ในช่วงปีที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสได้คุยกับผู้คนมากมายที่มีแนวความคิดมุ่งมั่นที่อยากจะลดปัญหาขยะพลาสติกโดยที่แต่ละคนก็มีแนวทาง วิธีการ ความคิด พฤติกรรมที่แตกต่างกัน วันนี้เราเลยอยากพามาทำความรู้จักกับคนเหล่านี้กัน

ใบเตย ปัทมาสน์ ชนะรัชชรักษ์ เป็นคนหนึ่งที่เริ่มลดใช้พลาสติก โดยเริ่มจากการลดใช้หลอด “ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยนะ จนกระทั่งวันหนึ่งเล่นเฟซบุ๊กแล้วไปเจอคลิปคนดึงหลอดพลาสติกออกจากจมูกเต่า แล้วน้องเลือดไหล จิตตกเลยว่ากะไอ้แค่หลอดที่เราโยนทิ้งมันสร้างปัญหาขนาดนี้เลยหรอ แล้วที่ผ่านมาเราโยนทิ้งไปแล้วกี่อัน หลังจากนั้นมาเลยเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อันไหนที่ลดได้ก็ลด อันไหนที่เลิกได้ก็เลิก แต่เราปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง มันจะได้ทำแล้วไม่เหนื่อย” นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สามารถช่วยขยายผลส่งต่อกันไปได้เรื่อย ๆ จะเห็นได้เลยว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากเราคิดว่าการแก้ปัญหานั้นต้องเริ่มที่ตัวเรา

ใบเตยยังพยายามปรับการเปลี่ยนนี้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเอง คือเธอเป็นคนชอบสะพายกระเป๋าใบเล็กบางครั้งจะพับถุงหูหิ้วซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ อย่างรถยนต์ที่ใช้ หรือกระเป๋าใบที่ใช้บ่อย ๆ เพื่อที่ว่าเวลาซื้อของแล้วเราจะได้ไม่ต้องขอถุงพลาสติกใหม่และไม่สร้างขยะเพิ่ม และใช้ซ้ำวนไปเรื่อย ๆ 

ใบเตยจะพยายามใช้ถุงพลาสติกใบเดิมให้ได้มากที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างขยะใหม่ ฟังแล้วก็ดูเป็นวิธีที่น่าสนใจสำหรับมือใหม่ที่ต้องการหันมาลดใช้พลาสติก


ชมพูพิชญา สายบุญยาดิษฐ์  (ษา) เดิมที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่พอยิ่งได้ดูภาพยนตร์สารคดีที่กรีนพีซจัดฉายขึ้นอย่างเรื่อง The Story of Plastic ก็ทำให้ษาเห็นภาพมากขึ้นว่าหากต้องการหยุดปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นอยู่ทุกมุมโลกในตอนนี้นั้น ต้นทางการผลิตก็ต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมากเช่นกัน ไม่ใช่การจัดการแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างการแยกขยะ หรือการเริ่มต้นลดใช้พลาสติกที่ตัวเองเพียงอย่างเดียว 

“หากเปรียบเทียบผู้ผลิตเป็นก๊อกน้ำที่คอยป้อนพลาสติกให้กับผู้บริโภค จะง่ายกว่าไหมหากเราปิดก๊อกน้ำตั้งแต่แรก ถึงทุกวันนี้ ษาจะพยายามแยกขยะ หรือปรับวิธีการซื้อของให้มีสติมากขึ้น (conscious consumer) แล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ผู้ผลิตไม่หยุดหรือเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากกว่านี้ การพยายามตักน้ำที่ล้นออกจากถังนั่นคือการกระทำที่ไร้ซึ่งประโยชน์”


ดนยารัตน์ บุญญฐี (แพร) ประโยคยอดฮิตอย่าง“พลาสติกรีไซเคิลได้” แพร ดนยารัตน์ บุญญฐีได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจมากว่า “ตอนนี้คนเข้าใจว่าพลาสติกทุกชนิดรีไซเคิลได้แม้จะไม่ใช่ความจริง แต่ไม่ใช่ความผิดของคนที่ไม่รู้ แต่คนที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนต่างหากที่เป็นคนผิด เพราะชุดข้อมูลที่กำลังถูกใช้ในการรณรงค์อยู่ ณ ขณะนี้ยังให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและไม่ครอบคลุม เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่” 

ในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็เริ่มมีความตระหนักแล้วว่ามีปัญหาพลาสติกเกิดขึ้น แต่ทำไมปัญหาพลาสติกดูไม่มีท่าทีจะลดลงแม้แต่น้อยหรือความจริงแล้วเรากำลังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

