ในขณะที่ยุโรปเจอกับคลื่นความร้อนท่ามกลางฤดูหนาวในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ตอนนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน กำลังเผชิญสภาพอากาศหนาวสุดขั้วด้วยอุณหภูมิติดลบ และหิมะที่ตกหนักจนส่งผลกระทบต่อการขนส่งในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิต โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 ม.ค. 2566) เขตชายแดนเกาหลีใต้วัดอุณหภูมิได้ถึง -33 องศาเซลเซียส ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนวัดอุณหภูมิได้ถึง -53 องศาเซลเซียส

airplane snow storm
ภาพเครื่องบินสายการบินไทยท่ามกลางพายุหิมะ เมืองชิโตเสะ เมื่อกุมภาพันธ์ ปี 2014

ล่าสุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะเลวร้าย เพราะถูกปกคลุมด้วยหิมะสูงและอากาศหนาวเย็นรุนแรงและบางพื้นที่อาจมีอุณหภูมิต่ำสุดในรอบ 10 ปี จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย ส่วนทางตะวันตกของประเทศก็ประสบปัญหาการคมนาคมกลายเป็นอัมพาต โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีผู้โดยสารตกค้างในสถานีรถไฟหลายชั่วโมง และในวันต่อมา ยังต้องยกเลิกเที่ยวบินมากกว่า 200 เที่ยวอีกด้วย 

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศหนาวสุดขั้วแบบนี้เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกของเรากำลังอยู่ในวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงถึงตายได้

เยซังอุค ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยฮันยางในกรุงโซล ผู้ติดตามสถานการณ์คลื่นความหนาวเย็นในคาบสมุทรเกาหลีซึ่งมีสาเหตุจากลมอาร์กติกในไซบีเรีย กล่าวว่า 

“คลื่นความหนาวที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ในปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากธารน้ำแข็งในอาร์กติกละลายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อธารน้ำแข็งละลาย ทะเลจะมีพื้นที่กว้างขึ้นและส่งผลให้เกิดไอระเหยเพิ่มขึ้น ผลคือทางตอนเหนือเกิดหิมะมากขึ้น ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายขึ้นกว่าเดิม ภูมิภาคนี้ก็จะยิ่งต้องเจอกับสภาพอากาศหนาวเย็นที่รุนแรงขึ้นอีกในอนาคต”

เควิน เทนเบิร์ท จากสถาบันวิจัย US National Center (NCAR) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า “เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) จะกลายเป็นวิถีใหม่ที่เราต้องเผชิญ และคาดการณ์ว่าความแปรปรวนอย่างรุนแรงของสภาพอากาศเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะทวีความเลวร้ายมากกว่าที่เคยเป็นมา”

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศนอกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน (Heat wave) โดยจะเห็นได้จากคลื่นความร้อนที่กระทบกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่จัดขึ้นที่โตเกียวเมื่อปี 2021 ที่คณะผู้จัดรายการออกมายอมรับว่าในสัปดาห์แรกของโอลิมปิกเกมส์ มีพนักงาน และอาสาสมัครร่วม 30 ชีวิตล้มป่วยจากความร้อนที่เกิดขึ้น แม้ว่าปกติแล้วกรุงโตเกียวจะมีอากาศร้อนเป็นพิเศษในฤดูร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่าสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นยังเกี่ยวโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังต้องเจอพายุไต้ฝุ่นรุนแรง เช่น ไต้ฝุ่นมาเอมี ไต้ฝุ่นมังคุด หรือไต้ฝุ่นมรกต เป็นต้น

Typhoon Mangkhut impacts in Hong Kong. © Greenpeace
ภาพความเสียหายในฮ่องกงเมื่อซูเปอร์ไต้ฝุ่น มังคุด พัดถล่มฮ่องกงเมื่อ 16 กันยายน 2561 หลายพื้นที่ของฮ่องกงต้องพบกับฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ขยะพลาสติก ดิน ก้อนอิฐ ถูกพัดกระจายเนื่องจากความเร็วลมของพายุ วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการสภาพอากาศสุดขั้วเช่นพายุไต้ฝุ่น คลื่นความร้อน คลื่นความหนาวสุดขั้ว ให้เกดิบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น เราจำเป็นต้องรีบชะลอความรุนแรงนี้ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ผู้นำแต่ละประเทศจำเป็นต้องลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด © Greenpeace

อุตสาหกรรมและรัฐบาลทั่วโลก ต้องหยุด ‘การฟอกเขียว’ และแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ผลกระทบที่พวกเราได้รับจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดนั้น เป็นเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่พยายาม ‘ชะลอและบิดเบือน’ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยการผลักให้เป็นปัญหาปัจเจกบุคคล โดยใช้เม็ดเงินมหาศาลประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้คนตื่นตัวและเริ่มลดผลกระทบจาก ‘ตัวเอง’ ในขณะเดียวกันก็ออกแคมเปญที่พยายามทำให้ตัวเอง ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ (Greenwash)

Climate Strike at COP27.
กลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

สิ่งที่เราทำได้คือการรวมพลังกันเพื่อบอกให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของประเทศเห็นความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่ออนาคตของเรา สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชน เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในชุมชนท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รัฐบาลทั่วโลกต้องเดินหน้าตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในขณะที่ดำเนินแผนการไปด้วย

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
รัฐบาลไทยต้องหยุดฟอกเขียว! เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รัฐสภาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration)”

มีส่วนร่วม