จากรายงานผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (แบรนด์ออดิท) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกลุ่มเครือข่าย Break Free From Plastic ปีล่าสุด พบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค และเนสเล่ท์เป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุด

รายงานในปี 2565 เป็นการนำข้อมูลจากการตรวจสอบแบรนด์โดยอาสาสมัครทั่วโลกในระยะเวลาห้าปีมารวมกัน ข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า คำมั่นสัญญาโดยสมัครใจว่าจะลดพลาสติกลงจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีกด้วย นักกิจกรรมทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย เพื่อให้บริษัทยักษ์ใหญ่ลดการผลิตและการใช้พลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน อาสาสมัครกว่า 200,000 คน ใน 87 ประเทศทั่วโลกได้ตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อระบุบริษัทที่ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุด ผลปรากฏว่าตลอดห้าปีที่ผ่านมาพบขยะพลาสติกจากบริษัทโคคา-โคล่ามากกว่าบริษัทที่เป็นผู้ก่อมลพิษสองอันดับรวมกัน โดยในปี 2565 นี้พบขยะพลาสติกจากแบรนด์โคคา-โคล่ามากกว่า 31,000 รายการซึ่งหากเทียบกับในปี 2561 แล้วนั้นปริมาณขยะพลาสติกจากแบรนด์โคคา-โคล่าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
เป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างมากที่บริษัทผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดกลายเป็นผู้สนับสนุนการประชุม เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 27 ที่จัดขึ้นที่อียิปต์ ทำให้เกิดความสับสนของนักกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมว่าทำไมบริษัทอย่างโคคา-โคล่าที่ใช้พลาสติกซึ่งผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 99% กลายมามีบทบาทสำคัญในการประชุม COP 27 ได้

จากผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ในวันนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการเพิกเฉยของบริษัทยักษ์ใหญ่ นักกิจกรรมทั่วโลกจึงร่วมกันส่งขยะของบริษัทนั้น ๆ ไปทางไปรษณีย์เพื่อเรียกร้องให้บริษัทลงมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนโดยส่งไปที่บริษัทโคคา-โคล่าในอาร์เจนตินา บังกลาเทศ บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เคนยา ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย โตโก ยูกันดา และสหรัฐอเมริกา และบริษัทยูนิลีเวอร์ในอินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ และ เป๊ปซี่โคในอินเดียและแทนซาเนีย
ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีกิจกรรมการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม มูลนิธิ Ellen MacArthur และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติร่วมกันเปิดตัวพันธสัญญาระบบเศรษฐกิจพลาสติกแบบใหม่ (The New Plastics Economy Global Commitment) โดยมุ่งเน้นไปที่ความสมัครใจของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความมุ่งมั่นในการจัดการมลพิษพลาสติกที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง รวมถึงบริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตามรายงาน Global Commitment 2022 Progress ได้ระบุว่าเป้าหมายที่พวกเขาตั้งใจจะลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในผลิตภัณฑ์ของตนเองภายในปี 2568 นั้นอาจไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่มีการเปิดตัวพันธสัญญาโลกเพื่อลดการใช้พลาสติกนั้นกลายเป็นว่าปริมาณการใช้พลาสติกของบริษัทต่าง ๆ กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นได้ชัดว่าการขอความร่วมมือให้ลดการใช้พลาสติกด้วยความสมัครใจนั้นไม่เป็นผล

