ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์มักถูกวางไว้ในบริบทจำเลยของสังคมในประเด็นปัญหาการเผาและการทำลายป่า เช่น การตีตรา “ชาวเขาเผาป่า” เพื่อทำไร่เลื่อนลอยว่าเป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศและป่าไม้ที่หายไปของภาคเหนือ ทว่าคำกล่าวนี้มีข้อเท็จจริงเช่นไร หรือเป็นเพียงอคติของสังคมต่อคนชายขอบที่มีความเป็นอื่นอย่างกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ กรีนพีซชวนคุณมาสำรวจความคิดนี้อีกครั้งจากมุมมองของชนพื้นเมืองในประเด็นเรื่องไฟ ไร่หมุนเวียน ป่า วิถีชีวิต และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

พฤ โอโดเชา เกษตรกรชาวชาติพันธุ์ปกาเกอญอ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

การผลักดันการผลิตผลผลิตทางเกษตรเพื่อส่งออกโดยมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ฉบับที่ 6 (2530-2534) เป็นต้นมา ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรมเปลี่ยนไป จากการทำเกษตรเพื่อยังชีพสู่เกษตรเพื่อพาณิชย์และอุตสาหกรรม กรีนพีซได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมถึงความสัมพันธ์ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ในช่วง 20 ปี (2545-2656) พบว่า การลดลงของพื้นที่ป่าไม้และการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศนั้น เชื่อมโยงอย่างมีนัยสัมพันธ์สอดคล้องกันกับนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐที่สำคัญในการยกระดับรายได้คุณภาพชีวิตของชุมชน แต่ในความเป็นจริงนั้นยังปรากฎชัดว่าเกษตรกรบางกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนและประสบปัญหาความยากจนอยู่แล้วจะไม่สามารถหลุดจากวงจรปัญหาหนี้สินภายใต้ระบบสินเชื่อของนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตชุมชนภาคเหนือตอนบนของไทย ที่เกษตรกรบนพื้นที่สูงประกอบด้วยกลุ่มชนพื้นเมืองที่หลากหลาย เช่น ไทใหญ่ ไทลื้อ ลัวะ ลาหู่ ม้ง ลีซู อาข่า ไทยเขิน อิ่วเมี่ยน และปกาเกอะญอ การเข้ามาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้คุกคามทั้งวิถีชีวิตวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณท้องถิ่น และเปลี่ยนให้ชนพื้นเมืองกลายเป็น “ชาวเขา” ผู้เป็นจำเลยทางวาทกรรมการทำลายป่าด้วยไร่เลื่อนลอย แม้ในความเป็นจริงนั้น ชนพื้นเมืองมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับป่าด้วยความผูกพันทางจิตวิญญาณ

“จิตวิญญาณปกาเกอญอคือการมองเห็นทุกสิ่งมีชีวิตเหมือนกับเรา และเราอยู่ได้เพราะชีวิตอื่นในธรรมชาติเหล่านั้น วิถีชีวิตของเรามีสำนึกต่อธรรมชาติจึงใช้ธรรมชาติเพื่อแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูล ให้พอประทังชีวิตเป็นปี ๆ เพื่อให้ธรรมชาตินั้นมีเวลาเจริญเติบโตตามฤดูกาลเพื่อเป็นทานเกื้อกูลแก่ชีวิตอื่น จิตวิญญาณนับถือธรรมชาตินั้นเป็นวิถีเรา ชีวิตเราอยู่ได้เพราะธรรมชาติหล่อเลี้ยงเรามา เมื่อระบบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามา ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนในชุมชนให้ต้องหันมาค้าขาย ต้องกู้ยืม ทำยังไงถึงจะหาเงินมาได้เพราะเรากู้เงินมาแล้ว” 

นี่คือคำกล่าวที่ พฤ โอโดเชา เกษตรกรชนพื้นเมืองปกาเกอญอ เล่าให้กับเราฟังเมื่อกรีนพีซไถ่ถามถึงจิตวิญญาณปกาเกอญอว่าเปลี่ยนไปเช่นไรไหมในยุคการเพาะปลูกตามระบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายรัฐ นอกจากนี้ชุมชนยังถูกบีบด้วยอคติจากรัฐในแง่ต่าง ๆ เช่น การกล่าวอ้างว่าทำไร่หมุนเวียนแล้วเกิดไฟป่า โดนจับ ชุมชนจึงต้องหันมาพึ่งพาเกษตรเชิงอุตสาหกรรม และละเลิกวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองไป “ผมจะเข้าป่าเขาก็มองว่าผิดแล้ว กฎหมายกีดกั้นเรา แต่กฎหมายกลับเอื้อให้เราหมุนชีวิตไปพึ่งพาทุนแบบอุตสาหกรรม” พฤ โอโดเชา กล่าว 

การคุกคามของอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองให้อยู่กับวังวนหนี้สิน เนื่องจากไม่มีเงินทุนพอที่จะลงทุนเพาะปลูก จากการสัมภาษณ์ของกรีนพีซกับ พฤ โอโดเชา และตัวแทนชุมชนปกาเกอญอจากบ้านป่าคาใน หมู่ 6 และ 11 อำเภอสะเมิง ได้ข้อมูลว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เข้ามาที่ชุมชนตั้งแต่ราว  3-4 ปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นการทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเป็นทางการ แต่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าคนกลางไม่ระบุบริษัท และจดทะเบียนเซ็นสัญญาเป็นเกษตรกร แจ้งต่อรัฐว่าปลูกพืชอะไร และปลูกจริงหรือไม่ โดยการลงทะเบียนนั้นมีการแนบรูปถ่ายเอกสารการปลูก วัดขนาดแปลงประกอบการยื่นจดทะเบียน และจะมีการตรวจสอบจากรัฐภายหลัง 

“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามาด้วยการมีพ่อค้าเข้ามาขายเมล็ดพร้อมเครื่องโม่ ต่อมาเริ่มมีพ่อค้าเข้ามามากขึ้นในแต่ละปี เราได้ฟังเพลงชวนเชื่อให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของคาราบาว และมีการติดป้ายข้าวโพด 888 ต่อมาเกษตรอำเภอและหน่วยงานรัฐส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูก และมีบริษัทติดป้ายตามหมู่บ้านว่าจะรับซื้อราคาเท่านี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เข้ามาเบียดเบียนไร่หมุนเวียนของเราด้วย ทำให้เราต้องลดจำนวนไร่หมุนเวียนลง” พฤ โอโดเชา เล่า ปัจจุบันนี้ชุมชนที่สะเมิงเริ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สลับกับไร่หมุนเวียน มีสัดส่วนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ร้อยละ 60 ขณะที่ไร่หมุนเวียนเหลือร้อยละ 40 จากพื้นที่ทั้งหมด  และมีแนวโน้มจะเพิ่มการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นถ้าราคายังดีอยู่ และต้นทุนปุ๋ยและยาไม่สูงเกินไป  ท้ายที่สุดไร่หมุนเวียนไม่สามารถหมุนปลูกพื้นตัวได้ทันตามกำหนดปี 

เกษตรกรชาวชาติพันธุ์ปกาเกอญอ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านชุมชนป่าคาแถวนี้จากเดิมที่เคยมี 7 แปลง ได้ถูกเบียดพื้นที่ปลูกเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้รอบหมุนเวียนของการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนลดลง การทำไร่หมุนเวียนนั้นไม่มีการใช้สารเคมี และเป็นการใช้พื้นที่แค่ครั้งเดียวและพักฟื้นป่าทิ้งไว้ 7 ปี เปิดพื้นที่เพาะปลูกบนผิวดินปีละ 1 แปลงพื้นที่อีก 6 แปลงจะเป็นสภาพเป็นป่าอ่อนตามการพักฟื้นของอายุปีของไร่ซากแต่ละแปลง ตามจารีตนั้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ชื่อข้าวเสร็จ จะมีพิธีคืนพื้นที่ให้เจ้าที่เชิญวิญญาณและสัตว์ทั้งหลายที่ได้เคยให้ออกจากพื้นที่บริเวณนี้เพื่อขอเข้าไปทำกินเมื่อครั้งไปทำพิธีขอถางปลูกข้าวเมื่อต้นปีเดือนกุมภาพันธ์นั้นให้กลับมาสิงสถิตในพื้นที่นี้ และขอให้ต้นไม้พรรณพืชเจริญเติบโตงอกงามคืนเป็นป่าเร็วๆ เท่ากับระบบจารีตของชนพื้นเมืองชาวปกาเกอญอนั้นไม่มีระบบกรรมสิทธิ์การถือครองพื้นที่เป็นของปัจเจกตัวเองเหมือนระบบที่ดินที่มีกันในสังคมทุกวันนี้ และเมื่อทุกแปลงไม่ถูกเปิดพร้อมกันจึงทำให้ไม่เห็นสภาพดอยหัวโล้น เมื่อถึงคราวฤดูเพาะปลูกปีใหม่จึงวนกลับมาใช้แปลงไร่ซากที่ถูกพักฟื้นที่อายุมากสุดเหมาะที่จะกลับไปทำการเพาะปลูกใหม่ ส่งผลให้ระบบนิเวศสามารถพื้นตัวได้ แต่จากคำบอกเล่าของชนพื้นเมืองที่สะเมิง พบว่า การที่เปลี่ยนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนไปเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ยาฆ่าหญ้าและปุ๋ยเคมี ทำให้ต้นไม้ตายทีละน้อย 