ดูเหมือนชุดความคิดที่ว่า “การรีไซเคิลจะทำให้ปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นลดลง” นั้น เป็นเพียงแค่หนทางหนึ่งเท่านั้น แพรเล่าต่อว่าการแก้ไขปัญหาพลาสติกต้องทำมากกว่าการแยกขยะแล้วส่งไปรีไซเคิล ก่อนหน้านี้ นโยบายงดแจกถุงพลาสติกจากภาครัฐทำให้คนโฟกัสผิดจุดและเข้าใจว่า ถ้าเราไม่รับถุงก็สามารถลดปัญหาพลาสติกได้แล้ว ทั้งที่ความจริงการไม่รับถุงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่เราทุกคนต้องทำและเราทุกคนในที่นี้หมายถึงผู้บริโภค รัฐ และภาคธุรกิจที่ต้องร่วมมือด้วย

ภาคธุรกิจเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่ต้องร่วมมือเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาพลาสติก ถ้ามองจากความเป็นจริงแล้ว การซื้อขายสิ่งของที่เกิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่แพ็คมาด้วยพลาสติกแล้วเรียบร้อย ผู้บริโภคมีทางเลือกไม่มากนัก

“เรามองว่าสินค้าถูกผลิตมาจากใครคนนั้นควรมีส่วนรับผิดชอบ เขาอาจมีโจทย์ที่จะต้องคิดมากกว่าคนอื่น คือการทำธุรกิจมีเรื่องกำไร ขาดทุนอยู่แล้ว ทีนี้ต้นทุนที่เคยคิดกันมาตลอดอาจไม่ได้รวมการจัดการผลิตภัณฑ์หลังใช้งานและการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีทรัพยากรมาผลิตต่อไปรวมอยู่ด้วย ซึ่งสุดท้ายถ้าเขาไม่ปรับอะไรเลย ทรัพยากรที่นำมาใช้จะหมดไปและพังไปทั้งหมด”

อ่าน พลาสติก 102 : ความลับของระบบรีไซเคิล ได้ที่นี่เลย


วรัญญู บุญสิทธิ์ (โบ๊ท) เล่าให้ฟังว่าเดิมทีตนอยากให้เพจ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ เป็นเหมือนสมุดภาพบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ช่วงแรกที่ไปเก็บขยะกับเพื่อน ๆ แล้วมาโพสต์ลงมีคนมาคอมเมนต์ในเชิงว่าโพสต์ทำไม แต่พอระยะเวลาผ่านไปกลายเป็นว่าหลัง ๆ มีแต่คนทักมาบอกว่ามีขยะอยู่ที่ไหนแล้วอยากให้เราไปเก็บ เราเก็บได้ แต่ในใจก็ตั้งคำถามว่าแล้วต้องเก็บขยะพวกนี้ไปถึงเมื่อไหร่ ความจริงแล้ว คนที่มีหน้าที่จัดการกับปัญหาขยะเหล่านี้คือรัฐหรือเปล่า

“ห้าปีกว่าแล้วตั้งแต่ทำเพจ ขยะมรสุม มา เมื่อก่อนเราพูดเท่าไหร่ก็ไม่มีใครสนใจ แต่พอมีคนให้ความสนใจมากขึ้น แค่เราโพสต์ภาพพื้นที่ที่มีขยะ ปัญหาตรงนั้นก็ถูกจัดการอย่างรวดเร็ว เงินทุกบาทที่เราเสียภาษีควรถูกนำมาใช้จัดการกับปัญหาขยะอย่างถูกต้องและรัฐควรทำหน้าที่ของตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอก ถ้าเราอยากจะแก้ปัญหา เราต้องยอมรับก่อนว่าปัญหานั้นมีอยู่จริง”


และสุดท้ายนี้กับว่าที่นักกฎหมายอย่าง สมายล์ เสาวลักษณ์ กระจัดกลาง บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเรามักได้ยินวลีคุ้นหูว่า “เริ่มที่ตัวเอง” แต่ตัวเองในที่นี้อาจเริ่มต้นจากรัฐหรือไม่ รัฐควรเป็นแขนขาให้กับคนที่ต้องการแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้น 

“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาใดมักเกิดมาจากโครงสร้างระบบที่ผิดพลาด รัฐคือคนที่มีอำนาจในมือและสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะรัฐคือตัวแทนของพวกเราทุกคนและพวกเราทุกคนที่ต้องการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ต้องการรัฐซึ่งเป็นฟันเฟืองใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อน หากรัฐสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำไมคนตัวเล็ก ๆ ล้านคนที่เห็นตรงกันว่าอยากแก้ปัญหานี้จะไม่สนับสนุน”

ทางออกของวิกฤตมลพิษพลาสติกนั้นควรร่วมแก้ไปพร้อมกันทุกภาคส่วนทั้งตัวเรา ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้า และภาครัฐที่มักออก Road map ต่าง ๆ มากมายแต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนไปเรื่อย ๆ ไม่ทำตามแผนที่วางไว้

นี่เป็นเรื่องราวอีกหนึ่งมุมเล็ก ๆ ที่หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนให้มาลดใช้และใส่ใจกับปัญหาพลาสติกมากขึ้น

อ่านเรื่องราวปัญหามลพิษพลาสติก กับบทบาทของผู้ผลิตที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมได้ที่นี่ >> https://act.gp/3xnNPD4

#BreakFreeFromPlastic