หลังจาก 2 สัปดาห์ของการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP ครั้งที่ 27 ในชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปสำคัญอย่างเช่นการตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเงินทุนที่จะต้องนำมาให้กองทุนจะไม่ได้เป็นแค่เพียงเงินชดเชยความสูญเสียและเสียหาย แต่จะต้องเป็นเงินที่นำมาสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการปรับตัวและสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ 

Climate Strike at COP27.
กลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

อย่างไรก็ตาม การประชุม COP 27 ครั้งนี้กลับถูกละเลยประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเจ้าภาพอย่างอียิปต์ที่เป็นประธานในการจัดการประชุม ในขณะที่กลุ่มประเทศจำนวนมาก ทั้งจากประเทศทางแถบซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ร่วมกันสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงปารีสในการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายถึงการชะลอไม่ให้โลกต้องเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม 

แต่การไม่พูดถึงประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งประเด็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเข้ามาพบปะกับกลุ่มผู้นำประเทศ ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายชุมชนและกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมที่เต็มไปด้วยการฟอกเขียว

DAY 2 COP27 Fridays For Future.
กลุ่มเยาวชนจากเยอรมนี ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐบาลเยอรมันียุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในการประชุม COP27 ขณะที่ผู้นำประเทศกำลังประชุมเจรจาใน COP27 เยอรมนีมีแผนดำเนินการขยายเหมืองถ่านหิน Garzweiler ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งจะทำให้เยอรมนีไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

ข้อสรุปสำคัญจาก COP27

การคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ท้าทายโลกมาอย่างยาวนาน โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่แต่ละประเทศจะต้องทุ่มเทให้กับเป้าหมายนี้ จนปัจจุบันเป้าหมายนี้ยังคงต่อเนื่องมาถึงการประชุม COP เพราะหากไม่สามารถคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ได้ โลกของเราก็จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป อย่างไรก็ตามในการประชุม COP27 มีหลายประเทศพยายามปฏิเสธเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสนี้ และแม้ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้จะคัดค้านไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจคือ มติที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงจุดสูงสุดในปี 2025  ถูกปัดตกออกไปจากการประชุมครั้งนี้

หลายประเทศต้องการเป้าหมายลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ผลลัพธ์ยังคงเดิม

เมื่อย้อนกลับไปดูการประชุม COP26 ที่กลาสโกลว์ เราจะเห็นข้อตกลงที่แต่ละประเทศสัญญาว่าจะลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นข้อตกลงในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศจากต้นเหตุจริง ๆ ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อสุดๆ ในรอบ 30 ปีของการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ ส่วนใน COP27 มีหลายประเทศที่ต้องการเพิ่มความเข้มข้นให้เป้าหมายนี้ นั่นคือเพิ่มจากการลดใช้ถ่านหิน เป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกประเภท แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จและยังให้คงมติเดิมจาก COP26

การรับมือและการปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

COP27 สรุปแผนการทำงานรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเพิ่มความเร่งด่วนในการแก้ไขผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษนี้ ในมติเห็นว่าแผนดังกล่าวควรขยายระยะไปถึงปี 2026 และต้องเชื่อมโยงกับการประชุม COP แต่ละครั้ง อย่างไรก็ตาม แผนการทำงานเป็นเพียงกรอบการดำเนินการหลวม ๆ และไม่ได้กำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม

ในด้านแผนการปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มีนโยบายสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ฟื้นฟูป่าชายเลนและสนับสนุนการปลูกป่า ฯลฯ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในทุกๆประเทศได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพในการปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้มากพอๆกับกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย (ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักอีกด้วย) ดังนั้นจะต้องมีเงินทุนสนับสนุนต่อการปรับตัวให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย แต่กว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่กลุ่มประเทศร่ำรวยเคยสัญญาว่าจะจ่ายให้ตั้งแต่ปี 2020 นั้น จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้จ่ายครบตามจำนวนดังกล่าว มิหนำซ้ำในการประชุมครั้งนี้ยังมีบางประเทศที่พยายามยกเลิกคำมั่นนั้นอีกด้วย

People's Climate Strike in Quezon City.
ในช่วงสัปดาห์การประชุม COP27 และ G20 ภาคประชาชนของฟิลิปปินส์รวมตัวกันในกิจกรรม “People’s climate strike” ณ Quezon City Memomrial Circle เกซอนซิตี้ ฟิลิปปินส์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย

ที่ประชุม COP27 ตกลงตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งจะเป็นกองทุนที่สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการตระหนักว่ายังมีเงินทุนไม่พอในด้านความสูญเสียและเสียหาย รวมถึงสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการปรับตัว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ การจัดการด้านความสูญเสียและความเสียหาย แต่ในการประชุมครั้งนี้ก็ยังไม่มีแผนที่แน่ชัดว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยจะเพิ่มเติมเงินเข้ามาในกองทุนอย่างไรบ้าง

เยบ ซาโน(Yeb Saño) ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ หัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วม COP27 ให้ความเห็นว่า “ชัยชนะของประชาชนในวันนี้ต่อประเด็นการชดเชยความสูญเสียและเสียหายจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเปิดโปงกลุ่มคนที่พยายามกีดกันการต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ผลักดันนโยบายเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไปถึงจุดหมายของความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศได้จริง”

Climate Strike at COP27.
กลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และวิกฤตสภาพภูมิอากาศใน COP27

อย่างที่เราทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่เป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นอกจากภาคพลังงานและการคมนาคมขนส่งทั่วโลก ซึ่งในการประชุม COP ครั้งนี้ภาคประชาสังคมก็คาดหวังว่าแต่ละประเทศจะใช้เวทีนี้เป็นเวทีเพื่อเจรจา ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน ปลอดภัย และเป็นธรรมกว่าเดิม

