ปี 2565 เป็นปีที่เกิดเหตุการความปั่นป่วนทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทั่วโลก และเป็นอีกปีที่ผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศแสดงออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจนกว่าที่เคย นอกจากนั้นยังเกิดการประชุมเจรจาสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศหรือ COP27  ในสาธารณรัฐอียิปต์ซึ่งก็ได้ข้อสรุปสำคัญอย่างเช่นการตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าผลการเจรจามีข้อสรุปยังไม่หนักแน่นเท่าที่ควร  แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องจากประชาชนในประเทศต่าง ๆ ก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกวันและต่างพุ่งเป้าไปที่ผู้นำของประเทศตนเองให้ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหานี้เสียที และจะขยายเพิ่มขึ้น ทวนกระแสและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจต้านทานได้

เราจึงรวบรวมกิจกรรมรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากกรีนพีซ ที่ได้ส่งข้อความถึงผู้มีอำนาจจากหลายประเทศทั่วโลกในปี 2565 เพราะพวกเราอยากเห็นความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับความเป็นธรรมทางสังคม 

แล้ววันนี้ทุกคน call out เรื่องอะไรบ้าง? มาแชร์กันได้นะคะ


มกราคม

เดินขบวนคัดค้านการสำรวจน้ำมันนอกชายฝั่งในอาร์เจนตินา 

March in Mar del Plata against Offshore Oil Exploration Part 2.
© Diego Izquierdo / Greenpeace

การเดินขบวนหลายครั้งเกิดขึ้นในบัวโนสไอเรส มาร์เดลปลาตา และเมืองอื่น ๆ บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อคัดค้านการสำรวจน้ำมันนอกชายฝั่งในทะเลอาร์เจนตินา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาร์เจนตินาได้อนุมัติให้บริษัท Equinor ดำเนินการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนในลุ่มน้ำอาร์เจนตินาเหนือ นอกชายฝั่งทางใต้ของจังหวัดบัวโนสไอเรส ซึ่งตามรายงานของกรีนพีซ การสำรวจคลื่นไหวสะเทือนเป็นขั้นตอนแรกเพื่อที่ใช้ประโยชน์จากน้ำมันในทะเลอาร์เจนตินา

กุมภาพันธ์

สอบสวนขยะพลาสติกจากเยอรมนีและสหราชอาณาจักรที่พบในตุรกี

Waste Investigation in İncirlik, Turkey.
© Caner Ozkan / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซตุรกียืนพร้อมกับธงยูเนียนแจ็คบนกองขยะในเมือง Incirlik จังหวัด Adana ประเทศตุรกี เพื่อเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่าขยะพลาสติกจากสหราชอาณาจักรสามารถพบได้ในตุรกี

รายงาน “Game of Waste” ซึ่งจัดทำโดยกรีนพีซ เมดิเตอเรเนียน ประเมินผลกระทบของการทิ้งและการเผาไหม้แบบเปิดของพลาสติกที่สงสัยว่านำเข้าในบ่อทิ้งขยะผิดกฎหมาย 5 แห่งทั่วภาคใต้ของตุรกี โดยระบุว่าสารเคมีที่เป็นพิษหลายชนิดในเถ้าและดินของทั้งห้าแหล่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือการเผาไหม้ของพลาสติก

มีนาคม

ประท้วงต่อต้านสงครามในบูดาเปสต์

© Bence Jardany / Greenpeace

ผู้คนหลายพันคนร่วมกันสร้างสัญลักษณ์สันติภาพขนาดมหึมาเพื่อประท้วงต่อต้านการรุกรานในยูเครน และเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อผู้บริสุทธิ์จากสงคราม ณ จัตุรัส Heroes ในบูดาเปสต์ 

การแสดงออกนี้จัดโดยกรีนพีซฮังการี โดย János Bálint Mező ผู้อำนวยการกรีนพีซฮังการีได้ร่วมกล่าวบนเวทีเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ในงานมีผู้เข้าร่วมงานมากมายไม่ว่าจะเป็น คณะประสานเสียง เยาวชนชาวยูเครน นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวรัสเซีย

เมษายน

ยื่นรายชื่อเพื่อยุติความรุนแรงในบราซิล

"Enough Violence" Petition Delivery in Brazil.
© Diego Baravelli / Greenpeace

รายชื่อรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อชนพื้นเมืองซึ่งลงนามโดยผู้คนกว่า 500,000 คน ถูกส่งไปยังกระทรวงยุติธรรมในบราซิลโดยผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองหลายคน พร้อมด้วยนักร้อง นักแต่งเพลง แพทย์ และกรีนพีซบราซิล ที่ได้ร่วมกันเดินจากศูนย์วัฒนธรรม Funarte พร้อมด้วยงานศิลปะจัดวางที่มีข้อความว่า “ยุติการใช้ความรุนแรง!”

