เรียกได้ว่าเป็นซีรีย์ที่สร้างความประทับใจให้กับทั้งคอเกมส์และคอซีรีย์ต่างประเทศ กับ The Last of US จากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง HBO ที่ผู้สร้างทำออกมาได้เคารพต้นฉบับเกมส์แบบสุด ๆ ทั้งยังเสริมเรื่องราวแบบ Side Story เข้าไปในซีรีย์ได้อย่างที่ควรจะเป็น หลังจากที่เราเริ่มดูซีรีย์ตอนแรก ก็พบสิ่งที่น่าสนใจในซีรีย์คือการขยายเหตุผลความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาดของเชื้อรากลุ่ม ‘คอร์ดีเซปส์’ (Cordyceps) โดยเฉพาะเชื้อราที่แพร่ระบาดในหมู่แมลงอย่างเช่น มด ซึ่งในสามนาทีของซีรีย์อธิบายว่าเชื้ออาจจะแพร่เข้ามาสู่มนุษย์ด้วยปัจจัยเรื่อง ‘ภาวะโลกร้อน’ ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริงก็คงเป็นสิ่งที่น่ากลัวพอ ๆ กับทั้งในเกมส์และซีรีย์เลยทีเดียว

the last of us series in HBO
ภาพประกอบซีรีย์ The Last of US จาก HBO / ภาพจากเว็บไซต์ HBO

แต่ช้าก่อน เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ หรือ? แนวคิดที่ว่าเมื่อโลกของเราร้อนขึ้นแล้วเราจะต้องพบเจอกับเชื้อโรคอุบัติใหม่มากขึ้น เป็นไปได้จริงหรือ? คำตอบก็คือแม้ว่าจะไม่ได้เกิดกับเชื้อราเหมือนในซีรีย์ แต่มีความเป็นไปได้จริงที่จะเกิดกับเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปัจจุบัน อุณหภูมิในภูมิภาคอาร์กติกกำลังสูงขึ้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กำลังค้นหาความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของเชื้อโรคร้ายแรงในภูมิภาคนั้น

ภาพมดที่ติดเชื้อรากลุ่มคอร์ดิเซปส์ (Cordyceps) © shunfa Teh

ธารน้ำแข็งลด เชื้อโรคผุด

ทวีปอาร์กติกเกี่ยวข้องกับประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะอาร์กติกอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อย 2 เท่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งธารน้ำแข็งละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ก๊าซมีเทนและคาร์บอนที่สะสมในชั้นดินเยือกแข็งถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และอีกผลกระทบนั่นคืออาร์กติกอาจเป็นพื้นที่ที่ปล่อยเชื้อโรคที่ถูกแช่แข็ง

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกรวมตัวที่เมืองฮันโนเฟอร์ เยอรมนี เพื่อร่วมลงพื้นที่วิจัย มีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสาขาภูมิอากาศวิทยา ธรณีวิทยา และไวรัสวิทยา โดยร่วมกันแชร์ประสบการณ์ด้านวิชาชีพเป็นครั้งแรก และยังพูดถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นหากจุลินทรีย์ถูกปลดปล่อยออกมาจากชั้นดินเยือกแข็งอีกด้วย

ดร.วลาดิเมียร์ โรมานอฟสกี้ ศาสตราจารย์สาขาธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยอลาสก้า แฟย์แบงค์ส และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชั้นเยือกแข็ง พูดถึงประเด็นนี้เป็นคนแรกว่า “ชั้นดินเยือกแข็งในหลายพื้นที่กำลังลดลงจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง” แม้ว่าชั้นดินเยือกแข็งจะยังคงตัวได้ตลอดปี แต่ว่าชั้นบนของดินเยือกแข็งกำลังหดตัวเป็นบริเวณกว้าง 

Climate Change Impact Austria - Glaciers. © Mitja  Kobal / Greenpeace
น้ำแข็งในธารน้ำแข็งอัลไพน์หายไปกว่าร้อยละ 50 ในระยะเวลาเพียงแค่ 100 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ © Mitja Kobal / Greenpeace

