ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ในยุค Post covid-19 ประเทศไทยเองก็มูฟออนผ่อนคลายมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเช่นเดียวกับสถานการณ์โลกที่หลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตกันเกือบปกติแล้ว นั่นทำให้เราสามารถขับเคลื่อนงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามในปีนี้ก็เป็นปีที่โลกต้องพบกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง พายุรุนแรงที่เป็นเหตุให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน หรือจะเป็นข่าวการประท้วงจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศที่เรียกร้องให้รัฐบาลของพวกเขาเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อยับยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะรุนแรงกว่าเดิมในอนาคต

Global Climate Strike 2022 in Jakarta.
Activists march during Global Climate Strike in Jakarta. Greenpeace Indonesia joins the Climate Pause Coalition which includes environmental organizations, cross-sectoral civil society organizations, and communities, including marginalized communities and individuals who feel it is important to collectively voice the climate crisis, which is a real threat to the earth’s population today and its impact on the safety of society, especially vulnerable and marginalized groups.

ด้วยกระแสเหล่านี้ทำให้ปีนี้เกิดการพูดคุยและถกเถียงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในเชิงโครงสร้างมากขึ้นในโซเชียลมีเดียอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นการตื่นรู้ของผู้คนที่เชื่อมโยงได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นประเด็นแยกส่วนออกจากเรื่องอื่น ๆ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่น ๆ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน และการบริหารจัดการบ้านเมือง รวมถึงการออกนโยบายที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการปกป้องหรือถูกทำลาย รวมทั้งยังเป็นปีเดียวกันที่คำว่า ‘ฟอกเขียว (Greewashing)’ กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

หลังจากที่เราสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนช่วงครึ่งปีแรก (ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย สามารถอ่านได้ในบทความ ‘สรุปสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนครึ่งปี 2565 – วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกว่าเดิม และการรณรงค์ให้หยุด ‘ฟอกเขียว’ จากทั่วโลก’) และก่อนจบปี 2565  เราได้สรุปสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจเพื่อให้ทุกคนได้อัพเดทประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจากไทยและทั่วโลก

1. บทสรุปจาก COP27 กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว

ปี 2565 เป็นอีกหนึ่งปีที่ไทยและหลายประเทศในเอเชียต้องเจอกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจากปรากฎการณ์ลานีญาที่รุนแรงทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงพายุฤดูร้อนและไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม ภัยพิบัติในรูปแบบนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ ชีวิต และสังคม โดยข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ที่เปิดเผยสถิติการเกิดพายุในแถบแปซิฟิกตะวันตกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (ปี 1970 – 2020) แสดงให้เห็นว่ามีพายุและซูเปอร์ไต้ฝุ่นเกิดขึ้นในเอเชียบ่อยครั้งกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

ในเดือนสิงหาคม พายุหมุนเขตร้อน ‘มู่หลาน’ พัดขึ้นชายฝั่งที่กวางตุ้ง และพัดผ่านมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ชายแดนเมียนมา และทางตอนเหนือของลาว ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและมีดินถล่มในบางพื้นที่ ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากพายุเช่นกัน โดยมีผู้ได้รับผลกระทบใน 11 จังหวัดและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมเนื่องจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน และในปีเดียวกันนี้เองที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องเผชิญกับ ไต้ฝุ่นโนรู ที่สร้างความเสียหายในฟิลิปปินส์ เวียดนาม และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกตคือ ไต้ฝุ่นโนรู กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น

อีกด้านหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและยังเป็นภูมิภาคที่ปีนี้ยังเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP27 นั่นคือภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดย COP27 จัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์ ซึ่งกรีนพีซเผยแพร่รายงาน ‘ชีวิตที่เสี่ยงภัย : ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศใน 6 ประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ’ ของห้องปฏิบัติการวิจัยกรีนพีซที่มหาวิทยาลัย Exeter สหราชอาณาจักร ระบุว่า ระบบนิเวศและผู้คนที่อาศัยอยู่ในอัลจีเรีย อียิปต์ เลบานอน โมรอคโค ตูนีเซีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังพบกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือ MENA (Middle East & North Africa) ว่ามีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบสองเท่าจากค่าเฉลี่ยโลก ทั้งยังตกอยู่ในความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง

Farmers' Protest in Gerona, Philippines.
In the wake of Super Typhoon Karding, farmers in Tarlac protested, alongside activists from Rice Watch Action Network and Greenpeace Philippines, in a storm damaged farm to call for Loss and Damage finance, a month ahead of COP27, the UN climate talks. Around 20 farmers and advocates held a banner in the middle of a damaged rice field in Brgy Lagumbao with the message: “TO CLIMATE POLLUTERS: PAY UP FOR LOSS & DAMAGE.” The groups are calling on nations who are historic emitters to pay for the political, social, and financial costs of the climate harm they created to heavily impacted nations. The communities expressed this call, along with local demands for a transition to renewable energy and better prices for agricultural products, through placards. As of writing, the Karding’s agricultural damage reached approximately PHP 3.12 billion.

กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ บทสรุปจาก COP27

หลังการประชุมCOP27 จบลง ก็ได้ข้อสรุปสำคัญอย่างเช่นการตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเงินทุนที่จะต้องนำมาให้กองทุนจะไม่ได้เป็นแค่เพียงเงินชดเชยความสูญเสียและเสียหาย แต่จะต้องเป็นเงินที่นำมาสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการปรับตัวและสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ 

Climate Strike at COP27.
Climate champions show solidarity with communities who are experiencing climate impacts in the global south. Campaigners demand that polluting companies and countries pay their fair share to repair climate damage.

อย่างไรก็ตาม การประชุม COP27 ครั้งนี้กลับถูกละเลยประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเจ้าภาพอย่างอียิปต์ที่เป็นประธานในการจัดการประชุม ในขณะที่กลุ่มประเทศจำนวนมาก ทั้งจากประเทศทางแถบซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ร่วมกันสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงปารีสในการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายถึงการชะลอไม่ให้โลกต้องเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม 

People's Climate Strike in Quezon City.
As world leaders convene at COP27 and at the G20 summit: Civil society organizatione holds “People’s climate strike” through a scorching day at Quezon City Memomrial Circle Philippines. The climate strike consist of various climate org including Greenpeace South East Asia as they march around the highway.

แต่การไม่พูดถึงประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งประเด็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเข้ามาพบปะกับกลุ่มผู้นำประเทศ และประเด็นอื้อฉาวเกี่ยวกับการลงนามให้ โคคา-โคลา ผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่ที่สุดเป็นผู้สนับสนุนการประชุม ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายชุมชนและกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมที่เต็มไปด้วยการฟอกเขียว

หลังการเจรจาอย่างเข้มข้น ต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อมลพิษอุตสาหกรรมฟอสซิลจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนกระทั่งก็มีการตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายในนาทีสุดท้าย แต่แม้ว่ากองทุนดังกล่าวจะเป็นชัยชนะก้าวหนึ่งต่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ การประชุมเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศไม่อาจประสบความสำเร็จได้เลยหากทั่วโลกยังไม่ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและผลักภาระรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษออกไปอีกหนึ่งปี และแน่นอนว่า COP27 ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่จะสร้างแรงกดดันให้กับการประชุม COP28 ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า

‘ไม่มีเศรษฐกิจที่โต บนโลกที่ตาย’ การประชุม APEC กับโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยไทยที่เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมกังวลว่าจะเป็นโมเดลฟอกเขียว

ในช่วงเวลาเดียวกันกับการประชุม COP27 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022  ซึ่งมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระการประชุมหลักของการประชุมที่มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาวิฤตสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตามทั้งเครือข่ายและองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมต่างเห็นข้อบกพร่องและช่องโหว่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยอาจใช้สิ่งแวดล้อมเป็นกลลวงในการฟอกเขียว โมเดลดังกล่าวละเลยไม่กล่าวถึงภาระความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเชื้อเฟลิงฟอสซิลและผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แทนที่จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และเป็นธรรม อีกทั้งยังสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากขยะ (โรงไฟฟ้าขยะ) เป็นต้น และออกระเบียบหรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรคาร์บอนเครดิตแก่เอกชนผู้ลงทุนปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งหากยังดำเนินการต่อไปจะนำไปสู่การบังคับขับไล่ชุมชนออกจากที่ดินทำกิน ทำให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาผืนดินและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นอาชญากรทางสิ่งแวดล้อม

นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ส่งข้อความถึงบรรดาผู้นำประเทศที่กำลังจะเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก หรือ เอเปค 2565 ในสัปดาห์หน้า นักกิจกรรมชูป้ายผ้าที่มีข้อความ “เอเปก ต้องหยุดฟอกเขียว” และ “ผู้ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย” ในบริเวณบึงน้ำของสวนเบญจกิติซึ่งใกล้กับอาคารจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27

ในกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกรีนพีซ ประเทศไทย เมื่อ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรีนพีซได้ชี้ให้เห็นถึงคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยชนชั้นนำและกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง(oligarch) ที่ดำเนินธุรกิจที่ห่างไกลจากคำว่ายั่งยืน และมักทำการฟอกเขียวเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตนก่อขึ้นอีกด้วย

2.สถานการณ์พลังงานในปี 2565 ที่เชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังถูกปฏิเสธ

ท่ามกลางสถานการณ์ด้านพลังงานที่แปรปรวนไปทั่วโลกเนื่องจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน และแม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหาแหล่งผลิตพลังงานในระยะสั้น แต่ในปีนี้ก็ยังเป็นปีที่หลายประเทศมีนโยบายลงทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงาน นอกจากนี้ยังเป็นปีที่กลุ่มนักกิจกรรมที่สนับสนุนการลด ละ เลิก ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ทั่วโลกต่างลุกขึ้นมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สามารถทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรพลังงานได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ทั้งกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่ม Just Stop Oil ในสหราชอาณาจักร กลุ่มนักกิจกรรมที่คัดค้านการแสวงหาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในแอฟริกา Don’t Gas Africa กลุ่มนักกิจกรรมชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ Indigenous Environmental Network รวมทั้งการขับเคลื่อนของชุมชนในไทยอย่างการฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยอีกด้วย 

COP 27_Don't Gas Africa Event.
Don’t Gas Africa Event during COP27. Campaigners call for an end to fossil-fuel-induced energy apartheid in Africa and ask to scale up cost-effective, clean, decentralized, renewable energy to end energy exclusion and meet the needs of Africa’s people.

เรียกได้ว่าการคัดค้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและสนับสนุนให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนเป็นการขับเคลื่อนประเด็นระดับโลก

เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหามลพิษทางอากาศยังน่าห่วง

ในวันที่ 7 กันยายนของทุกปี เป็นวันสากลเพื่ออากาศสะอาดสำหรับท้องฟ้าสดใส (the International Day of Clean Air for blue skies) กรีนพีซ อินเดีย ถือโอกาสนี้เผยแพร่รายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” (Different Air Under One Sky: The Inequity Air Research) การศึกษาในรายงานฉบับนี้พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสุขภาพสากลที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก โดยอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับฝุ่น PM2.5 สูงกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีขององค์การอนามัยโลก กว่า 5 เท่า

ในไทย ประชากร 100% ที่อยู่ในประเทศได้รับฝุ่น PM2.5 มากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก เด็กทารกและผู้สูงอายุมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงเกินกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า

การประท้วงเรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมยื่นแถลงการณ์ “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” ถึงนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและเร่งด่วน
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของไทยมีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องประกาศใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) และระบุให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในรายชื่อสารที่ภาคอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลการปล่อยสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ได้

ประเทศไทย ทำไมค่าไฟแพงขึ้นเรื่อยๆ!

“ทำไมค่าไฟแพง?” คำถามสั้นๆที่เชื่อว่าทุกคนวนมาคิดทุกสิ้นเดือน ก่อนหน้านี้ กกพ.เตรียมขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT)  อีกครั้งในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565  ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าดีดตัวขึ้นไปที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ดันค่าครองชีพคนไทยให้สูงขึ้นอีก เหตุผลที่พอจะอธิบายการขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้ได้ก็มีอยู่หลายปัจจัย เช่น ประเทศไทยมีการนำเข้าเชื้อเพลิงมาจากต่างประเทศ เมื่อเกิดความผันผวนอย่างสงครามรัสเซีย – ยูเครนเกิดขึ้น ก็อาจทำให้ราคาผันผวนตามสถานการณ์ แต่ปัจจัยที่ดูเป็นประเด็นน่าถกเถียงจะอยู่ที่

  1. ค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งเกิดจากจากคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้ากี่เมกะวัตต์ แล้วจะสำรองไฟฟ้าในระบบกี่เมกะวัตต์ ปกติแล้วจะมีการสำรองไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ที่ 15% แต่ตามข้อมูลเดือนเมษายน 2564 ประเทศไทย สำรองไฟฟ้าในระบบราว 55 %! ซึ่งการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินแต่ไม่ได้ใช้ (เพราะเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด Peak Demand ไปมาก) ก็จะถูกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายด้วย
  1. สัญญาซื้อขายไฟระหว่างรัฐกับผู้ผลิตเอกชนเป็นสัญญาบังคับซื้อที่เรียกว่า ‘สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment)’ หรือ ภายใต้เงื่อนไขแบบ “Take or pay – ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” สัญญาชนิดนี้มีการประกันกำไรให้ผู้ผลิตเอกชนที่ผูกขาดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แม้ว่าราคาเชื้อเพลิงจะผันผวน หรือแม้ไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าก็จะได้เงินตามเดิม ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ฟันกำไรมหาศาล 

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐไม่เคยบอกเราคือค่าไฟแพงเพราะผู้กำหนดนโยบายวางแผนการผลิตไฟฟ้าผิดพลาดทำให้ไฟฟ้าล้นระบบ และค่าไฟฟ้าที่ล้นเกินเหล่านี้บวกกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ผูกขาด และประชาชนคือกลุ่มคนที่แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

3. ขยะพลาสติก ผู้ก่อมลพิษหลัก และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่ถูกเปิดโปง

แม้ว่าเราจะเห็นความพยายามในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายแบนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว รวมทั้งแผนนโยบายที่จะลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในหลายประเทศ การนำเสนอเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกแต่เน้นที่การรีไซเคิล หรือแม้กระทั่งมีการเจรจาเพื่อให้เกิด สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) ก็ตาม 

