ปุกัลดิ ซาสวานโต (Pukaldi Saswanto) ตัดสินใจไปทำงานบนเรือประมงในปี 2562-64 เป็นเวลากว่า 30 เดือนที่เท้าของเขาไม่ได้สัมผัสพื้นดินเลย เขาต้องเผชิญกับการบังคับใช้แรงงาน การหลอกลวงไม่จ่ายค่าแรง การใช้ความรุนแรงบนเรือ ก่อนที่เขาลุกขึ้นมาฟ้องประธานาธิบดีของประเทศ และสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสิทธิของแรงงานประมงในอินโดนีเซีย 

ปุกัลดิ เป็นชาวเมืองเบงกูลู (Bengkulu) ในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เขาสมัครไปทำงานบนเรือประมงตามคำแนะนำของเพื่อน แม้ครอบครัวจะคัดค้าน แต่ปุกัลดิยังยืนยันที่จะไป เพื่อเก็บเงินแต่งงาน และเพื่ออนาคตครอบครัว

เมื่อมาถึงประเทศฟิจิ ปุกัลดิเพิ่งรู้ว่าเขาต้องไปทำงานบนเรือประมงเบ็ดราว ซึ่งต้องออกทำประมงไกลในมหาสมุทรแปซิฟิก เขาต้องทำงานต่อเนื่อง 14 ชั่วโมงต่อวัน บ่อยครั้งต้องทำงานด้วยความหิว เพราะอาหารบนเรือทำมาจากผักเก่าๆ ไร้สารอาหาร 

ปุกัลดิต้องอดทนอาศัยอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ที่คับแคบและอึดอัด แม้จะมีเพื่อนเป็นแรงงานชาวอินโดนีเซียอีก 15 คนบนเรือ แต่เขายังรู้สึกแปลกแยกออกจากลูกเรือคนอื่นๆ เพราะส่วนมากลูกเรือสื่อสารกันด้วยภาษาจีนหรือเวียดนาม

เขาไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่ต้องเห็นเพื่อนถูกซ้อมเพราะไม่สามารถทำงานลุล่วงได้ และเพราะหนีไปไหนไม่ได้ เขาจึงเลือกที่จะอยู่ต่อจนครบสัญญาสองปี เพราะคิดว่าอย่างน้อยที่สุด เขาจะได้เงินแล้วกลับบ้าน

“ผมคิดถึงครอบครัว” ปุกัลดิเล่าย้อนถึงความรู้สึกขณะอยู่บนเรือ เพราะตลอดเวลาสองปีกว่า เขาไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้เลย

แต่แม้จะหมดสัญญาไปแล้ว ปุกัลดิยังต้องทำงานต่ออีกหกเดือน ก่อนที่ลูกเรือประมงคนอื่นจะรวมตัวกันประท้วงไม่ทำงาน หลังจากนั้นก็กินเวลาอีกสามเดือนกว่า ปุกัลดิจะเดินทางกลับถึงอินโดนีเซีย

และเมื่อถึงบ้าน เขาพบว่าเงินไม่ได้ถูกโอนเข้าบัญชีเขาตามตกลง เขาไม่ได้รับเงินเลยจากการทำงานตลอดสองปีครึ่ง เงินที่เขาหวังว่าจะใช้สำหรับแต่งงานและเริ่มธุรกิจเล็กๆ

“ถ้าเป็นคุณจะรู้สึกยังไงล่ะ ? สำหรับผมตอนนั้นผมแค่เหนื่อยมากๆ” เขากล่าว

นักกิจกรรมจัดกิจกรรมประท้วงในวันแรงงานสากลในเมืองเซอมารัง จังหวัดชวากลาง © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

อาชญากรรมในทะเลหลวง

เรื่องราวของปุกัลดิไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงที่ไร้การควบคุม รายงานหลายต่อหลายชิ้นระบุว่ายังคงมีแรงงานจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องทำงานบนเรือประมงต่อเนื่องถึง 20 ชั่วโมง และยังคงเผชิญกับการคุกคามทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การที่ปุกัลดิต้องทำงานสองปีครึ่งบนเรือประมง เกิดจาก “การขนถ่ายกลางทะเล” ซึ่งหมายถึงการที่เรือประมงออกทำประมงไกลจากชายฝั่งเข้าไปในเขตทะเลหลวง และจะมีเรืออีกลำมารับปลาที่จับได้จากบนเรือเข้าฝั่ง ทำให้เรือประมงหลักสามารถหาปลาได้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปี และหลายครั้งที่ลูกเรือไม่รู้เรื่องนี้  

“ขณะที่เราพยายามต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม ซึ่งเป็นการตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เราพบว่าอุตสาหกรรมประมงยังมีการกดขี่แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานบนเรือประมง และคนโชคร้ายหลายคนคือแรงงานชาวอินโดนีเซีย” อัฟดิลลา ผู้ประสานงานโครงการทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ อินโดนีเซียกล่าว

