กลายเป็นประเด็นร้อนบนโซเชียลมีเดียขึ้นมาเมื่อทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ศึกษาอัตราการเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรี แบบรายเดือนที่เหมาะสมทั้งกลุ่มบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและกลุ่มโรงงาน เพื่อนำเงินมาช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าปกติ

ในเวลาต่อมา กฟผ. ได้ออกมาชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อนว่า “ไม่เคยเสนอเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) ที่ 100 – 200 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศ” และย้ำจุดยืนการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนโดยให้มีค่าไฟฟ้าเหมาะสม เป็นธรรม ในขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกใบแถลงข่าวในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยระบุว่า “ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนอัตรา ค่าไฟฟ้าเพื่อรองรับลักษณะการผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศในอนาคต”

ในข่าวที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยังอ้างถึงการศึกษาตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาเพราะมี 50 รัฐ ที่มีดีเบตกันว่าควรเก็บค่าชาร์จไฟฟ้าในส่วนที่ต้องมีการลงทุนเพื่อแบ็คอัพระบบหรือไม่ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีกรณีวิธีการเรียกเก็บเงินที่แตกต่างกันถึง 61 กรณี โดยมีการเสนอเรียกเก็บตั้งแต่ 3-50 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือนต่อครัวเรือน แต่โดยเฉลี่ยจะเรียกเก็บประมาณ 3-10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน หรือประมาณ 300-400 บาทต่อเดือน

แต่การอ้างอิงข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้ขาดรายละเอียดและไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าระบบการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยโครงข่ายพลังงานที่เชื่อมต่อกันและมีหน่วยงานด้านไฟฟ้า 66 หน่วยที่ทำหน้าที่จัดวางสมดุลของระบบ แต่ในขณะที่ระบบจัดส่งไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าของไทยเป็นระบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่และอยู่ใต้การควบคุมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ในสหรัฐอเมริกายังมีหน่วยงานอิสระนำโดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานสะอาดแห่ง North Carolina (North Carolina Clean Energy Technology Center) ซึ่งออกรายงาน 50 States of Solar ทุกไตรมาส เพื่อรายงานสถานะโซลาร์รูฟท็อปโดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและเป็นระบบเพื่อให้ผู้ออกกฎหมาย หน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน หน่วยงานด้านไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคพลังงานอื่นๆ มีข้อมูลที่แม่นยำ ปราศจากอคติและทันต่อเวลา ซึ่งเอื้อให้แต่ละรัฐ (ในสหรัฐอเมริกา) จะเลือกใช้ รับรอง ดำเนินการ และ/หรือยุตินโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์จากโซลาร์เซลล์ (distributed solar photovoltaics) นอกจากนี้ ยังแจกแจงรายการของการเปลี่ยนแปลงกรอบข้อกำหนด มาตรการต่างๆ และการออกแบบอัตราการเก็บค่าไฟฟ้าซึ่งเน้นไปที่ภาคครัวเรือน

การดีเบตกรณีโซลาร์รูฟท็อปในสหรัฐอเมริกาจึงไปไกลกว่าการถกเถียงเรื่องค่าสำรองไฟฟ้า(Back Up Rate) ข้อมูลของ North Carolina Clean Energy Technology Center ระบุว่ามีการอภิปรายอย่างกว้างขวางว่าค่าไฟฟ้าจากระบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลักโดย ขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าให้น้อยที่สุดในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ก่อภาระต่อประชาชน (หรือ ระบบ Net-metering) นั้น ควรเป็นอย่างไร ไปจนถึงระบบการรับซื้อไฟฟ้า (จากโซล่าร์รูฟท็อป) ที่ก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงการปฏิรูปราคาไฟฟ้าและหน่วยงานด้านไฟฟ้าที่เหมาะสมกับระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์

การศึกษาอย่างละเอียดที่รัฐเนวาดาในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปนั้นให้ ผลประโยชน์โดยตรงที่วัดเป็นตัวเงินต่อทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีโซลาร์รูฟท็อปและครัวเรือน ที่ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย ในประเทศไทย งานวิจัยของ National Renewable Energy Lab และ Lawrence Berkeley National Lab ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ของทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จากการเพิ่มขึ้นของระบบโซลาร์รูฟในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ พบว่าการเพิ่มขึ้นของระบบโซลาร์รูฟดังกล่าวทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพียง 1 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อเทียบกับการเพิ่มของค่าไฟฟ้าจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติ หรือการลงทุนระบบผลิต ส่ง และจำหน่ายแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบที่ต่ำกว่ามาก

