แม้ว่าการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจะเสร็จสิ้นไปแล้วพร้อมกับมติการจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง แต่ในเดือนธันวาคมนี้ยังมีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็น ‘การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ’ ที่เกิดขึ้นหลังจากถูกเลื่อนมาหลายครั้งด้วยสถานการณ์โรคระบาด และในปีนี้ การประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ UN Convention on Biological Diversity (CBD COP15) ก็ถูกจัดขึ้นเดือนธันวาคมปีนี้ ที่มอนทรีออล แคนาดา โดยจะมีกลุ่มผู้นำจากประเทศต่างๆ เดินทางมาประชุมและเจรจาเพื่อหาทางปกป้องระบบนิเวศที่ถูกทำลายและการปกป้องสิ่งมีชีวิตจากการสูญพันธุ์

คำว่า COP ที่เราใช้ติดปากนั้นความจริงแล้วย่อมากจากคำว่าการประชุมสมัชชาภาคี (Conference of Parties) ดังนั้นอย่าสับสนหากการประชุมหลายๆวาระมีชื่อว่า COP แต่ถ้าอยากรู้ว่าการประชุมนั้นคือ COP อะไร เราจะต้องดูว่าเป็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็นอะไรนั่นเอง

ซึ่งแม้ว่าโดยรวมจะเป็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อม แต่การประชุม CBD COP15 จะแตกต่างจากการประชุม COP27 เล็กน้อยตรงที่เน้นประเด็นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ UNFCCC COP27 จะเป็นการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศโลก

Protest with Luminous Animal Figures for Protecting Nature in front of UN Building in Bonn.
ภาพหุ่นจำลองรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่นักกิจกรรมนำมาวางเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในช่วงการประชุม CBD COP15 ที่มอนทรีออล แคนาดา กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นบรเวณหน้าที่ประชุม โดยประกอบไปด้วย ยีราฟ แรด ม้าลาย อุรังอุตัง และสล็อต เป็นต้น รวมถึงป้ายที่มีข้อความ SOS และ Save our Future เพื่อสื่อสารว่าการประชุมครั้งนี้จะต้องปกป้องพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ทำไมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจึงสำคัญ?

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) คือระบบที่ทำให้มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งผืนป่า มหาสมุทรอันอุดมสมบูรณ์จะช่วยให้เราต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นแหล่งผลิตอากาศให้เราหายใจและเป็นเกราะป้องกันโรคร้ายใหม่ที่อาจจะเกิดการระบาด เมื่อเราปกป้องธรรมชาติก็เท่ากับเราปกป้องตัวเองไปด้วย 

หนึ่งในปัญหาที่ชัดเจนนั่นก็คืออุตสาหกรรมทำลายล้างที่กำลังคุกคามระบบนิเวศของโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ไม่เพียงแค่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มาในรูปแบบของธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรของโลกเช่น ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจที่บุกรุกป่าด้วยการเผาเพื่อเอาพื้นที่มาใช้ประโยชน์ การเข้าไปเอาทรัพยากรในมหาสมุทรห่างไกลและลึกลงไปมากขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขายังก่อมลพิษทางการเมือง เป็นอุปสรรคต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำให้ตอนนี้เหลือผืนป่าบนโลกเพียงแค่ 15% และมหาสมุทรเพียง 3% เท่านั้นที่ยังไม่ถูกมนุษย์เข้าไปตักตวงทรัพยากร

เพื่อยุติการทำลายสิ่งแวดล้อม เหล่าผู้นำจะต้องหยุดยกผลประโยชน์ของกลุ่มทุนขึ้นมาเหนือกว่าคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารตั้งแต่วิธีการผลิตไปจนถึงการบริโภคอาหารและสินค้าต่าง ๆ การปรับปรุงแบบนี้จะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลกที่คุ้มครองสัตว์ทะเลและทรัพยากร 

Illegal Mining in Yanomami Indigenous Land in Brazil.
ภาพมุมสูงของการทำเหมืองอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ของชนพื้นเมือง Yanomani ในโรไรมา เมษายน 2021

สิ่งสำคัญกลุ่มผู้นำโลกจะต้องให้ความเคารพต่อชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และปกป้องผืนป่าและทะเลด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน โดยต้องให้ความสนใจองค์ความรู้ของพวกเขาที่สดับตรับฟังและทำงานร่วมกับธรรมชาติผู้ให้กำเนิดมาอย่างลึกซึ้งหลายรุ่นคน และต้องตระหนักถึงและเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงปกป้องพวกเขาจากภัยคุกคาม เช่น การถูกขับไล่ออกจากพื้นที่หรือการถูกคุกคามโดยอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะทำให้เราสามารถจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ ปกป้องความมั่นคงทางอาหารและลดความเสี่ยงของโรคระบาดในอนาคตได้