“ประมาณ 4-10 ปี จะไม่มีต้นไม้เลย มีแต่หญ้าขึ้น และกลายเป็นหญ้าแห้งในฤดูแล้ง เมื่อหลายคนมาทำแปลงข้าวโพดติดต่อกันหลายแปลงบนภูเขาจะเห็นดอยกลายเป็นภูเขาหัวโล้นเพราะพื้นไร่ซากจะถูกเปิดใช้ทุกแปลงและมีการใช้สารเคมีต่อเนื่องทุกปี พื้นที่จึงไม่เอื้อให้สัตว์ป่าเข้ามาพึ่งพาได้ เพราะไม่มีอาหารพืชอ่อนต้นไม้ให้กำบัง สัตว์ป่าสิ่งมีชีวิตก็ไม่สามารถอยู่ได้ แต่อาจจะเพิ่มพวกหนู แมลงบางชนิดที่กินพืชข้าวโพดเป็นอาหารมีจำนวนมากจนมาสร้างปัญหาให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีก ระยะยาวสภาพดินและต้นทุนจะสูงขึ้น ลูกหลานจะต้องเจอกับปัญหาอะไรอีก ต่างจากระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ต้นไม้จะไม่ตาย หน่ออ่อนจะแตกกอออกมาจากตอที่ถูกตัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตอนนี้ก็เริ่มกังวลไม่อยากให้ข้าวโพดเข้ามาในชุมชน เราได้ไปร้องขอทางอำเภอว่าไม่อยากจะให้ข้าวโพดเข้ามา แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะว่าข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลไม่กล้าที่จะจัดการกับระบบข้าวโพดอย่างเด็ดขาด คงเพราะยังต้องการสนับสนุนนายทุน แต่ปล่อยให้ชาวบ้านรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นเองทั้งต้องแบกรับต้นทุน ความเสี่ยงผลกระทบระยะสั้น ระยะยาวเอง เมื่อขาดทุนและต้นทุนความเสื่อมสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูก และการเตรียมพื้นที่ ต้องพรวนหรือเผาวัชพืชอีก ชาวบ้านในพื้นที่นั้นจะได้รับแรงกดดันต่าง ๆ ตามมาอีก” ตัวแทนชุมชนของหมู่บ้านสะเมิงกล่าว 

ปฏิทินไร่หมุนเวียนของชุมชนปกาเกอญอที่หมู่บ้านสะเมิง © รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

สำหรับการลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น จะมีค่าใช้จ่ายทั้งทุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง การดูแล รวมไปถึงการเก็บไปสีขาย หากยกตัวอย่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 3 ไร่ ชาวพื้นเมืองสะเมิงเผยว่ามีค่าใช้จ่ายดังนี้ 

  • เมล็ดพันธุ์หนัก 10 กิโลกรัม จำนวน 1 ถุง ราคา 800 บาท
  • ปุ๋ยจำนวน 4 กระสอบ ราคารวม 2,800 บาท ใส่จำนวน 2 ครั้ง ใน 4 เดือน
  • ยาฆ่าแมลง 2 แกลลอน ราคารวม 900 บาท (พ่นยาทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกพ่นก่อนปลูก และครั้งต่อมาพ่นหลังจากผลผลิตขึ้นแล้ว) 
  • น้ำมันเบนซิน 5 ลิตร ราคา 250 บาท 
  • ค่าแรงงาน วันละ 300 บาท โดยใช้คนทั้งหมด 14 คน รวมทั้งหมดมีค่าใช้จ่าย 4,200 บาท ประกอบด้วย พ่นยา 1 คน 1 วัน 2 ครั้ง หักหน่วยข้าวโพด 8 คนต่อ 1วัน  เครื่องดันปลูกเมล็ดข้าวโพด เช่า 1 วัน ราคา 100 บาท (ใช้ได้หลายปี) ค่าขน 2 เที่ยว เป็นราคา 600 บาท

    รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น  9,550 บาท หรือหากรวมเครื่องดันปลูกเมล็ดต่อวันจะเท่ากับ 9,650 บาท ​​ได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น้ำหนัก 2,000 กิโลกรัม โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 3 ไร่ ได้เงินสดมาที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายได้ 12,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านบนทั้งหมดแล้ว จะคงเหลือเพียงกำไรจากการปลูกเพียง 2,450 – 3,6575 บาท เท่านั้น ทั้งนี้มีบางรายที่ปลูกได้ผลผลิตมากกกว่า ถึงราว 5,000 กว่ากิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูก (อ้างอิงจากข้อมูลของชุมชนในปี 2564)  

    ในกรณีการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนสะเมิง พฤ โอโดเชา กล่าวว่า หากขายผ่านคนกลางที่มารับถึงไร่สามารถขายได้ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากไปขนไปขายเองในเมืองจะได้ราคา 9-11 บาทต่อกิโลกรัม โดยไม่มีการระบุว่าคนกลางนั้นเป็นตัวแทนจากบริษัทอะไร หรือนำไปขายต่อใคร 

    การใช้ไฟและวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง

    อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

    การใช้ไฟเชื่อมโยงกับบริบทบางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง เช่น วัฒนธรรมเกษตร และสัมพันธ์กับจิตวิญญาณของชุมชน การถูกตีตราทางวัฒนธรรมที่แตกต่างประกอบกับโครงสร้างทางสังคมและกฎหมายที่มองเห็นชนชาติพันธุ์เป็นอื่น เมื่อมีสถานการณ์ฝุ่นควันพิษและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนความเชื่อความคิดของคนส่วนใหญ่ยังประกอบสร้างบนพื้นฐานของความเป็นอื่นของคนชาติพันธุ์ มลพิษทางอากาศจากการเผาและการเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าจึงยังคงมักถูกคนเมืองหรือคนในสังคมส่วนใหญ่มองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ พวกเขาจึงตกเป็นจำเลยของสังคม ในฐานะเป็นชาวเขา ผู้ทำไร่เลื่อนลอยและจุดไฟเผาป่า 

    ชุมชนปกาเกอญอที่หมู่บ้านสะเมิงเล่าว่า พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟคือพิธีไฟ และเชื่อว่าไฟนั้นเป็นสิ่งที่และมีเจ้าไฟที่เรามองไม่เห็นคอยดูแลอีก ชุมชนจึงมีพิธีเคารพสำนึกบุญคุณและตระหนักถึงภัยของไฟ มีพิธีเลี้ยงเจ้าไฟ คือพิธี “ต่าหลื่อเหม่” ซึ่งจะเป็นพิธีขออนุญาตเจ้าไฟเพื่อขอใช้ไฟเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพราะปลูกก่อนฝนมาเยือน ในวันใช้ใฟ เจ้าของไร่ที่จะไปใช้ไฟเผาไร่หมุนเวียนนั้นจะต้องเอาข้าวเอาอาหารไปด้วยเพื่อไปบอกเจ้าที่ว่า “วันนี้ฉันจะเผาไร่นะ ขอให้ช่วยดูแลปกป้องเรา อย่าให้มีอุปสรรคใด ขอให้ไฟเผาคกึ๊นี้(ไร่)ไหม้ดีๆ” และจะนำเอาหางปลามาติดไว้กับคบไฟ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไฟไหม้ดี และหางปลาที่นำไปติดไว้ ซึ่งปลาชนิดนั้นมีชื่อว่าปลาปุง มีชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “หญ่าเปอะลา” เป็นความเชื่อที่ว่าจะเอาไปติดไว้เพื่อที่ให้จุดที่ต้องการเผานั้นมีลมพัดดี หางปลาจะช่วยสะบัดให้ลมพัด และวันเผาก็พูดเหมือนกับวันที่ไปถางว่า “วันนี้ฉันจะมาเผาที่นี่นะ ขอให้วิญญาณ แมลง สัตว์ มด หนู นก สัตว์ทั้งหมดทั้งมวลออกไปจากบริเวณนี้นะ” และจะต้องทำแนวกันไฟเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่ป่าหรือกระท่อม และไร่แปลงอื่นที่ยังไม่พร้อมจะเผา 

    © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

    หากพื้นที่แปลงไร่หมุนเวียนใดเกิดไฟไหม้ขึ้นเองโดยไม่รู้คนเผา จะถือเป็นเรื่องใหญ่เท่ากับไร่แปลงนี้มีมลทินเพราะผีมาเผาไร่แปลงนี้ซึ่งผีก็จะมาทำกิน เจ้าของไร่จึงไม่กล้าทำกิน เพราะเจ้าของไร่ไม่ได้ทำพิธีบอกกล่าวขออนุญาตก่อนเผาเอง จะทำให้ชาวปกาเกอญอไม่สามารถไปทำมาหากินที่ทางตรงนั้นได้เนื่องจากความกลัวและขัดกับความเชื่อ ชนพื้นเมืองปกาเกอญอนั้นใช้ไฟด้วยความเคารพ และมีการขออนุญาต เมื่อขออนุญาตใช้ไฟ พอผลผลิตออกมางอกงาม ก็จะต้องมีพิธีขอบคุณและเลี้ยงไฟเพื่อให้ไฟนั้นเยือกเย็นลง ไม่ร้อนแรงกระทบถึงชีวิตทั้งหลาย สัตว์ พืช คน ลูกหลาน เพื่อนบ้าน จึงทำการเพาะปลูกตามวัฒนธรรมด้วยวิถีและความเชื่อที่ผูกพันกับแผ่นดินและผืนป่า พวกเขาเสริมว่า “หลายชั่วอายุคนตั้งแต่ปู่ย่าตายายที่ปลูกไร่หมุนเวียนมา หลังจากการพักฟื้นป่าจะกลับมาสภาพดังเดิม แต่ถ้าเป็นระบบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการพ่นฆ่าด้วยสารเคมีทุกปี ต้นไม้จะโผล่มาไม่ได้ ถ้าเป็นไร่หมุนเวียนต้นไม้จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ” 

    พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟนั้น ประกอบด้วย พิธีไฟ หรือพิธีเลี้ยงเจ้าไฟ พิธีทำให้ข้าวงอกงาม และพิธีปัดเป่าเชื้อโรคและแมลง ซึ่งเป็นเสมือนการขอให้ไฟช่วยเผาไร่และหลังจากที่ข้าวงอกงามแล้วนั้น ก็ต้องมาเลี้ยงขอบคุณและขอโทษ เป็นความเชื่อที่ว่าจะต้องเลี้ยงตอบแทนไฟเพื่อให้เย็นเพราะก่อนหน้านี้ขอให้ความร้อนของไฟนั้นช่วย ถ้าหากไม่เลี้ยง ไฟก็จะมาจัดการและทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ซึ่งจะทำพิธีกรรมนี้ในเดือนสิงหาคม

    ชาวชาติพันธุ์ปกาเกอญอ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

    ประเพณีวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟนั้น สืบทอดมายาวนานหลายชั่วอายุคนตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ปัญหาหมอกควันพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กในภาคเหนือเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 20 ปีเท่านั้น การแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นนั้นคงต้องมองก้าวข้ามการหาจำเลยของสังคม แต่มองให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางรายได้ที่อาจเกิดจากปัญหาโครงสร้างของสังคม และอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรและการส่งเสริมของรัฐโดยปราศจากภาระรับผิด ดังนั้น กฎหมายที่ขาดหายไปของรัฐคือการกำหนดภาระรับผิดของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ รวมถึงการเปิดเผยที่มาของอาหารสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใส เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน สร้างความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและชนพื้นเมืองด้านสิทธิที่ดินถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

    พฤ โอโดเชา คือ ชนพื้นเมืองปกาเกอญา ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรและยังชีพจากไร่หมุนเวียน อาศัยอยู่ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่