เรื่องราวของเอมิลี่ คูเปอร์ แห่ง #EmilyinParis  เดินทางมาถึงซีซั่น 3 แล้ว และน่าจะมีต่ออีกหลายซีซั่น แต่โลกของเราอาจเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในซีซั่นสุดท้าย เมื่อผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้านี้หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงวิธีใช้พลังงานให้ดีต่อโลกมากพอ เราจะเผชิญหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งความตกลงปารีสคือกรอบสำคัญที่สุดในเวลานี้ที่จะทำให้ทุกประเทศรู้ว่าควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรและพยายามทำตามข้อตกลงนั้น

© Yann Arthus-Bertrand / Greenpeace

หัวใจของความตกลงปารีสอยู่ตรงไหน?

ทุกประเทศที่ตอบรับข้อตกลงฯ จะร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5°C  เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และควบคุมให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (การปล่อยสุทธิเป็นศูนย์หมายถึงการปล่อยเท่ากับการดูดกลับในอัตราที่สมดุล) หรือ net zero ภายในกลางศตวรรษที่ 21  

หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5°C  จะเกิดอะไรขึ้น?

คลื่นความร้อนสุดขั้ว, ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15, เชื้อโรคร้ายที่ถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งจะกลับมาและสามารถทำให้เกิดโรคระบาดกว่าครึ่งโลก, ระบบนิเวศปะการังพังทลาย, สัตว์ป่าและพันธุ์พืชสูญพันธุ์ ฯลฯ เป็นเพียงผลกระทบส่วนหนึ่งเท่านั้น

เราจะลดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้อย่างไร?

จากรายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) แนะนำว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ทั่วโลกต้องลดการใช้ถ่านหินลงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของการใช้ทั้งหมด, ยุติการใช้ถ่านหินภายในปี 2593,  และลดละเลิกการใช้น้ำมันและก๊าซฟอสซิล ซึ่งกรีนพีซได้ศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบัน CoalSwarm และพบว่าด้วยอัตราดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าเราจะยังคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เดินทางไปสู่จุดวิกฤตตามความตกลงปารีสได้

ไทยอยู่ตรงไหนในความตกลงปารีส?

ไทยเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และตอบรับความตกลงปารีสแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 นำไปสู่การตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions (NDC) ร้อยละ 25 ภายในปี 2570 และต่อมาในเวที COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ในปี 2564 รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงโดยยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2573 และในเวที COP27 เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุง (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS Revised Version) ต่อ UNFCCC ซึ่งระบุมาตรการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Nuetral) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2065 แต่ในทางปฏิบัติ มีความย้อนแย้งต่อการบรรลุเป้าหมายนี้รวมถึง รัฐยังเดินหน้าเปิดทางให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโน้มเอียงอย่างชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมฟอสซิลและบรรษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองในการค้าขายคาร์บอน

เราทำอะไรได้บ้าง?

นี่อาจเป็นซีซั่นสุดท้ายของเอมิลี่และเพื่อนๆ ที่จะได้จิบกีย์ รัวยาล (Kir Royale) กลางฤดูร้อนของปารีส หรือแม้แต่เป็นซีซั่นสุดท้ายของเราทุกคนที่จะเห็นฤดูกาลต่างๆ พัดพาเครื่องดื่มประจำฤดู การเฉลิมฉลอง การเพาะปลูก และความเคลื่อนไหวของชีวิตหมุนเวียนมาตามปกติ  แต่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นี่ไม่ใช่ซีซั่นสุดท้ายและคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้ ผ่านการผลักดันงานรณรงค์ปกป้องสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องรัฐบาลแต่ละประเทศให้มีนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็ง

ลงชื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ให้หยุดฟอกเขียว เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