“เราสำรวจพื้นที่ทางตอนเหนือของอาร์กติกในแคนาดา ที่นั่นเป็นที่ที่อุณหภูมิของชั้นดินเยือกแข็งอยู่ที่ราวๆ -14 องศาเซลเซียส แต่ก็เริ่มระเหยจากชั้นบนแล้ว นั่นหมายความว่าจะมีส่วนที่เคยถูกน้ำแข็งแช่เอาไว้มาหลายพันปีจะไม่ถูกแช่ในน้ำแข็งอีกต่อไป”

ชั้นดินเยือกแข็งเหล่านี้ไม่ควรจะละลายออกไปทั้งหมดหรือละลายตลอดทั้งปี เพราะไม่อย่างนั้นจุลินทรีย์ที่ยังคงถูกแช่ไว้ตรงพื้นดินของโลก จะกลับมามีชีวิตหรือออกมาสู่ชั้นของพื้นดินที่ไม่ได้ถูกแช่แข็ง 

จีน มิเชล แคลเวอรี นักไวรัสวิทยาจาก มหาวิทยาลัย Aix-Marseille ได้นำเสนอข้อมูลต่อจาก ดร.โรมานอฟกี้ เขากล่าวโดยสรุปว่า มีรายงานที่วิจัยออกมาแล้วว่าแบคทีเรียที่อยู่ลึกลงไปในชั้นดินเยือกแข็งสามารถฟื้นคืนชีพได้

การวิจัยชิ้นหนึ่งของนาซ่าเมื่อปี 2548 เผยว่าได้ทดลองนำน้ำจากทะเลสาบของอลาสก้าที่ถูกแช่แข็งมากว่า 32,000 ปี หรือตั้งแต่ยุคที่โลกยังมีแมมมอธ มาละลายน้ำแข็ง ก็พบว่าแบคทีเรียที่อยู่ในนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง สองปีถัดมา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ลองละลายน้ำแข็งอายุ 8 ล้านปีอีกครั้งจากแอนตาร์กติกา แบคทีเรียก็กลับมามีชีวิตได้อีกเช่นกัน 

แต่แบคทีเรียไม่ใช่ผู้ร้ายทุกชนิดเสมอไป ตามปกติแล้วมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและร่างกายเรา เพียงแค่ยีนดื้อยาสามารถส่งต่อถึงกันได้ ไวรัสเองก็สามารถอยู่รอดภายใต้น้ำแข็งได้เช่นกัน จากที่นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองละลายน้ำแข็งอายุ 30,000 ปี และพบว่าไวรัสฟื้นกลับมาใหม่ได้ (แต่ไวรัสชนิดนั้นเป็นอันตรายต่ออมีบาเพียงเท่านั้น)

Climate Change Impact Austria - Glaciers. © Mitja  Kobal / Greenpeace
ธารน้ำแข็งในออสเตรียละลายเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อ 24 กันยายน 2563) © Mitja Kobal / Greenpeace

เชื้อโรคแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย

ในอดีต โรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แล้ว ว่าโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้นเป็นอย่างไร

ทั้งหมดที่เราสรุปมานี้ทำให้เราเห็นว่า โลกของไวรัสและแบคทีเรียเป็นเมือนอีกจักรวาลหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด (ยังไม่นับรวมโลกของเชื้อราที่ซีรีย์ยกมาเป็นตัวเล่าเรื่อง) แม้แต่ในร่างกายของเราเองก็เป็นแหล่งที่อยู่ของแบคทีเรีย และเรารู้จักพวกมันแค่ 1% เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ท่ามกลางความผันผวนของวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น มนุษย์ยังคงคาดเดาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้เพียงน้อยนิด และเราไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราในอนาคต หากโลกไม่สามารถยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลเช่นนี้ได้

Climate Action at Eni Headquarter in Rome. © Greenpeace / Francesco Alesi
ปกป้องสภาพภูมิอากาศ

เรามีโอกาสทำให้ระบบสภาพภูมิอากาศอันละเอียดอ่อนคืนสู่สมดุลโดยการเลือกพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปกป้องระบบนิเวศป่าไม้และมหาสมุทร มุ่งหน้าสู่ระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ร่วมมือกันกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ เยียวยาโลกให้เป็นที่ที่ปลอดภัย น่าอยู่และเป็นธรรมมากขึ้น

อ่านต่อ

เรียบเรียงข้อมูลจาก