition เพื่อสร้างการสนทนาในสังคมเกี่ยวกับหลักการในคู่มือและสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงในภาคส่วนแรงงานและภาคธุรกิจ หรือการนำหลักการไปปรับใช้  เป็นต้น
  • ความร่วมมือและการพูดคุยสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น การแชร์และการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ การร่วมศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาหลักการใช้ซ้ำให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และการร่วมกันของแต่ละภาคส่วน สร้างแคมเปญที่สร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจ

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงที่จะนำหลักการจากคู่มือ Just Transition มาใช้ ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมยังสามารถช่วยการันตีได้ว่าหลักการจากคู่มือนี้สามารถนำไปปรับใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนได้จริง โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้ในการสร้างอาชีพและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นไปได้หากเกิดการบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพและความตั้งใจที่จะลดมลพิษพลาสติกอย่างจริงใจปราศจากการฟอกเขียว หลักการใช้ซ้ำคือโอกาสสำคัญสำหรับร้านค้าและห้างค้าปลีก โรงแรม และร้านคาเฟ่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการจัดการมลพิษพลาสติกเพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มและเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค และเป็นการเปลี่ยนภาพจำที่ว่าการซื้อสินค้าแบบไร้บรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องลำบาก

Plastic Wave in Zagreb. © Nevio  Smajic / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายข้อความเพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนในภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนร่วมกันต่อสู้และแก้ปัญหาขยะพลาสติกมหาศาลที่อยู่ในทะเล โดยมีแบนเนอร์ Plastic Wave ด้านหลัง เป็นสัญลักษณ์คลื่นขยะพลาสติกที่พัดเข้าชายหาด โครเอเทีย © Nevio Smajic / Greenpeace

ปัจจุบัน กรีนพีซและอีกหลายเครือข่ายองค์กรเริ่มรณรงค์ให้รัฐและบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ต้องลดพลาสติกที่ต้นทาง แทนการผลักภาระมาให้ผู้บริโภคต้องคอยลดใช้และแยกขยะเองอย่างที่เคยทำ โดยนำเสนอหลักการ EPR หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) ซึ่งเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การกระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด