การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (COP 27) เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และในที่สุด

ภาคีสมาชิกเห็นพ้องต้องกันในข้อตกลงเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อจัดสรรเงินทุนให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงจากหายนะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (1) คำว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” จะต้องอยู่ภายใต้ความ “เปราะบางเฉพาะ” (particularly vulnerable) ที่เป็นกรณีฉุกเฉินในการจัดการกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น  

Climate Strike at COP27.
กลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

ความสูญเสียและความเสียหาย คืออะไร?

ในที่ประชุม COP 27 ประเทศภาคีสมาชิกเห็นชอบที่จะให้มีการจัดตั้ง “Transitional committee” หรืออาจจะเรียกว่า “คณะกรรมการการเปลี่ยนผ่าน” ที่จะทำหน้าที่ให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและแนวทางในการจัดตั้งทั้งกองทุนอันใหม่นี้และกองทุนที่จะมีขึ้นในการประชุม COP28 โดยจะขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ทั้งนี้การประชุมของคณะกรรมการการเปลี่ยนผ่านคาดว่าจะจัดการประชุมครั้งแรกขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 ดังนั้นการตัดสินใจอนุมัติเงินจากกองทุน จำนวนเงินและประเทศที่จะได้รับชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ในการประชุมที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับบริบทของความสูญเสียและความเสียหาย ว่าหมายรวมถึง ต้นทุนผลกระทบอันเกิดจากภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุ เป็นต้น กองทุนนี้ยังคงจะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของแต่ละประเทศในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย กองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหายเป็นกองทุนมีความแตกต่างจากกองทุนอื่นนั่นคือ การสนับสนุนทางการเงินจากความสูญเสียและความเสียหายที่ประเทศเหล่านั้นไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้หรือปรับตัวได้จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

Floods in South Kalimantan. © Putra / Greenpeace
เหตุการณ์น้ำท่วมหนักในทางตอนใต้ของกาลิมันตัน ระดับน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตรและทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน © Putra / Greenpeace

อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องติดตามในรายละเอียดหลังจากนี้ว่าจะครอบคลุมถึงการจ่ายชดเชยให้กับความสูญเสียและความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพย์สิน อีกทั้งการประเมินความเสียหายและความสูญเสียทางมูลค่าและคุณค่าด้านทรัพยากรธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่ยากเช่นกัน

ใครคือผู้จ่าย และจ่ายให้กับใคร?

ข้อตกลงเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ มีการถกเถียงกันยาวนานกว่าทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องของกลุ่มประเทศเปราะบางที่กำลังรับมือกับวิกฤตภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศให้กลุ่มประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่และปล่อยมานาน และรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล อย่างเช่น กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลต้องรับผิดชอบและจ่ายค่าความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะแสดงจุดยืนคัดค้านการถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องจ่าย แต่ในที่สุดก็ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว

Aerial of Coal Fired Power Plants in Germany.
ภาพมุมสูงของโรงไฟฟ้าถ่านหิน Neurath ใกล้กับเหมืองลิกไนต์ Rhenish ในเยอรมนี

ทั้งนี้ทางสหภาพยุโรปได้โต้แย้งกรณีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศที่กุมเศรษฐกิจอันดับสองของโลก หากแต่องค์การสหประชาชาติกลับจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สหภาพยุโรปให้ความเห็นว่า จีนจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเช่นกัน ในขณะที่ทางฝั่งจีนก็ยังคงนิ่งเฉยต่อการให้คำมั่นในการจ่ายเงินเข้ากองทุน

Yulin Coal Industry in China. © Nian Shan / Greenpeace
ภาพเขตอุตสาหกรรมถ่านหิน Yulin ในปี 2016 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม Shenfu โดยบริเวณดังกล่าวและโดยรอบได้รับฉายาว่าเป็น สามเหลี่ยมทองคำถ่านหิน © Nian Shan / Greenpeace