โดยข้อสรุปจาก COP27 ในด้านภาคการเกษตรก็ไม่ได้ส่งผลที่น่าพอใจต่อเครือข่ายภาคประชาสังคมและกลุ่มนักกิจกรรมมากนัก เพราะแม้ว่าจะมีข้อตกลงในการเพิ่มเงินสนับสนุนในการเปลี่ยนสู่ผ่านระบบอาหารที่ยั่งยืนกว่าเดิม รวมถึงเปิดตัวรายงาน Food and Agriculture for Sustainable Transformation Initiative (FAST) ซึ่งเป็นรายงานที่รวบรวมแนวทางเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้ยั่งยืนกว่าเดิมภายในปี 2030 แต่ประเด็นสำคัญอย่างปัญหาขยะอาหาร ประเด็นเรื่องสารอาหารในผลผลิต ประเด็นการกินอย่างยั่งยืน และห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ยังคงไม่ถูกพูดถึงในการประชุมครั้งนี้

ทิม เบนตัน จากองค์กร CHATHAM HOUSE เตือนว่าตราบใดที่โลกยังคงให้ความสำคัญกับระบบการผลิตอาหารเพียงอย่างเดียว โดยไม่รวมประเด็นการปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคซึ่งเกี่ยวโยงกับประเด็นการได้รับสารอาหารที่เพียงพอเข้าไปในการเจรจาแก้ปัญหา เราจะยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการแก้วิกฤตระบบอาหารและวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อไป 

นอกจากนี้ประเด็นการลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่กลุ่มประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม COP ที่กลาสโกลว์ แต่ข้อตกลงในครั้งนั้นไม่ได้รวมถึงความรับผิดชอบของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เป็นกลุ่มผู้ก่อก๊าซมีเทนมากที่สุดเข้าไปด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่านี่จะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงทำธุรกิจโดยทำลายสภาพภูมิอากาศโลกต่อไปได้

แล้วการประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่?

หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้น ต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อมลพิษอุตสาหกรรมฟอสซิลจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนกระทั่งก็มีการตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายในนาทีสุดท้าย 

แต่แม้ว่ากองทุนดังกล่าวจะเป็นชัยชนะก้าวหนึ่งต่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ การประชุมเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศไม่อาจประสบความสำเร็จได้เลยหากทั่วโลกยังไม่ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและผลักภาระรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษออกไปอีกหนึ่งปี และแน่นอนว่า COP27 ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่จะสร้างแรงกดดันให้กับการประชุม COP28 ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า

COP 27_Don't Gas Africa Event.
กิจกรรม Don’t Gas Africa ระหว่างการประชุม COP27 โดยนักรณรงค์ออกมาเรียกร้องให้โลกยุติการแบ่งแยกสีผิวซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแอฟริกา และเรียกร้องให้ภูมิภาคแอฟริกาเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่า และเป็นพลังงานที่ประชาชนในแอฟริกาสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม

COP ครั้งนี้แม้จะถูกจัดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาและได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่เน้นย้ำการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่กลับเปิดโต๊ะเจรจากันจริง ๆ น้อยมาก อีกทั้งยังไม่ได้เปิดให้กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปให้ความเห็นในแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

มีการคาดการณ์ว่ากองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจะเป็นกองทุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา แต่ COP ครั้งนี้ยังมีปัจจัยทางด้านผลประโยชน์ทางการเมืองที่ยังขัดขวางการบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี

ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

แม้จะมีข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่ายหลังการประชุมครั้งนี้ แต่ข้อตกลงอย่างกองทุนการชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น จะต้องถูกนำไปดำเนินการทันทีและต้องดำเนินการในระยะยาวอีกด้วย โดยจะต้องจับตามองว่าแต่ละประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลักที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นจะรับผิดชอบต่อวิกฤตนี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ เพียงแค่การสนับสนุนด้านการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นได้ แต่การร่วมกันสร้างมาตรการปรับตัวและรับมือจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะช่วยให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพมากพอที่จะปรับตัวไปพร้อม ๆ กับกลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

Climate Justice Activity in Marikina, Philippines.
นักกิจกรรมกรีนพีซและตัวแทนผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ ถือป้ายผ้าประท้วงหน้าจุดวัดระดับน้ำในแม่น้ำจังหวัด Marikina โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยืนหยัดต่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 จังหวัด Marikina เป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่น โดยประสบกับฝนที่ตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน

การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุม COP ครั้งที่ 28 โดยจะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอาหรับ อิมิเรตส์ ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่นักกิจกรรมและเครือข่ายภาคประชาชนยังต้องเจอกับการปิดกั้นการมีส่วนร่วมเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่อียิปต์ พลังของประชาชนที่เรียกร้องการชดใช้ความสูญเสียและเสียหายได้สำเร็จ จะยังคงเดินหน้ารณรงค์ต่อไปเพื่อเปิดโปงกลุ่มคนที่พยายามกีดกันการต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ผลักดันนโยบายเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม

การต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศรวมทั้งการรณรงค์ประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศไม่ใช่การเล่นเกมที่มีฝ่ายแพ้หรือชนะ แต่เป็นสถานการณ์ที่หากเราไม่ร่วมมือกันเราทุกคนจะพ่ายแพ้ สิ่งหนึ่งที่ควรจำให้ขึ้นใจคือเราไม่สามารถเล่นเกมต่อรองกับธรรมชาติ ธรรมชาติไม่เคยรอมชอมกับใคร