ในการประชุม COP27 ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง ชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ตั้งแต่ที่ 6 – 18 พฤศจิกายน 2565 นอกจากจะเป็นเวทีเพื่อการเจรจาเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ รวมถึงแผนการจัดการเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศแล้ว การประชุม COP27 ครั้งนี้ หลายประเทศในกลุ่มประเทศเล็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ต่างก็ตบเท้ามาเพื่อเจรจากับกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและเป็นกลุ่มผู้ก่อมลพิษหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น ‘การจัดการเงินทุนเพื่อรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ 

กลุ่มประเทศร่ำรวยและการก่อมลพิษ ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Climate Strike at COP27.
กลุ่มนักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศจากหลายประเทศในซีกโลกใต้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนักรณรงค์ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายต่อปลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ

เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1760 เรื่อยมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการทำเกษตรกรรม การใช้แรงงานมนุษย์มาพึ่งพาเครื่องจักรและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะนำความทันสมัยและเทคโนโลยีมากมาย แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส 

อธิบายง่าย ๆ คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรื่อยมาหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน นำมาสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แน่นอนว่าแต่ละประเทศต่างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์คาร์บอนบรีฟ ระบุถึงสถิติกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดตั้งแต่ปี 1850 – 2021 คำนวนจากแหล่งกำเนิดการปล่อยก๊าซคือเชื้อเพลิงฟอสซิล และการใช้ที่ดิน ตามกราฟต่อไปนี้

ที่มา: บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ CarbonBrief

เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการใช้ที่ดิน ตั้งแต่ปี 1850 – 2021 สามอันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีนและรัสเซีย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย 

Patnów Power Coal Fired Power Station. © Greenpeace / Will Rose
© Greenpeace / Will Rose

ในขณะที่อันดับ 4-5 ได้แก่ บราซิลและอินโดนีเซีย ติดอันดับเนื่องจากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ที่ดิน เนื่องจากประสบปัญหาการรุกรานพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน มีการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรเชิงอุตสาหกรรมและทำเหมืองผิดกฎหมาย ตามมาด้วยอันดับ 6 ได้แก่ เยอรมนี ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาพลังงานถ่านหิน

หากลองวิเคราะห์ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว เราจะพบข้อมูลที่น่าสนใจตามกราฟด้านล่างคือ ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงขึ้นกว่าเดิมมหาศาลและรวดเร็ว

ที่มา: บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ CarbonBrief

และสิ่งที่เกิดขึ้นคือภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สร้างภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น บ่อยครั้งขึ้น เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง ปรากฎการณ์โพลาร์ วอเท็กซ์ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุหมุนที่รุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี กระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหารโลกเนื่องจากไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

หลายประเทศทั่วโลกต้องรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นความสูญเสียจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สรุปเอาไว้ว่าในปี 2021 เป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่ที่องค์การได้บันทึกสถิติเอาไว้ ซึ่งการที่เราไม่สามารถรักษาให้โลกคงอยู่ในอุณหภูมิที่ควรจะเป็น นั่นทำให้เราต้องเจอกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วดังเช่นในปีนี้ เช่น เหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในหลายประเทศ คลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดไฟป่าเป็นวงกว้างในหลายเประเทศทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนในเอเชียก็ไม่น้อยหน้า ต้องเจอทั้งคลื่นความร้อนและฝนตกหนักกว่าปกติอีกด้วย

Flooded Roads after Pabuk Cyclone in Thailand.
ภาพน้ำท่วมในนครศรีธรรมราช ขณะที่พายุหมุนฤดูร้อน ปาบึก พัดเข้าถล่มจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน พายุลูกดังกล่าวถือเป็นพายุที่รุนแรงจนทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพและส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกหลายพันชีวิต

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)) ระบุถึงดัชนีความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ช่วงปี 2000 – 2019 ซึ่งประเทศ 9 อันดับที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้แก่