การประชุม CBD COP15 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะต้องเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไปในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะทำให้เราฟื้นฟูโลกกลับมาได้ดีและแข็งแรงกว่าเดิม สามารถยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤตต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม

Great March led by Indigenous leaders for Biodiversity and Human Rights during COP15.
ภาพการเดินรณรงค์ของประชาชนหลายร้อยในเมืองควิเบค เมื่อ 10 ธันวาคม 2022 แคนาดา นำโดยผู้นำจากกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อกลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมประชุมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 พวกเขาร่วมแสดงพลังให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนน้ำผืนป่า คือกลุ่มคนสำคัญที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลก และกลุ่มผู้นำแต่ละประเทศจะต้องเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและปกป้องพวกเขาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม

ประเด็นสำคัญในการประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD COP15)

การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำแต่ละประเทศได้พูดคุยและเจรจาถึงแผนในการวางเป้าหมายเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพภายในอีก 10 ปีข้างหน้า และในปีนี้กรีนพีซก็ยังคงจับตาการประชุมดังกล่าว โดยมีข้อเรียกร้องต่อผู้นำโลกต่อไปนี้

  • พัฒนากรอบการทำงานในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลกให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อปกป้องธรรมชาติ
  • ทำงานร่วมกับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก เพื่อปกป้องผืนดินและทะเลให้ได้อย่างน้อย 30% จากผืนดินและทะเลทั้งหมด
  • มีการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้แผนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้ หากการเจรจาครั้งนี้ล้มเหลว เราอาจไม่สามารถปกป้องสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพโลก และสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ได้  ดังนั้นผู้นำแต่ละประเทศจำเป็นจะต้องมีเป้าหมายที่ทำได้ทันทีและมีประสิทธิภาพพอ รวมถึงต้องทำงานร่วมกับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นผู้มีภูมิปัญญาในการอยู่ร่วม ปกป้องและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

ชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง ปัจจัยสำคัญของการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

หลังจากเปิดการประชุม CBD COP15 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น นักรณรงค์ด้านระบบนิเวศและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมกว่าหลายพันคนรวมตัวกันเดินขบวนไปยังสถานที่ประชุม CBD COP15 เพื่อแสดงพลังให้กลุ่มผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมเห็นว่าพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 80% ทั่วโลก เป็นพื้นที่ที่ชนพื้นเมืองอาศัยและปกป้องอยู่ แต่ปัจจุบัน ทั้งกลุ่มชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ผืนน้ำผืนป่าเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบจากการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนการเจรจาแผนการดำเนินการในที่ประชุมนั้นกลับล่าช้า โดยยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขณะที่ระยะเวลากระประชุมใกล้จะหมดลงแล้ว

Great March led by Indigenous leaders for Biodiversity and Human Rights during COP15.
ภาพการเดินรณรงค์ของประชาชนหลายร้อยในเมืองควิเบค เมื่อ 10 ธันวาคม 2022 แคนาดา นำโดยผู้นำจากกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อกลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมประชุมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 พวกเขาร่วมแสดงพลังให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนน้ำผืนป่า คือกลุ่มคนสำคัญที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลก และกลุ่มผู้นำแต่ละประเทศจะต้องเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและปกป้องพวกเขาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม

ออร์ปา โยชัวร์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนรณรงค์ เธอคือตัวแทนชนพื้นเมือง นัมบลอง (Namblong) จากเวสท์ ปาปัว กล่าวว่า “ฉันเข้าร่วมรณรงค์ครั้งนี้เพื่อนำข้อความจากผืนป่าในหมู่เกาะปาปัว กาลิมันตันและสุมาตรา ผืนป่าในที่เหล่านี้มีความสำคัญต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ ฉันอยากเชิญชวนผู้นำที่เข้าร่วมประชุมแบบฉันท์มิตรมาร่วมกันส่งเสียงเพื่อผืนป่าและความสำคัญของป่าต่อทุกสรรพสิ่ง หากผืนป่าถูกทำลายไป โลกเราจะต้องเผชิญกับทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตด้านสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต นกหายากอย่างปักษาสวรรค์ (Bird of Paradise) จะสูญพันธุ์ ไม่เพียงแต่วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองนัมบลองจะถูกทำลายไป แต่วิถีชีวิตของทุกคนก็จะถูกทำลายไปด้วย”