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ต้นทุนการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดที่ใช้กันทั่วไปในสหรัฐอเมริกาลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง ในรัฐที่เป็นผู้นำพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 5 กิโลวัตต์มีราคาน้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ(อัตราแลกเปลี่ยนปี 2558) อันเป็นผลมาจากกลไกการสนับสนุนที่เหมาะสม จนถึงปี พ.ศ.2560 ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปจากมากกว่า 25 รัฐในสหรัฐอเมริกามีราคาเท่ากับหรือถูกกว่าไฟฟ้าจากแหล่งอื่นๆ ที่ส่งมาในระบบสายส่งโดยไม่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ การคาดการณ์โดยองค์การสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ ระบุว่าภายในปี พ.ศ.2563 บ้านเรือนราว 1 ล้านหลังจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในขณะที่กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ คาดว่าหากราคาของโซลาร์รูฟท็อปลดลงไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ในปี พ.ศ.2563 การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอาจถึง 4 ล้านหลังคาเรือน

ในกรณีของไทย การคาดการณ์ของ Bloomberg New Energy Finance ในปี พ.ศ.2559 ระบุว่า ในช่วง 25 ปีข้างหน้า ในจำนวนมูลค่าการลงทุนใหม่ในภาคพลังงานประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 48 จะเป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และลม และระบบโซลาเซลล์ขนาดเล็ก(Small-scale PV and Storage) รวมถึงโซลาร์รูฟท็อป จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้โดยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสะสมเพิ่มมากขึ้นกว่า 3,000 เมกะวัตต์ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังแสดงในกราฟด้านล่าง

ที่มา : Bloomberg New Energy Finance

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในอาเซียน แต่ยังคงมีความล่าช้าและความไม่แน่นอนอีกมากอันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านนโยบายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการหลายประการ เช่น การที่ภาครัฐยังยึดติดกับแนวคิดที่ว่าพลังงานหมุนเวียนทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ในขณะที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีรวมถึงการแข่งขันด้านการตลาดทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนมีถูกลง พลังงานหมุนเวียนบางประเภท เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม สามารถแข่งขันกับการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาตินำเข้า(LNG) ซึ่งหากรัฐจะรับซื้อไฟฟ้า โดยยึดหลักการของต้นทุนหน่วยสุดท้ายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้(Avoided Cost) ก็ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ซึ่งรวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าด้วยราคานี้กับระบบ Net-metering ของโซลาร์รูฟท๊อป ส่วนการดำเนินการในเรื่อง Net-metering นั้นยังเป็นเพียงโครงการนำร่องโดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ผลิตเพื่อใช้เองและเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผล เพราะยังคงติดอยู่ที่ระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่อนุญาตให้มีกระแสไฟฟ้า ไหลย้อนเข้าสู่ระบบ

โซลาร์เซลล์ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (disruptive technology) ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเริ่มปรับตัว ยุคของโซลาร์ราคาแพงได้ผ่านไปแล้ว และไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แข่งขันได้กับแหล่งไฟฟ้าอื่นๆ ในทุกขนาด หากส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองจากระบบโซลาร์รูฟท็อป จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประหยัดรายจ่ายรวมถึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

สุดท้าย หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรวมถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีจุดยืนในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและเก็บค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมอย่างแท้จริง แทนที่จะออกมาเก็บ “ค่าระบบสำรองไฟฟ้า” ควรที่จะมุ่งปลดล็อกข้อจำกัดด้านสายส่งที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และที่สำคัญคือการนำระบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลักโดยขายไฟฟ้า ส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ก่อภาระต่อประชาชน(ระบบ Net-metering) มาใช้อย่างจริงจังเต็มรูปแบบ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยได้ที่นี่

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/815
http://www.erc.or.th/ERCWeb2/Upload/News/23342017123431Press_Release_ไม่เก็บค่าสำรองไฟฟ้า_โซลาร์รูฟท๊อปรายเล็ก_Final.pdf
http://www2.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000063811
https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/SolarCity-Distributed_Energy_Resources_in_Nevada.pdf
https://about.bnef.com/new-energy-outlook/
http://www.ucsusa.org/clean-energy/increase-renewable-energy/affordable-rooftop-solar-united-states#.WVEJnMaB1sM
https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/4a10f23f-4a10f23f-solar-infographic-data-sources-and-methodology.pdf
https://www.scientificamerican.com/article/new-fees-may-weaken-demand-for-rooftop-solar/
http://www.utilitydive.com/news/10-rooftop-solar-debates-to-watch-in-2017-and-beyond/435070/
https://nccleantech.ncsu.edu/the-50-states-of-solar-report-q1-2017-updates-released/
https://pugnatorius.com/solar-energy-update-2017/
http://www.efe.or.th/news-activity-detail.php?task=13&sessid=678
http://thaipublica.org/2017/06/rooftop-solar15-6-2560/