ความล้มเหลวจากการลงนามให้คำมั่นของหลายบริษัทผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่ในพันธสัญญาโลกด้วยควาสมัครใจนั้นทำให้องค์กร Break Free From Plastic เรียกร้องให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างเร่งด่วน การประชุมเจรจาสนธิสัญญานี้ได้จัดขึ้นที่เมืองเมืองปุนตา เดล เอสเต ประเทศอุรุกวัยในวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
วอน เฮอร์นันเดส ผู้ประสานงานระดับโลกของเครือข่าย Break Free From Plastic กล่าวว่า “แทนที่จะให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างโคคา-โคล่าสร้างภาพว่าตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับให้บริษัทลงทุนในระบบใช้ซ้ำและระบบขนส่งผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง นี่เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่สำคัญและจำเป็นต่อโลกใบนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษพลาสติก ตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกมีโอกาสที่จะร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านสนธิสัญญาพลาสติกโลกผ่านการลดการผลิตพลาสติก สร้างภาระรับผิดชอบให้แก่บริษัทต่าง ๆ จากการที่พวกเขามีส่วนในการสร้างมลพิษพลาสติก และจัดตั้งระบบใช้ซ้ำ”
โอนีลา กาเรียล นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรและพลาสติก กรีนพีซ เม็กซิโกกล่าวว่า “ในประเทศต่าง ๆ อย่างเม็กซิโก โคคา-โคล่ากำลังต่อสู้กับความพยายามแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก เช่น การห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use plastic) ชุมชนของพวกเราต้องทุกข์ทนทรมานกับมลพิษพลาสติกอย่างหนัก ในขณะที่ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ได้ร่วมมือกับบริษัทกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกขยายฐานการผลิตพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อทำกำไร และแน่นอนว่าโคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค เนสเล่ท์ รวมถึงยูนิลีเวอร์เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตนี้เช่นกัน ภายในปี 2573 พวกเขาต้องเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและต้องทำให้บรรจุภัณฑ์จากแบรนด์สินค้าของพวกเขาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งสามารถใช้ซ้ำได้ สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะจำกัดการผลิตและการใช้พลาสติก และเร่งเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมไปสู่เศรษฐกิจแบบใช้ซ้ำ (Reuse Economy)”
แอนนา โรชา ผู้บริหารองค์กร Nipe Fagio ของแทนซาเนีย กล่าวว่า “ก่อนที่เราจะกำจัดมลพิษพลาสติกให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า การตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกตลอดระยะเวลาห้าปีที่เราเก็บข้อมูลมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้เราเห็นแหล่งที่มาของมลพิษและผลกระทบเชิงบวกที่เกิดจากนโยบายจำกัดการใช้พลาสติกเพื่อจัดการกับวิกฤตมลพิษพลาสติก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างใช้ผลจากแบรนด์ออดิทเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจและกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ต่อกรกับมลพิษพลาสติกในแทนซาเนียและแอฟริกาตะวันออก”
ฟลอลอน เกรท ผู้ประสานงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากองค์กร Global Alliance for Incinerator Alternatives (GAIA) กล่าวว่า “การตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมครั้งล่าสุดแสดงให้เราเห็นชัดเจนมากว่าใครเป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกตัวจริง บริษัทเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ แต่เราจะไม่ลดละความพยายามที่จะสนับสนุนแนวคิดขยะเหลือศูนย์ หรือZero Waste ในองค์กร GAIA พวกเรายังคงทำงานร่วมกับองค์กรและชุมชนต่าง ๆ ด้วยประสบการณ์ที่เรามีเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำของซีกโลกใต้ที่จะทำให้แนวคิด Zero Waste เกิดขึ้นได้จริง และเรายังคงตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกไปเรื่อย ๆ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบต่อมลพิษที่ตนเป็นคนก่อขึ้น”
โรซ่า พริทชาร์ต ทนายความด้านพลาสติกของมูลนิธิ ClientEarth ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ขณะนี้โลกเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่เกิดจากผู้ก่อมลพิษพลาสติกซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราสามารถระบุชื่อได้อย่างแน่ชัด แทนที่บริษัทเหล่านั้นจะลดจำนวนการผลิตพลาสติกด้วยการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและเปลี่ยนไปพัฒนาระบบใช้ซ้ำและระบบการนำภาชนะไปเติมให้เกิดขึ้นจริง กลับกลายเป็นว่าพวกเขามุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ซึ่งมันไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณพลาสติกที่พวกเขาผลิตออกสู่ตลาดในแต่ละปี ผู้บริโภค ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ กำลังดำเนินคดีกับบริษัทเหล่านี้กระตุ้นให้เขาได้ลงมือจัดการมลพิษพลาสติก และตอนนี้ได้มีการฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพลาสติกแล้ว การดำเนินคดีทางกฎหมายทำให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า บริษัทยักษ์ใหญ่กำลังก่อมลพิษพลาสติกและเรารู้ถึงอันตรายที่พวกเราจะได้รับจากวิกฤตมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้น คดีความในครั้งนี้จะทำให้พวกเขามีภาระรับผิดต่อสิ่งที่พวกเขาสร้าง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น”
ยัง กากูรัส ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์จากมูลนิธิ Post-Landfill Action Network ในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “โคคา-โคล่าและเป๊ปซี่โค ซึ่งติดอันดับแบรนด์ผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดในโลกจากผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในระยะเวลาห้าปีติดต่อกัน เป็นบริษัทเดียวกันที่ทางวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยทำสัญญามูลค่าหลายล้านดอลลาร์ให้เป็นผู้ให้บริการเครื่องดื่มในสถานศึกษาแต่เพียงผู้เดียว ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้โน้มน้าวให้เราเชื่อว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงเลยสักนิดเดียว นักศึกษามักต้องพบเจอกับอุปสรรคในการพัฒนาสถานศึกษาให้มุ่งสู่การใช้ซ้ำอันเนื่องมาจากสัญญาแทบจะไม่ระบุอะไรที่เกี่ยวกับความยั่งยืนเลย นักศึกษาและกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงใช้ข้อมูลจากผลแบรนด์ออดิทเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นด้านความโปร่งใส ความรับผิดชอบของบริษัทยักษ์ใหญ่ และภาระรับผิดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการกำจัดของเสียและผลักดันระบบใช้ซ้ำให้เกิดขึ้นจริง”