ยังมีผู้นำชุมชนชนพื้นเมือง โลโคลามา จากลุ่มแม่น้ำคองโก วาเลนติน เอ็นโกโบ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในฐานะที่เป็นตัวแทนจากชุมชน เราเรียกร้องให้การประชุมที่มอนทรีออลครั้งนี้ลงมติรับรองให้ชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมเต็มที่ในทุกขั้นตอนของการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในผืนน้ำ ผืนป่า รวมทั้งการเข้าถึงเงินทุนเพื่อการพัฒนาการปกป้องผืนน้ำ ผืนป่า ที่มีประสิทธิภาพโดยที่คนจำนวนมากจะได้ประโยชน์ด้วย

Press conference: Global Indigenous Leaders Gather in Montreal during COP15.
ภาพแถลงข่าวของเครือข่ายกลุ่มชนพื้นเมืองระดับโลกที่จัดขึ้นสอดคล้องกับการประชุม CBD COP15 ที่โรงแรม Hotel10 โดยมีตัวแทนจากชนพื้นเมืองใน บราซิล แคนาดา คองโก แคเมอรูน และอินโดนีเซีย ร่วมกันแถลงข่าวยื่นข้อเรียกร้องให้โลกปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นฐานสิทธิชนพื้นเมือง โดยต้องให้กลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่มีส่วนในการตัดสินใจมากกว่าให้สิทธิ์ทั้งหมดกับกลุ่มอุตสาหกรรม

“หนทางเดียวที่จะปกป้องธรรมชาติด้วยแนวคิดระบบนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นธรรมนั่นคือการตระหนักรู้ถึงสิทธิชนพื้นเมือง ผู้ที่เป็นทั้งผู้อาศัยและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพด้วยความรู้ที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นภูมิปัญญา ดังนั้น กรอบการทำงานด้านการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลกจะต้องการันตีถึงสิทธิชนพื้นเมืองและสิทธิชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเรามีบทบาทสำคัญในการจัดการและร่วมตัดสินใจต่อการปกป้องผืนป่าในอาณาบริเวณของเรา”

คณะผู้นำโลกต้องยืนหยัดเพื่อปกป้องประชาชน ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม CBD COP15 สัปดาห์สุดท้ายนั้น อาจเรียกได้ว่าน่าผิดหวัง เพราะการเจรจายังคงอยู่ที่ความพยายามลดเป้าหมายขนาดพื้นที่ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพลง เพื่อตอบสนองการขุดเจาะน้ำมันและการทำเหมือง รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะกีดกันชนพื้นเมืองออกจากการปกป้องผืนป่าและน้ำ และยังกีดกันไม่ให้ชนพื้นเมืองได้รับเงินสนับสนุนเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย อีกทั้งในร่างข้อสรุปมติการเจรจายังตัดบทบาทการปกป้องพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพของชนพื้นเมืองออกไปหลายส่วน

เซการ์ บันจารัน อาจิ นักรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า “เมื่อใดที่รัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อแสวงหาประโยชน์ เมื่อนั้นชนพื้นเมืองในอินโดนีเซียจะตกอยู่ในอันตราย เราจึงรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากเมื่อได้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุม CBD COP15 ประชากรในอินโดนีเซียหนึ่งในสี่นั้นเป็นชนพื้นเมือง แต่พวกเขาอาจถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ด้วยอุปสรรคอย่างการได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองอย่างถูกกฎหมาย ขณะนี้ทั้งโครงการเหมืองถ่านหิน หรือการเข้ายึดพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนปาล์ม กำลังรุกไล่มายังพื้นที่ที่ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ ดังนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องกล้ายืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประชาชน ไม่ใช่การคอร์รัปชั่น”

Great March led by Indigenous leaders for Biodiversity and Human Rights during COP15.
ภาพการเดินรณรงค์ของประชาชนหลายร้อยในเมืองควิเบค เมื่อ 10 ธันวาคม 2022 แคนาดา นำโดยผู้นำจากกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อกลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมประชุมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 พวกเขาร่วมแสดงพลังให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนน้ำผืนป่า คือกลุ่มคนสำคัญที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลก และกลุ่มผู้นำแต่ละประเทศจะต้องเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและปกป้องพวกเขาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม

กรีนพีซ ยังคงจับตาและยืนหยัดกับข้อเรียกร้องที่ต้องการให้คณะผู้นำประเทศจะต้องลงมติเพื่อเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองในการปกป้องผืนน้ำ ผืนป่า และต้องลงมติปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลกในพื้นที่อย่างน้อย 30% ทั่วโลกภายในปี 2030 รวมทั้งต้องสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อให้มาตรการการปกป้องดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