แต่ล่าสุดรายงาน Global Commitment 2022 Progress Report จากมูลนิธิเอเลน แมค อาร์เธอร์ (EMF) ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก ซึ่งตั้งไว้ในปี 2568 โดยรายงานระบุว่า เป้าหมายในการนำพลาสติกทั้งหมดมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือต้องย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2568 แทบจะไม่สำเร็จแน่นอนแล้ว ขณะเดียวกัน ตัวเลขการใช้พลาสติกใหม่ยังเพิ่มสูงขึ้นเทียบเท่าปี 2561

Action at Coca-Cola Bottling Plant in Austria. © Mitja  Kobal / Greenpeace
Greenpeace activists stage a plastic spill at bottling plant in Austria asking coke to switch to reusable bottles instead of single-use. Banner says “Stop the plastic flood” © Mitja Kobal / Greenpeace © Mitja Kobal / Greenpeace

รายงานของ EMF ยังวิพากษ์วิจารณ์คำสัญญาของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ที่ร่วมกันลงนามเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษพลาสติก ดังนั้นรัฐบาลต้องรับประกันว่า สนธิสัญญาโลกเพื่อแก้ปัญหาพลาสติกจะช่วยลดการผลิตและการใช้พลาสติกลง ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นธรรมเพื่อปกป้องชุมชนและสภาพภูมิอากาศ

สถานการณ์โลกข้างต้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในไทยที่ปัญหาขยะพลาสติกยังเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง โดยกรีนพีซและอีกหลายเครือข่ายองค์กรเริ่มรณรงค์ให้รัฐและบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ต้องลดพลาสติกที่ต้นทาง แทนการผลักภาระมาให้ผู้บริโภคต้องคอยลดใช้และแยกขยะเองอย่างที่เคยทำ โดยนำเสนอหลักการ EPR หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) ซึ่งเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การกระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด

แบรนด์ CP ผู้ผลิตแบรนด์ในไทยที่พบขยะมากที่สุดจากการทำกิจกรรมสำรวจแบรนด์ (Brand Audit) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

จากการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยอาสาสมัครของกรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่าย พบขยะจากแบรนด์ในประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น และเรียกร้องให้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าในไทยตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืน การใช้ซ้ำ และรีฟิลโดยการนำภาชนะใช้ซ้ำไปเติมสินค้า ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

ส่วนแบรนด์ข้ามชาติที่พบขยะพลาสติกมากสุด 5 อันดับแรกในช่วงเวลา 5 ปี คือ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, และอาเจไทย ตามลำดับ ลักษณะผลิตภัณฑ์ที่พบมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวด ฝาขวด ฉลาก และหลอด เป็นต้น การเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก คือการขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในระดับใหญ่ เราหวังว่าข้อมูลที่รวบรวมมานี้จะช่วยระบุต้นทางของขยะพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม บริษัทและเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ จะต้องเริ่มต้นลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดวงจรชีวิตพลาสติกและห่วงโซ่อุปทาน

ผลกระทบจากอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และการทำธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของแบรนด์เสื้อผ้า SHEIN

แม้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังหลายแบรนด์จะยืนยันว่าโมเดลธุรกิจของพวกเขายั่งยืน แต่ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานของเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น ส่งขยะเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เสื้อผ้าเหล่านั้นกลายเป็นปัญหาขยะที่ล้นเกินต่อกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่ระบบการจัดการขยะยังไม่สามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือมลพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

จากรายงานล่าสุดของ Unearthed เปิดโปงถึงการพบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากแบรนด์ ไนกี้ (Nike) ราล์ฟ ลอว์เรน (Ralph Lauren) ดีเซล (Diesel) และแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอีกหลายแบรนด์ที่เตาเผาในประเทศกัมพูชา แน่นอนว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเหล่านี้ส่วนมากจะมีส่วนผสมของใยโพลีเอสเตอร์ หรืออีกนัยหนึ่ง การเผาเสื้อผ้าเหล่านี้ก็คือการเผาใยพลาสติกและสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ส่งผลกระทบต่อพนักงานซึ่งพวกเขามีโอกาสได้รับสารพิษจากการเผาพลาสติกรวมถึงเส้นใยไมโครพลาสติกด้วย

Textile Offcuts Cambodia.
ภาพเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2022 – พนมเปญ (กัมพูชา) พ่อค้าคนกลางนั่งอยู่ท่ามกลางถุงใส่ขยะเสื้อผ้าภายในโรงเก็บเชื้อเพลิง ในโรงงานเผาอิฐบริเวณชานเมืองของพนมเปญ © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

เศษเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งจากโรงงานผลิตในกัมพูชาเชื่อมโยงไปถึงห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องประดับชื่อดังสัญชาติยุโรป รวมถึง แบรนด์ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) และ ไมเคิล คอร์ (Michael Kors) โดยขยะสิ่งทอเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงในธุรกิจเตาเผาอิฐ ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน โรงงานเหล่านี้จะถูกปกคลุมไปด้วยควันสีดำเพราะเชื้อเพลิงที่เป็นเศษเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานที่ทำงานในโรงเตาเผาอิฐ มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการสัมผัสสารพิษเหล่านี้ เช่น อาการไอ มีไข้ เลือดกำเดาไหล และภาวะปอดอักเสบ

Textile Offcuts Used as Fuel, Cambodia.
A woman loads garment offcuts into a brick kiln located in Kandal Province, Cambodia. © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาแล้ว ยังมีข้อมูลอื้อฉาวที่น่าจับตามองอย่างกรณีพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสินค้าของแบรนด์แฟชั่น SHEIN ธุรกิจของ SHEIN เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการทำการตลาดด้วยดีไซน์เสื้อผ้านับพันรูปแบบกับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มเด็ก ผ่านโซเชียลมีเดียทุก ๆ วัน ดังนั้นการผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ต้องผลิตในปริมาณมหาศาลภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ซึ่งเสื้อผ้ามหาศาลเหล่านี้ถูกผลิตจากหลายโรงงานในจีน 

นอกจากนี้ยังมีโมเดลการขายแบบตัดราคาคู่แข่งด้วยการผลิตที่เร็ว ต้นทุนต่ำ คุณภาพต่ำและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วทิ้ง นี่คือโมเดลการผลิตเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นแบบสุดโต่งนำไปสู่ปัญหาขยะสิ่งทอ นอกจากนี้ภายใต้โมเดลธุรกิจดังกล่าวยังมีรายงานว่าพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่การผลิตหลายครั้งด้วย

Laboratory Tests of SHEIN Textiles.
On behalf of Greenpeace, textiles from the mail order company SHEIN are tested for toxic substances such as volatile organic compounds (VOC) at the Bremen Environmental Institute, Gesellschaft für Schadstoffanalysen und Begutachtung mbH. Preparation of the samples by crushing and analysis.

ล่าสุด สหภาพยุโรปกำลังร่างนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของสิ่งทอใหม่ ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นโปร่งใสในด้านการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งสหภาพยุโรปจะต้องมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของฟาสต์แฟชั่นด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่เกิดกับสังคมทั่วโลก 

แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเองก็จะต้องแก้ปัญหาสินค้าที่ถูกผลิตออกมาจนล้นเกินจนกลายเป็นขยะและจะต้องหยุดเอาเปรียบประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบซีกโลกใต้ โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอจะต้องหยุดการทำธุรกิจแบบฟาสต์แฟชั่น และจะต้องลดการผลิตเสื้อผ้าให้น้อยลง อีกทั้งจะต้องทำให้เสื้อผ้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพที่สามารถสวมใส่ได้นานกว่าเดิม รวมทั้งสามารถซ่อมแซมได้

4.สถานการณ์สิทธิมนุษยชนท่ามกลางอุตสาหกรรมประมงและการปกป้องมหาสมุทรโลก

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการประชุม Intergovernmental Conference on BBNJ หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ เพื่อหาข้อสรุป “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ครั้งที่ 5  (IGC5) เพื่อหาทางปกป้องมหาสมุทรโลกที่กำลังถูกภัยคุกคามจากอุตสาหกรรมในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพ ทะเลหลวงสำคัญต่อโลกและมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดสัตว์น้ำขนาดเล็กที่สุดไปจนถึงขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่มีความจำเป็นต่อระบบนิเวศทางทะเล   และยังช่วยรักษาสมดุลสภาพอากาศของโลก 

สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเลหลวงไม่ว่าจะบนผิวน้ำหรือใต้ทะเลลึกกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบ โครงการทำเหมืองใต้ทะเลในอนาคต และมลพิษพลาสติก ทำให้การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพราะหากหาข้อสรุปไม่ได้ เราจะไม่สามารถปกป้อง 1 ใน 3 ของมหาสมุทรทั่วโลกได้ตามเป้าที่วางไว้ 

จากจะนะ สู่นิวยอร์ก ลูกสาวทะเล ไครียะห์ ระหมันยะเดินทางร่วมประชุม IGC5 บอกเล่าการต่อสู้เพื่อปกป้องจะนะและทะเลบ้านเกิด

Global Oceans Treaty UN Projections in New York.
Greenpeace USA activists project vast video projections with messages calling for ocean protection onto the Guggenheim Museum. Khaireeyah Ramanyah of Thailand is pictured in this part of the message. Governments are meeting for the IGC5 negotiations at the United Nations to negotiate a new Global Ocean Treaty, which will determine the fate of the oceans. The projections urge negotiators to act and finalize the strongest Treaty possible before it is too late.
© Greenpeace