ค่าย Free Land เป็นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 6,000 คนจาก 175 ชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน นี่เป็นค่ายแรกที่จัดขึ้นในรอบสองปีเนื่องจากการระบาดของโควิด19 โดยค่ายที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เรียกร้องให้มีการแบ่งเขตดินแดนของชนพื้นเมือง ป้องกันชีวิตจากวาระการทำลายล้างซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลโบลโซนาโรของบราซิล

พฤษภาคม

เอ็มมา ทอมป์สัน ขึ้นเรือ Rainbow Warrior ที่เวนิส 

Emma Thompson onboard the MV Rainbow Warrior in Venice, Italy.
© Greenpeace / Lorenzo Moscia

เอ็มมา ทอมป์สัน นักแสดงชื่อดังชาวอังกฤษถือป้ายต่อต้านการฟอกเขียวบนเรือ Rainbow Warrior ของกรีนพีซในเวนิส ประเทศอิตาลี เพื่อสนับสนุนโครงการ European Citizens’ Initiative (ECI) ที่ห้ามโฆษณาเชื้อเพลิงฟอสซิลและเรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ของสหภาพยุโรป โดยหากมีผู้ลงชื่อหนึ่งล้านลายเซ็นในหนึ่งปี คณะกรรมาธิการยุโรปมีหน้าที่ต้องตอบสนองต่อข้อเสนอของประชาชน

มิถุนายน

แสดงจุดยืนระหว่างพิธีเปิดงานประกาศรางวัลในเมืองคานส์

© Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอดีตผู้ชนะรางวัลและกรรมการตัดสิน แสดงจุดยืนที่งานประกาศรางวัล Cannes Lions ซึ่งเป็นเทศกาลโฆษณาที่มีชื่อเสียงที่จัดขึ้นในเมืองคานส์ โดยได้ขัดจังหวะในช่วงพิธีเปิดเพื่อคืนรางวัลที่เขาเคยได้รับจากการทำโฆษณาให้บริษัทสายการบิน 

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นี้ส่งสารไปถึงบริษัทโฆษณาที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งมีผลทำให้การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศล่าช้าไปอีก โดยกรีนพีซฝรั่งเศสและองค์กรอื่น ๆ อีกมากกว่า 35 แห่ง กำลังรณรงค์เพื่อห้ามโฆษณาทั้งหมดที่ส่งเสริม เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และสนับสนุนบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์และบริการจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

กรกฎาคม

เทศกาลเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศที่หมู่เกาะแปซิฟิก

Flotilla and Festival for Climate Justice at the Pacific Islands Forum.
©  Magnum Productions / Greenpeace

นักกิจกรรมและเยาวชนในภูมิภาคแปซิฟิก ร่วมกับกรีนพีซ ออสเตรเลียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเครือข่ายประชาชน จัดกองเรือและงานเทศกาลเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกสนับสนุนความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ โดยรณรงค์ให้สนับสนุนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในช่วงที่การประชุม Pacific Islands Forum (PIF) เริ่มต้นขึ้น

สิงหาคม

ไครียะห์ จาก #Saveจะนะ ร่วมปกป้องมหาสมุทรที่นิวยอร์ก

Global Oceans Treaty UN Projections in New York.
© Stephanie Keith / Greenpeace © Greenpeace

ภาพไครียะห์ ระหมันยะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศไทย ถูกฉายที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ร่วมกับนักกิจกรรมจากหลายประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลที่มาประชุมในงาน IGC5 ลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงทันที

โดยไครียะห์  ได้รับเชิญจากกรีนพีซสากล ในฐานะนักกิจกรรมปกป้องทะเล มาร่วมประชุม IGC5 ที่นิวยอร์ก หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ เพื่อหาข้อสรุปสนธิสัญญาทะเลหลวง และกำหนด “เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล” ให้ครอบคลุมพื้นที่ 30% ภายในปี 2573

นอกจากการฉายวิดีโอลงบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แล้ว นักกิจกรรมของกรีนพีซยังฉายวิดีโอเดียวกันไปยังสถานที่สำคัญๆ ที่รู้จักกันดีในกรุงนิวยอร์ก เช่น บริเวณหน้าห้องสมุดเมืองนิวยอร์ก ตึกเอ็มไพร์สเตท และด้านหน้าสำนักงานสหประชาติ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุม IGC5

กันยายน

ประท้วงการยุติตั๋วรถไฟ 9 ยูโรในเบอร์ลิน

Protest Train 9 € Ticket Berlin.
© Gordon Welters / Greenpeace

ตั๋วรถไฟราคา 9 ยูโรของเยอรมนีหมดอายุในปลายเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนหน้านั้น กรีนพีซและองค์กร Campact จึงได้จัดขบวนรถไฟเพื่อเดินทางผ่านกรุงเบอร์ลินโดยมีผู้ประท้วงต่อต้านการยกเลิกตั๋วนี้เดินทางไปด้วย   นอกจากนั้นนักกิจกรรมยังได้นำรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวน 435,000 รายที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการยกเลิกตั๋ว ไปยื่นต่อ Christian Lindner รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของรัฐบาลกลาง โดยกรีนพีซเสนอให้เปิดขายตั๋วเพื่อสภาพภูมิอากาศโดยเริ่มต้นในปี 2566 ในราคาหนึ่งยูโรต่อวัน

ตุลาคม

การประท้วงของเกษตรกรในเมืองเกโรนา ฟิลิปปินส์

Farmers' Protest in Gerona, Philippines.
© Basilio H. Sepe / Greenpeace

หลังเกิดซูเปอร์ไต้ฝุ่นคาร์ดิง ชาวนาในเมืองตาร์ลัคที่ได้รับความเสียหายจากพายุ ร่วมกับนักกิจกรรมจาก Rice Watch Action Network และกรีนพีซ ฟิลิปปินส์ ประท้วงเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย

เกษตรกรและผู้สนับสนุนประมาณ 20 คนถือป้ายกลางนาข้าวที่เสียหายพร้อมข้อความ “แด่ผู้ก่อมลพิษ : จ่ายค่าความสูญเสียและความเสียหาย” กลุ่มต่าง ๆ กำลังเรียกร้องให้ประเทศที่เป็นผู้ก่อมลพิษในประวัติศาสตร์ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ของความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาสร้างให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยชุมชนในฟิลิปปินส์เสนอข้อเรียกร้องนี้พร้อมกับข้อเรียกร้องต่อท้องถิ่นในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนราคาสินค้าทางการเกษตรให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น 

พฤศจิกายน

กรีนพีซ ประเทศไทยชูป้าย “APEC หยุดฟอกเขียว”

Activists Deliver Messages to the Visiting APEC Leaders in Bangkok.
© Chanklang  Kanthong / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซประเทศไทยกางป้ายผ้าที่มีข้อความ “APEC หยุดฟอกเขียว” เพื่อต้อนรับผู้นำที่จะมาประชุม #APEC ในบริเวณบึงน้ำของสวนเบญจกิติใกล้กับอาคารจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการประชุม COP 27 ที่สาธารณรัฐอียิปต์
กรีนพีซต้องการส่งข้อความถึงกลุ่มผู้นำประเทศ APEC ให้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงประเด็นความสูญเสีย และเสียหาย (Loss and Damage) ของสังคมและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลไทยต้อง #หยุดฟอกเขียว แก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

ธันวาคม

ประท้วงด้วยรูปปั้นสัตว์เรืองแสงเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

Protest with Luminous Animal Figures for Protecting Nature in front of UN Building in Bonn.
© Daniel Müller / Greenpeace

ก่อนเริ่มการประชุมเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (COP15) ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา นักกิจกรรมชุมนุมโดยใช้หุ่นสัตว์เรืองแสงขนาดเท่าของจริงพร้อมเสียงของสัตว์ ประกอบด้วยยีราฟ แรด ม้าลาย อุรังอุตัง และสลอธ ที่หน้าอาคารสหประชาชาติในกรุงบอนน์ พร้อมแบนเนอร์ที่เขียนว่า “SOS” และ “Save our Future” โดยการประท้วงครั้งนี้มีขึ้นเพื่อหยุดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

แล้วปีนี้ทุกคน call out เรื่องอะไรบ้าง? มาแชร์กันได้นะคะ