อย่างไรก็ตามดูเหมือนกองทุนจะเริ่มมีความหวังมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของบางประเทศแสดงเจตนารมณ์และให้คำมั่นที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนดังกล่าว อย่างเช่น เดนมาร์ก เบลเยียม เยอรมนี สก๊อตแลนด์ และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป นอกเหนือจากนี้จากการประชุมยังมีการหารือขององค์การสหประชาชาติและกองทุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความรับผิดชอบของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลที่จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน และภาษีลาภลอย (windfall profit tax) จากกลุ่มพลังงานฟอสซิล (2)

มากกว่า ชดเชย คือต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน

ความรับผิดชอบร่วมกันอีกด้านที่นอกจากกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย นั่นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อชะลอการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซนเซียส (3) แผนปฎิบัติการของแต่ละประเทศจะต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งการเพิ่มการสนับสุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และศักยภาพที่จำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การฟอกเขียว ความรับผิดชอบจากการลงทุน สถาบันการเงิน และการจัดการเมืองจึงเป็นข้อเรียกร้องทั้งด้านนโยบายและแผนปฎิบัติการที่ทุกประเทศต้องกำหนดขึ้น ในการประชุม COP 27 ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องทบทวนตัวเลขเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เสร็จภายในสิ้นปี 2566 รวมทั้งการพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะต้องลดการใช้ถ่านหินและปลดระวางการสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับอุตสาหกรรมฟอสซิล

ในส่วนของภาคธุรกิจ จะต้องการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองถ่านหิน การหยุดการขยายการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ภายในปี 2573 และประเทศที่เหลือในปี 2583 และจะต้องมีแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานหมุนเวียน 

สำหรับภาคการเงิน  แหล่งสถาบันการเงินต้องมีนโยบายการเงินสีเขียว (Green Financial Policy) การหยุดการให้กู้ยืมเงิน การทำข้อตกลง การลงทุนกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรรมถ่านหิน รวมทั้งการขนส่งถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหมืองถ่านหิน นโยบายปลดระวางถ่านหินของภาคการเงิน  หรือแม้กระทั่งโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ควรจะต้องหยุดและเข้าสู่แผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่การจ้างงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายในปี 2573 และประเทศที่เหลือในปี 2583

นโยบายปลดระวางการสนับสนุนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ต้องเกิดขึ้นเช่นกัน  และสถาบันการเงินเองก็จะต้องเปิดช่องการสนับสนุนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2593 รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านระดับเมือง ระดับภูมิภาคจำเป็นจะต้องดำเนินการปลดระวางฟอสซิลภายในปี 2573 ของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายในปี 2573 และประเทศที่เหลือในปี 2583 อีกทั้งเมืองจำเป็นต้องวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เมืองที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นฐานในการผลิตไฟฟ้า

COP 27_Don't Gas Africa Event.
กิจกรรม Don’t Gas Africa ระหว่างการประชุม COP27 โดยนักรณรงค์ออกมาเรียกร้องให้โลกยุติการแบ่งแยกสีผิวซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแอฟริกา และเรียกร้องให้ภูมิภาคแอฟริกาเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่า และเป็นพลังงานที่ประชาชนในแอฟริกาสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม

สุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยมีเทนจากภาคพลังงานฟอสซิล การใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จำเป็นต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 64 ในปี 2573 โดยเทียบกับระดับการปล่อยในปี 2563 รวมไปถึงการจัดการขยะที่ไม่ยั่งยืน เช่น หลุมฝังกลบและโรงไฟฟ้าขยะ ที่ขยะส่วนใหญ่ผลิตมาจากวัตถุดิบเชื้อเพลิงฟอสซิล (4)

การเปลี่ยนผ่านระดับนโยบายและการปฏิบัติการเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อโอกาสในการชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศานั่นเอง


อ้างอิง

  1. การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27
  2. COP27: Who will pay for climate ‘loss and damage’ fund?
  3. IPCC’s 6th Assessment Report 
  4. The report of High-Level Expert Group on Net-Zero Commitments