“แคมเปญ Beyond Seafood ที่เราทำอยู่คือการต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ในทะเล เราเชื่อว่าถ้าเราทำได้ มันจะช่วยพัฒนาการปกป้องทรัพยากรทางทะเล”

ชาวประมงกำลังขนถ่ายปลาลงจากเรือที่ท่าเรือเตกัล ประเทศอินโดนีเซีย © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ตั้งแต่ปี 2556  ถึงปลายปี 2564  สหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซีย (SBMI)  ได้รับคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานประมงอินโดนีเซียทั้งหมด 634 ฉบับ นอกจากนี้ ในรายงานที่ทำร่วมกันระหว่าง สหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซียและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเผยแพร่ในปี 2564 พบว่าเคสการบังคับใช้แรงงานยังเพิ่มขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่การไม่จ่ายค่าแรง การทำร้ายร่างกาย การหลอกลวง หรือการใช้อำนาจข่มเหง

สู้เพื่อปกป้องสิทธิ

เนื่องจากนายหน้าที่พาปุกัลดิไปทำงานบนเรือประมงได้ปิดตัวลงและไม่หลงเหลือหลักฐานไว้ ปุกัลดิจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจาก สหภาพแรงงาน  ปุกัลดิ และ แรงงานประมงอีกสองคนที่ถูกบังคับใช้แรงงานกลางทะเลของเขาอีกสองคน คือ จาติ ปูจิ ซานโตโซ่ และ ริซกิ วาห์ยึดิ ตัดสินใจยื่นฟ้องประธานาธิบดี ข้อหาล้มเหลวในการทำหน้าที่รับรองกฎหมายปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งเมื่อปี 2560 รัฐสภาอินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่มีการประกาศมาตราการกำกับดูแลหรือควบคุมเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานตามกรอบระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีตามที่กำหนด

“มันคือสิทธิ์ของพวกเราที่จะได้รับเงิน” ปุกัลดิกล่าว

Three former Indonesian Migrant Fishers are accompanied by lawyer and activists from Greenpeace Indonesia and Indonesia Migrant Worker Union (SBMI) send an Administrative Objection letter that is addressed to President Joko Widodo at the Ministry of State Secretariat office in Jakarta. The letter urges the government to immediately ratify the Draft of Government Regulation (RPP) regarding on the Placement and Protection of Commercial Crews and Fishing Vessel Crews., TIGA MANTAN ABK INDONESIA SURATI PRESIDEN

เวลาล่วงเลยมาเกือบ 5 ปีหลังประกาศร่างกฎหมายฉบับแรก กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ลงนามบังคับใน ระเบียบรัฐบาล (Government Regulation) ข้อที่ 22/2565 ว่าด้วยเรื่อง ความมั่นคงและความปลอดภัยของการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติบนเรือประมงและลูกเรือประมง (the Placement and Protection of Migrant Trading Vessels Crew and Fishing Vessels Crew)

การลงนามครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการคุกคามสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะในอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางขนาดใหญ่ของแรงงานประมง

และหลังจากมีการเซ็นต์ลงนามบังคับใช้กฎหมาย  ปุกัลดิจึงถอนฟ้อง

“ผมดีใจมากที่อินโดนีเซียประกาศบังคับใช้กฎหมาย นี่เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของแคมเปญเรา เรากำลังผลักดันให้มีการดูแลแรงงานประมงข้ามชาติอย่างเป็นธรรม” เขากล่าว

“แต่การต่อสู้ไม่จบลงแค่นี้ เราจะมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย และจะเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นให้ความสำคัญกับมัน หรือแม้กระทั่งออกนโยบายในท้องถิ่นเพื่อทำให้กฎหมายเข้มแข็งขึ้น”

นักกิจกรรมจัดกิจกรรมประท้วงในวันแรงงานสากลหน้ากฎหมายแรงงานในจาการ์ตา  © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace ปัจจุบัน ปุกิลดิอาศัยอยู่ในเมืองเตกัล และช่วยงานสหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซีย แต่เขายังไม่ได้รับเงินจากการทำงานบนเรือตลอด 2 ปีครึ่ง

“ยังมีอีกหลายบริษัทที่ไม่ทำตามข้อตกลง สำหรับคนที่กำลังจะตัดสินใจไปทำงานบนเรือ ผมอยากให้ลองคิดดูอีกสักครั้ง อย่าตกหลุมพรางเหมือนพวกเรา แต่หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมาย ผมก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และแรงงานประมงอินโดนีเซียจะได้รับการปกป้องมากขึ้น”

“เราจะยังคงสู้ต่อไป และหวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการลงโทษคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการหลอกลวงครั้งนี้โดยทันที ”