ภาพไครียะห์ ระหมันยะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศไทย ในชุดที่ออกแบบจากดีไซน์เนอร์บ้านเกิด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของจะนะ ถูกฉายที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ร่วมกับนักกิจกรรมจากหลายประเทศ และนักแสดงชื่อนำอย่าง บอนนี่ ไรท์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ จินนี่ วีสลีย์ จากแฮรี่ พอตเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลที่มาประชุมในงาน IGC5 ลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงทันที โดยไครียะห์  ได้รับเชิญจากกรีนพีซสากล ในฐานะนักกิจกรรมปกป้องทะเล มาร่วมประชุม IGC5 ที่นิวยอร์ก หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ เพื่อหาข้อสรุปสนธิสัญญาทะเลหลวง และกำหนด “เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล” ให้ครอบคลุมพื้นที่ 30% ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังหลังการประชุมหารือเพื่อลงมติรับรองสนธิสัญญาทะเลหลวงไปไม่ถึงเป้าหมาย ส่งผลให้แผนการปกป้องมหาสมุทรให้ได้ 30% ภายในปี พ.ศ. 2573 ยังต้องล่าช้าต่อไปอีก แม้เจรจากันมายาวนานกว่า 20 ปี โดยการเจรจาได้ถูกระงับลง ทำให้ต้องมีการจัดการประชุมขึ้นอีกรอบ แต่เวลาในการหาข้อสรุปสนธิสัญญาเพื่อสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลให้ทันปี 2573  ใกล้จะหมดลง เพราะสนธิสัญญาทะเลหลวงจำเป็นต้องได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพื่อให้ทันกรอบเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งไว้ ว่าพื้นที่ 11 ล้านตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรต้องได้รับการปกป้องก่อนปี 2573 

ขณะที่ประเทศอย่างหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและกลุ่มประเทศแถบแคริบเบียนพยายามผลักดันให้สนธิสัญญาลุล่วง แต่ประเทศทางเหนือกลับเพิ่งเริ่มหาทางประนีประนอมในช่วงท้ายของการประชุม รัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขวางการเจรจา โดยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการของสนธิสัญญาและไม่พยายามประนีประนอมกับสหภาพยุโรปและรัฐอื่น ๆ ในประเด็นปัญหาหลายประเด็น

การบังคับใช้แรงงานในทะเลถูกเปิดโปง หลังชาวอินโดนีเซียยื่นฟ้องประธานาธิบดี สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสิทธิคนประมง

ที่ผ่านมา รายงานหลายต่อหลายฉบับระบุว่ายังคงมีแรงงานจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องทำงานบนเรือประมงต่อเนื่องถึง 20 ชั่วโมง และยังคงเผชิญกับการคุกคามทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ปุกัลดิ ซาสวานโต ชาวอินโดนีเซียเป็นแรงงานประมงคนหนึ่งที่ต้องทำงานอย่างหนักบนเรือในเขตทะเลหลวง นอกจากต้องทำงานหนักเป็นเวลากว่า 14 ชั่วโมงในหนึ่งวัน อาหารการกินที่ไม่ได้มาตรฐาน เขาและแรงงานคนอื่นๆต้องอาศัยอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ที่คับแคบและอึดอัด จากประสบการณ์อันเลวร้ายนี้ ปุกัลดิ และ แรงงานประมงอีกสองคนที่ถูกบังคับใช้แรงงานกลางทะเลอีกสองคน ตัดสินใจยื่นฟ้องประธานาธิบดี ข้อหาล้มเหลวในการทำหน้าที่รับรองกฎหมายปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งเมื่อปี 2560 รัฐสภาอินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่มีการประกาศมาตราการกำกับดูแลหรือควบคุมเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานตามกรอบระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีตามที่กำหนด

Three former Indonesian Migrant Fishers are accompanied by lawyer and activists from Greenpeace Indonesia and Indonesia Migrant Worker Union (SBMI) send an Administrative Objection letter that is addressed to President Joko Widodo at the Ministry of State Secretariat office in Jakarta. The letter urges the government to immediately ratify the Draft of Government Regulation (RPP) regarding on the Placement and Protection of Commercial Crews and Fishing Vessel Crews., TIGA MANTAN ABK INDONESIA SURATI PRESIDEN

กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ลงนามบังคับใน ระเบียบรัฐบาล (Government Regulation) ข้อที่ 22/2565 ว่าด้วยเรื่อง ความมั่นคงและความปลอดภัยของการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติบนเรือประมงและลูกเรือประมง (the Placement and Protection of Migrant Trading Vessels Crew and Fishing Vessels Crew)

การลงนามครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการคุกคามสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะในอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางขนาดใหญ่ของแรงงานประมง

