เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา การประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ UN Convention on Biological Diversity (CBD COP15) จบลงเป็นที่เรียบร้อยพร้อมกับมติข้อตกลง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ความตกลงคุนหมิง – มอนทรีออล และแม้ว่าข้อตกลงนี้จะเป็นข้อตกลงสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพแต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานอย่างหนักเพื่อป้องกันโลกไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เท่านั้น

ภาพการเดินรณรงค์ของประชาชนหลายร้อยในเมืองควิเบค เมื่อ 10 ธันวาคม 2022 แคนาดา นำโดยผู้นำจากกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อกลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมประชุมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 พวกเขาร่วมแสดงพลังให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนน้ำผืนป่า คือกลุ่มคนสำคัญที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลก และกลุ่มผู้นำแต่ละประเทศจะต้องเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและปกป้องพวกเขาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม © Greenpeace / Toma Iczkovits

ความตกลงนี้สำคัญอย่างไร?

ในเอกสารการเจรจาตระหนักถึงการทำงานของชนพื้นเมือง ด้วยความรู้และภูมิปัญญาที่สั่งสมมา กลายเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพสำหรับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าชนพื้นเมืองจะเป็นประชากรเพียง 5% ของโลก แต่พวกเขากลับเป็นผู้ปกป้องระบบนิเวศในผืนป่าและน้ำของโลกกว่า 80% และจากปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (the UN Declaration on the rights of Indigenous Peoples) ก็ระบุชัดแล้วว่า การพัฒนาความตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล จะต้องเคารพต่อพื้นที่ของชนพื้นเมือง ทั้งสิทธิและความเป็นอิสระ รวมทั้งการกระทำใดๆในพื้นที่ของชนพื้นเมืองจะต้องแจ้งให้ทราบและต้องได้รับความยินยอมจากชนพื้นเมืองด้วย

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือชนพื้นเมืองจะต้องมีส่วนร่วมในแผนงานและต้องมีสิทธิในการตัดสินใจร่วม นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ตั้งแต่นี้ไปการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่นำโดยชนพื้นเมืองจะต้องเป็นรูปแบบพื้นฐาน หากเราต้องการปกป้องธรรมชาติของโลกอย่างแท้จริง

ภาพแถลงข่าวของเครือข่ายกลุ่มชนพื้นเมืองระดับโลกที่จัดขึ้นสอดคล้องกับการประชุม CBD COP15 ที่โรงแรม Hotel10 โดยมีตัวแทนจากชนพื้นเมืองใน บราซิล แคนาดา คองโก แคเมอรูน และอินโดนีเซีย ร่วมกันแถลงข่าวยื่นข้อเรียกร้องให้โลกปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นฐานสิทธิชนพื้นเมือง โดยต้องให้กลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่มีส่วนในการตัดสินใจมากกว่าให้สิทธิ์ทั้งหมดกับกลุ่มอุตสาหกรรม © Toma Iczkovits / Greenpeace

แล้วอะไรที่ไม่เวิร์ค?

การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะต้องปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทั้งบนผืนดินและผืนน้ำอย่างน้อยส่วนละ 30% (ข้อมูลจากหลายแหล่งจึงเรียกเป้าหมายดังกล่าวว่า 30 x 30) ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงการระงับหรือการแบนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่ต้องปกป้อง ซึ่งหากไม่มีการเจาะจงกิจกรรม ก็อาจทำให้เป้าหมายเสี่ยงที่จะล้มเหลวและกลายเป็นเอกสารตัวเลขแต่ไม่มีประสิทธิภาพพอจะนำไปใช้ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในเอกสารการเจรจากลับพูดถึง แผนงานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแผนการเป็นธุรกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอน ที่อาจทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เข้าไปแสวงหาผลกำไรจากความหลากหลายทางชีวภาพและยังสามารถทำลายธรรมชาติต่อไปได้ การแก้ปัญหาแบบนี้มีแต่จะเป็นการฟอกเขียว (greenwashing) ซึ่งอาจกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวก็เป็นได้

และในประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการเจรจาด้านเงินทุนสนับสนุนก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด เนื่องจากแม้ว่าจะมีคำมั่นสัญญาตั้งกองทุนแล้ว แต่การสนับสนุนด้านการเงินยังมีช่องว่างในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาสนับสนุนการปกป้องระบบนิเวศโลก รวมทั้งยังต้องการความรวดเร็วในการปกป้องระบบนิเวศอีกด้วยเพราะยิ่งได้รับเงินสนับสนุนช้า การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเป็นไปอย่างช้า ๆ

ภาพจากคลิปวิดีโอของกรีนพีซที่ชื่อว่า 300 drones, 1 message: Act Now โดยคลิปดังกล่าวสื่อสารข้อความถึงเหล่าผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุม G7 ในคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร 11-13 มิถุนายน 2021 เรียกร้องให้พวกเขาแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนและลงมือทำอย่างจริงจัง © Greenpeace

ก้าวต่อไปของการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

การประชุม CBD COP15 ครั้งนี้จบลงด้วยการบ้านที่สำคัญอย่างยิ่งให้กับกลุ่มผู้นำโลกในการปกป้องธรรมชาติ โดยมีมติสำคัญเช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านการเงินในปี 2023 เงินที่ได้รับจะนำไปให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับชนพื้นเมืองเพื่อปกป้องระบบนิเวศ การปกป้องและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการปกป้องพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเป้าหมาย 30×30 ที่เกิดขึ้น จะทำให้ สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) หรือการปกป้องมหาสมุทร ที่จะเริ่มเจรจาอีกครั้งในการประชุม IGC5 เดือนกุมภาพันธ์ 2023 มีความเป็นไปได้มากขึ้น

การประชุมเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 16 หรือ CBD COP16 จะจัดขึ้นอีกครั้งในปี 2024 ที่ตุรกี ซึ่งหลังจากนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องตื่นตัวและลงมือปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพตามที่ได้ให้สัญญาไว้ในมอนทรีออล