ผ่านไปแล้วครึ่งทางสำหรับการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP ครั้งที่ 27 (COP27) โดยเกิดขึ้นที่เมือง ชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์ โดยมีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อพูดคุยเจรจาทางออกในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งในปีนี้มีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจนั่นคือ การจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) และยังเป็นกองทุนด้านการเงินที่กลุ่มประเทศร่ำรวยและเป็นผู้ก่อมลพิษหลัก มีส่วนในการรับผิดชอบต่อการทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ต้องสนับสนุนให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่แม้จะเป็นประเทศที่ก่อมลพิษน้อยแต่กลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก โดยประเทศเหล่านี้ถือเป็นประเทศแนวหน้าที่ต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง 

โดยภาคประชาสังคมและประชาชนที่ขับเคลื่อนในประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) หวังว่าการเจรจาในครั้งนี้จะทำให้เกิดกองทุนดังกล่าว เพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย รวมทั้งยังเป็นทุนให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ปรับตัวและเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดคล้องไปกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดทุกแหล่งเพื่อคงอุณหภูมิโลกไม่ให้แปรปรวนไปมากกว่านี้

ภาพผู้หญิงกำลังมองบ้านของเธอถูกทำลายจากน้ำท่วมรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเคนยา เหตุการณ์ครั้งนี้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่าหลายพันคน พืชพรรณอาหารถูกทำลาย โดยสภาพอากาศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก โดยต้องเผชิญทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและภัยแล้งที่รุนแรงบ่อยขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการรวมตัวเจรจาที่อียิปต์ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเครือข่ายประชาชนทั่วโลกต่างมีข้อสงสัยถึงการประชุม COP27 ที่ยังไม่เกิดขึ้นว่า หรือการประชุมครั้งนี้อาจเป็นเพียงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำและเป็นเพียงการ ‘ฟอกเขียว (Greenwashing)’ ของกลุ่มผู้ก่อมลพิษหลักที่พยายามทำให้ตัวเองดูเหมือนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ตั้งแต่ประเด็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่อย่าง โคคา-โคลา (Coca-Cola) ที่ได้ลงนามในความร่วมมือกับรัฐบาลอียิปต์ในฐานะสปอนเซอร์การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP27) ทั้ง ๆ ที่ โคคา-โคลา ผลิตขวดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง 120,000 ล้านขวดต่อปี และพลาสติก 99% ทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดทั้งวิกฤตพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย

ทั้งนี้ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่าง เกรียตา ทุนแบร์ย (Greta Thunberg) ยังได้ออกมายืนยันว่าตนเองจะไม่ไปร่วมการประชุม COP 27 ครั้งนี้ โดยเธอให้ความเห็นว่าเวทีดังกล่าวมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเพียงการฟอกเขียว โดยไม่ได้มุ่งไปที่การแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังให้ความเห็นอีกว่า COP27 ให้พื้นที่กับภาคประชาสังคม เครือข่ายประชาชนไว้อย่างจำกัดมาก

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงและยังมีการจำกัดการเข้าร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคม แต่ก็ยังมีนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในแถบภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเข้าร่วมงาน แถลงการณ์ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นจำนวนไม่น้อย เนื่องจากภูมิภาคที่พวกเขาอาศัยอยู่ (และยังเป็นสถานที่จัดประชุม COP27) เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศหนักหนาไม่น้อยไปกว่าภูมิภาคอื่นๆเลย

ครึ่งทางการประชุม COP27

การประชุม COP27 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยในแต่ละวันจะมีการแบ่งวาระการประชุมออกเป็นประเด็นย่อย ๆ เช่น ประเด็นการปกป้องผืนป่า การจัดการปัญหาภัยแล้ง แผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิสตรี และการชดเชยความสูญเสียและเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแต่ละวันจะมีการยกข้อมูลจากรายงานของสหประชาชาติเข้ามาประกอบ ในปีนี้มีรายงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งเผยแพร่โดยองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลของค์กร บริษัท ธนาคาร ประเทศต่าง ๆ ที่ให้คำมั่นสัญญาในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเปิดเผยถึงการใช้ การบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างความสับสนให้กับประชาชนเพื่อทำให้ตัวเองดูเหมือนจะแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศแล้ว 

ในปีนี้ มีหลายประเทศที่ออกมาเรียกร้องให้ COP27 เพิ่มประเด็นการเลิกสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามาเป็นวาระสำคัญ ซึ่งจะเป็นทั้งการต่อยอดจากการประชุม COP26 และยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอีกด้วย

แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเนื่องจากครึ่งทางที่ผ่านมายังไม่มีการพูดคุยถึงแผนการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเลยก็ตาม (มีเพียงการประกาศเจตนารมณ์ของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคส่วนอื่น ๆ ) แต่ประเด็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) ก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นวาระหลักเพื่อเจรจาพูดคุยแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่ากลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ผู้ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษหลักมาอย่างยาวนานจะยินยอมจ่ายเงินชดเชยหรือไม่

ไฮไลท์ครึ่งแรกของ COP27

  • ฝรั่งเศสประกาศคัดค้านการทำเหมืองใต้ทะเล ล่าสุดฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประกาศคัดค้านการทำเหมืองใต้ทะเลลึก (Deep Sea Mining) ร่วมกับอีกหลายประเทศ โดยมองว่าการคัดค้านตั้งแต่โครงการยังไม่เกิดขึ้นจะส่งผลดีกว่าจะตามไปแก้ไขปัญหาในภายหลัง
  • สิทธิสตรีกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เครือข่ายด้านสิทธิสตรีกว่า 40 เครือข่ายที่รวมตัวจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา เรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  • กลุ่มผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้โควต้าในการเข้าร่วมประชุม COP27 มีจำนวนมากกว่า 600 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า COP26  ถึง 25% ซึ่งหาก UN ต้องการการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาควรทำคือไม่ยอมให้กลุ่มผู้ก่อมลพิษเหล่านี้เข้ามาเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศ
  • คำมั่นสัญญาในการปกป้องผืนป่ายังล้มเหลว แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายประเทศได้ลงนามให้คำมั่นสัญญาในการปกป้องผืนป่าจากการถูกทำลาย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายการปกป้องป่าและสิทธิชนพื้นเมืองที่เป็นผู้อาศัยและพิทักษ์ป่าอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงยังมีการตั้งคำถามถึงกองทุนสนับสนุนการปกป้องป่าที่เคยให้สัญญาเอาไว้อีกด้วย

ประชาชนร่วมส่งเสียงถึงผู้นำใน COP27

แม้ว่าภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน จะถูกจำกัดออกจากการประชุมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถหยุดเสียงเรียกร้องของประชาชนและชุมชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ 

  • #FloodTheCOP กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จากกลุ่มสตรีในประเทศซีกโลกใต้ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นซึ่งกำลังคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิต โดยร่วมกันแต่งตัวด้วยชุดสีน้ำเงินแทนสีของระดับน้ำทะเลที่กำลังจะท่วม แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหาย
  • Don’t gas Africa กลุ่มนักกิจกรรมและนักรณรงค์จากแอฟริการวมตัวกันหน้าสถานที่ประชุม COP27 เรียกร้องให้หยุดสนับสนุนโครงการสำรวจก๊าซในแอฟริกา โดยต้องการให้เพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค ซึ่งจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นธรรม ต้องใช้ระบบกระจายศูนย์เพื่อให้ชาวแอฟริกันได้เข้าถึงพลังงานอย่างเป็นธรรม
COP 27_Don't Gas Africa Event.
กิจกรรม Don’t Gas Africa ระหว่างการประชุม COP27 โดยนักรณรงค์ออกมาเรียกร้องให้โลกยุติการแบ่งแยกสีผิวซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแอฟริกา และเรียกร้องให้ภูมิภาคแอฟริกาเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่า และเป็นพลังงานที่ประชาชนในแอฟริกาสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรรม
  • United For Climate Justice การรวมตัวของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ ร่วมเดินทางกับกรีนพีซ เรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศช่วง COP27 ด้วยเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการส่งเสียงแห่งความหวัง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ไปสู่ประชุม COP27
Rainbow Warrior United for Climate tour in Egypt.
กลุ่มผู้นำเยาวชน วาทาน โมฮัมหมัด (ซ้าย) จากซูดาน และ อาเลีย ฮัมหมัด จากอียิปต์ ถือป้ายข้อความชื่อกิจกรรมรณรงค์ United for Climate Justice ถ่ายภาพพร้อมกับเรือเรนโบว์วร์ริเออร์ของกรีนพีซ ในทะเลเมดิเตอเรเนียนใล้กับอียิปต์

นี่เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เรายกตัวอย่าง ตอนนี้ในทุก ๆ วันของการประชุมต่างมีนักกิจกรรมรุ่นใหม่มากมายเดินทางมาร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศอยู่อย่างไม่ขาดสาย

COP27 ต้องสร้างอนาคตที่ปลอดภัย และเป็นธรรมสำหรับทุกคน

แม้ว่าการประชุมเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกที่ COP27 ดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่สองแล้ว แต่กรีนพีซยังยืนยันว่าความหวังที่จะกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กลับคืนมาได้ ก็ต่อเมื่อโลกจะต้องละวางเรื่องผลประโยชน์ลงและให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

การประชุม COP27 จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการตกลงตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนำไปฟื้นฟู ปรับตัวรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนผ่านประเทศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เร่งให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เยบ ซาโน(Yeb Saño) ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ หัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วม COP27 กล่าวว่า: 

“ตอนนี้เสียงของผู้คนและโลกกำลังถูกกีดกัน พวกเขาถูกผลักให้ไปอยู่ในมุมเล็ก ๆ ของการประชุม COP27 ขณะที่ผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มทุนและเชื้อเพลิงฟอสซิลได้รับการฉายแสงให้เป็นที่สนใจ และทั้ง ๆ ที่ COP ครั้งนี้ควรจะเป็น COP ที่พูดคุยปัญหาสภาพภูมิอากาศในแอฟริกาด้วยซ้ำ เพราะภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ดังนั้น เสียงจากผู้คนที่ได้รับผลกระทบต่างหากที่ควรได้รับความสนใจและทางออกในการแก้ไข ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษที่พยายามฟอกเขียวตนเอง”

COP27 ICJAO Press Conference in Sharm el Sheik.
เยบ ซาโน(Yeb Saño) ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ หัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วม COP27

“หากต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศจริง ก็จะต้องหยุดให้แสงกับผู้ก่อมลพิษหลักเสีย และยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้คนจริง ๆ ยุติการลงทุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หันมาให้ความสนับสนุนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนแทน อย่างไรก็ตามการผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ แบบนี้ถือเป็นการทำลายชีวิตผู้คน วิถีชีวิต ระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจ”

“ประเด็นความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) กลายเป็นหนึ่งในวาระการประชุมหลังจากการเจรจาอันยาวนานที่ชาร์ม เอล-เชค และจะต้องมีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพออกมาให้ได้ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะต้องยืนยันความต้องการที่จะมีการก่อตั้งกองทุนดังกล่าว”

“ถึงเวลาที่จะต้องหยุดการใช้เพียงวาทศิลป์และลงมือแก้ไขในเชิงระบบ เพื่อเปลี่ยนการสนับสนุนด้านการเงินมหาศาลที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มาเป็นกองทุนในการต่อกรวิกฤตดังกล่าวและเปลี่ยนผ่านให้ประเทศยั่งยืนมากขึ้น เราจะเห็นได้จากการทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อจัดการกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในสองปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าจะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหากมีการรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งในเชิงนโยบายและการลงทุนด้านงบประมาณ เราก็จะผ่านวิกฤตมาได้”

COP27 Flood The COP.
กิจกรรม #FloodtheCop โดยนักกิจกรรมจากปากีสถานและไนจีเรีย ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วมฉับพลัน กลุ่มผู้หญิงที่อยู่แนวหน้าจากประเทศซีกโลกใต้ลุกขึ้นมาประท้วงหน้าที่ประชุม COP27 เรียกร้องให้ประเทศผู้ก่อมลพิษชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายเนื่องจากมลพิษที่ตัวเองก่อมาเป็นเวลานับศตวรรษ

หลังจากนี้ มาร่วมกันจับตาในประเด็นกองทุนการชดเชยความสูญเสียและเสียหายที่มีการเจรจาอยู่ ณ ขณะนี้ ร่วมติดตามว่ารัฐบาลของกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่านับตั้งแต่ในอดีตและร่ำรวยกว่า จะจ่ายค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือไม่ 

เรายังหวังว่า COP27 จะสามารถสร้างความคืบหน้าที่สำคัญในด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและการสนับสนุนกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบันและอนาคตให้เกิดขึ้นได้ ทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ความสมานฉันท์ และภาระรับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องของการเมืองและผลประโยชน์ โดยกลุ่มผู้นำประเทศที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ ต้องเป็นคำสัญญาที่แท้จริงในด้านการเงินเพื่ออนาคตที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นธรรมสำหรับทุกคน