อัยการสั่งไม่ฟ้อง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37 คน คดีชุมนุมหน้าทำเนียบ 6 ธ.ค.64 เพื่อทวงสัญญา SEA ที่รัฐบาลเคยให้  แต่ยังต้องจับตากระบวนการ SEA ของสภาพัฒน์

การต่อสู้คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ของเครือข่ายชุมชนจะนะรักษ์ถิ่น ถือเป็นอีกประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน หลังจากเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ชาวบ้านเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อมาพูดคุยและทวงถามสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ว่าจะยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมพร้อมแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่าสุดในเดือนกันยายน อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 37 คน ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้ว 

Chana community members hold a banner ‘Stop threatening Chana people’ during their walk to Dusit police station in Bangkok to hear a police charge in their protest against the proposed industrial projects during Covid-19 emergency decree in December last year.

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายยังคงจับตาการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ของสภาพัฒน์อย่างใกล้ชิด และในเดือนพฤศจิกายน เครือข่ายรวมตัวออกแถลงการณ์โดยมีข้อห่วงกังวลว่าการจัดทำ SEA อาจมีปัญหาเนื่องจากนักวิชาการที่ได้รับคัดเลือกเข้ามากำกับการทำ SEA มีสัดส่วนที่เป็นคนของรัฐ-เอกชน มากเกินไปจนทำให้คณะกรรมการไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยเครือข่ายเสนอว่ากรรมการผู้จัดทำ SEA ควรจะเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจบริบทของพื้นที่มากกว่า

ปฏิบัติการ ‘ทวงคืนน้ำพริกปลาทู’ เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ทวงสัญญาให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 57 ห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

หลังจาก เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 23 จังหวัด รวมตัวเดินเรือจากปัตตานีขึ้นมายังรัฐสภาไทยเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมสัตว์น้ำวัยอ่อน ในภารกิจที่ชื่อว่า “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ซึ่งแสดงถึงความพยายามปกป้อง “ปลาทู” ตัวแทนความมั่นคงทางอาหาร วัฒนธรรม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่กำลังจะสูญหายไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

กระทั่งในเดือนกันยายน เครือข่ายที่นำโดย ปิยะ เทศแย้ม ประธานสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทยและสมาชิก เดินทางสู่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมเจตนารมย์ต้องการพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ​นโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อยื่นข้อเสนอเดิมเกี่ยวกับมาตรา 57 เพราะหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือที่รัฐสภาแล้ว ผ่านมากว่า 90 วันแต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือขอเข้าพบ พล.อ.ประวิตร อย่างไรก็ตาม เครือข่ายถูกตำรวจสะกัดกั้นก่อนที่ขบวนจะไปถึงทำเนียบรัฐบาล และยังไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากการเคลื่อนขบวนในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทรัพยากรทะเลไทยที่ต้องจับตามอง

5.อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ หมอกควันข้ามพรมแดนอาเซียน ไปจนถึงสถานการณ์ป่าแอมะซอน

การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ปรากฎชัดตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค นอกจากจะก่อมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่ส่งผลต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดมากว่าทศวรรษ ซึ่งก็คือ การสูญเสียป่าไปกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มลพิษทางอากาศที่เป็นวิกฤตคุกคามทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยนั้นเป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่ปกคลุมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ในเดือนกันยายน กรีนพีซ ประเทศไทยเปิดตัวรายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย” รายงานศึกษาถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของ ไทย (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอนและพะเยา) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2545-2565) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมทุก 5 ปี (พ.ศ. 2545 2550 2555 2560 และ 2565) มาวิเคราะห์จำแนกการใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดิน ซึ่งพบข้อค้นพบสำคัญบางส่วนในรายงานที่น่าสนใจ อย่างเช่น

  • ช่วงเวลาที่พื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดคือปี 2545-2555 คิดเป็นพื้นที่ 2,176,664 ไร่ 3 จังหวัดที่มีเนื้อที่ของการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ น่าน เชียงราย และแพร่ตามลำดับ
  • พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยขยายตัวสูงสุดเป็น 2,502,464 ไร่ ในปี 2555
  • หลังจากปี 2550 อัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบน ของไทยอยู่ในอัตราค่อนข้างคงที่ 
  • การสูญเสียพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน(ปี 2565) รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9 ล้านไร่ 
  • เนื้อที่รวมการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2545 เทียบกับปี2565 อยู่ที่ 1,926,229 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุด คือ น่าน (590,833 ไร่) รองลงมา คือ เชียงราย (304,776 ไร่) และเชียงใหม่ (260,594 ไร่)

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่นๆ ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน 

สิ่งที่ยังขาดหายไปในกลไกทางกฎหมายและการกำหนดนโยบายคือ ภาระรับผิดของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและการได้ผลประโยชน์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการประกอบธุรกิจ ถึงเวลาที่ภาครัฐ จำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แม้ว่าจะมีความพยายามจัดการประชุมพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 11 (The Eleventh Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region : 11th MSC Mekong) ซึ่งมีเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อน(hotspot)ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai 2017 Plan of Action) ซึ่งประเทศไทยริเริ่มในปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม แต่การประชุมดังกล่าวไม่พูดถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา นั่นคือ การทำลายป่าไม้ที่เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity-driven deforestation) การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Global Forest Watch ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ไม่เพียงแต่ก่อปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดหลักของก๊าซเรือนกระจกที่เร่งเร้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

สถานการณ์ป่าแอมะซอนและสิทธิชนพื้นเมืองในช่วง 4 ปีหลังแอมะซอนถูกทำลายอย่างหนัก และการชนะเลือกตั้งของ ลูลา ผู้ชูนโยบายปกป้องผืนป่าแอมะซอน

ป่าแอมะซอนเป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีบทบาทสำคัญสามารถควบคุมสภาพอากาศโลกได้ นอกจากนี้ป่าแอมะซอนยังเป็นบ้านของชนพื้นเมืองและชุมชนดั้งเดิมซึ่งมีแนวทางการพิทักษ์และดูแลป่า เป็นวิถีที่จะพาเราทุกคนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ ยิ่งไปกว่านั้นป่าแอมะซอนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก

สถาบันวิจัยและอวกาศแห่งชาติของบราซิล (National Space and Research Institute : INPE) เผยแพร่ข้อมูลการทำลายป่าแอมะซอน โดยจากข้อมูลตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564 ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีพื้นที่ป่าถูกทำลายไปเทียบเท่าสนามฟุตบอล 1.6 ล้านสนาม หรือคิดเป็นสนามละ 11.568 ตารางกิโลเมตร 

Fire Monitoring in the Amazon in Brazil in July, 2022.
Porto Velho, Rondônia state. Greenpeace Brazil flew over the Southern Amazonas and Northern Rondônia states, in Brazil, to monitor deforestation and forest fires in the Amazon in July, 2022.

ผืนป่าที่ถูกทำลายในระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุ แต่เป็นเพราะนโยบายของ ฌาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีบราซิลซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2563 – 2565 ทำให้ผืนป่าหายไปทั้งหมด 45,586 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละของพื้นที่ป่าที่หายไปถึง 53% เมื่อเทียบกับข้อมูลในช่วง 4 ปีก่อนหน้าการดำรงตำแหน่ง

ป่าแอมะซอนกำลังเข้าสู่จุดวิกฤตที่ผืนป่าไม่อาจเป็นป่าฝนเขตร้อนได้อีกต่อไป เพราะระดับการถูกทำลายเกิดขึ้นสูงมาก อีกทั้งบางส่วนของป่ายังปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าทำหน้าที่กักเก็บ ทำให้บราซิลกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่มีระดับการทำลายผืนป่ามากที่สุด โดยบราซิลปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าประมาณ 40% ซึ่งมักจะเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยเจตนา

ปีนี้โบลโซนาโรลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเขาแพ้คะแนนให้กับ ลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซีลวา อดีตประธานาธิบดี โดยแคมเปญหาเสียงของลูลาประชาสัมพันธ์ถึงการปกป้องป่าแอมะซอนและจะพาบราซิลกลับสู่การเจรจากับภาคีต่าง ๆ เพื่อวางแผนรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และแม้ว่าคณะทำงานของเขาจะยังไม่ได้เริ่มเข้าทำเนียบรัฐบาล แต่ลูลาก็เดินทางไปร่วมประชุม COP27 เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาและคณะรัฐบาลจะทำตามคำมั่นสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยให้กับประชาชน

Amazon Projection Message in New York.
The Articulation of Indigenous Peoples of Brazil (APIB), Defend Democracy in Brazil Committee (DDB-NY), Greenpeace Brazil and Greenpeace USA projected images of record deforestation, forest burning, and Indigenous Peoples’ resistance to the assault on their lives in midtown Manhattan on the cusp of the UN General Assembly, Climate Week NYC and Brazil’s presidential election. In the first half of September alone, at least six Indigenous Peoples were killed in the violence in Brazil, with the most recent assassination of Indigenous leader Victorino Sanches of the Guaraní-kaiowá on 13 September 2022.

คณะรัฐบาลชุดใหม่จะต้องมีแผนการที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อปกป้องป่าแอมะซอนและสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลที่นำโดยลูลาจะต้องพัฒนาแผนการบริหารที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการทำลายผืนป่าและต่อสู้กับการทำเหมืองและการยึดที่ดิน ผ่านการสร้างพื้นที่คุ้มครองและเคารพต่อสิทธิของชนพื้นเมือง รวมทั้งควบคุมและรับผิดชอบต่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะฟื้นฟูสิ่งต่าง ๆ หลังจากที่คณะทำงานเดิมเคยสร้างความเสียหายเอาไว้