  1. เปอร์โต ริโก
  2. เมียนมา
  3. เฮติ
  4. ฟิลิปปินส์
  5. โมซัมบิค
  6. บาฮามัส
  7. บังคลาเทศ
  8. ปากีสถาน
  9. ไทย
ที่มา: Global Climate Risk Index 2021

สิ่งที่ทั้ง 9 ประเทศนี้ต้องเจอคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก อีกทั้งประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรมากพอที่จะรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงปรับตัวในวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ได้เลย

เมื่อต้องสูญเสียจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเริ่มเรียกร้อง “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” เพื่อสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในโลกที่ปลอดภัยจากกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก นอกจากนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคำมั่นสัญญาที่กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักให้ไว้เกี่ยวกับแผนการที่โลกจะปรับตัวให้รับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจึงออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักให้ความสำคัญด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ โดยต้องจัดตั้งกองทุนด้านการเงินเพื่อบรรเทาการสูญเสียและชดเชยให้กับกลุ่มคนเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

วิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว แผนการที่เคยให้ไว้คงไม่พอที่จะแก้วิกฤต จึงต้องรับมือปรับตัวให้อยู่กับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วให้ได้

Heat Wave in Seoul. © Soojung Do / Greenpeace
ชาวบ้านถือร่มจับจ่ายวัตถุดิบและอาหารในตลาดนัมแดมุน โดยถือร่มเพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดและอากาศที่ร้อนจัดจากอุณหภูมิที่ร้อนทุบสถิติในเกาหลีใต้ © Soojung Do / Greenpeace

การประชุม COP27 กับการเรียกร้องการชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าการประชุม COP27 ถือเป็นเวทีที่กลุ่มประเทศร่ำรวยและกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะมาเจอกัน เป็นโอกาสในการเจรจาต่อรอง หรือให้คำมั่นสัญญาร่วมกันเพื่อสภาพภูมิอากาศโลก ความเป็นธรรมต่อทุกชีวิต และอนาคตของโลกที่ปลอดภัย

ในการประชุม COP 27 นี้ มีกลุ่มนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิจากมนุษยชนมากมายที่ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศร่ำรวยที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลักต้องจ่ายค่าชดใช้ต่อความเสียหาย ความสูญเสียจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือด้านแผนนโยบาย เทคโนโลยี รวมถึงการจัดตั้งกองทุนด้านการเงิน เพื่อช่วยให้กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมีศักยภาพมากพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้เท่าเทียมกับกลุ่มประเทศร่ำรวยได้

COP27 Flood The COP.
กิจกรรม #FloodtheCop โดยนักกิจกรรมจากปากีสถานและไนจีเรีย ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วมฉับพลัน กลุ่มผู้หญิงที่อยู่แนวหน้าจากประเทศซีกโลกใต้ลุกขึ้นมาประท้วงหน้าที่ประชุม COP27 เรียกร้องให้ประเทศผู้ก่อมลพิษชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายเนื่องจากมลพิษที่ตัวเองก่อมาเป็นเวลานับศตวรรษ

โดยก่อนการประชุม COP 27 เยป ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วมประชุม COP 27 กล่าวว่า

“ความรู้สึกปลอดภัยและได้รับความใส่ใจ คือหัวใจสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราทุกคนบนโลกใบนี้ และนี่คือสิ่งที่ COP 27 จำเป็นต้องมี และสามารถเกิดขึ้นได้หากผู้นำประเทศเลือกความเป็นธรรม ภาระรับผิดชอบ และสนับสนุนการเงินสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นี่คือองค์ประกอบหลักสามประการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่เพียงแต่ในระหว่างการเจรจาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำเนินการในภายหลังด้วย วิธีแก้ปัญหา และภูมิปัญญาต่าง ๆ จากชนพื้นเมือง ชุมชนแนวหน้า และเยาวชนมีอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือเจตจำนงของรัฐบาลและบรรษัทที่ร่ำรวยและก่อมลพิษที่จะลงมือดำเนินการ แต่พวกเขาต้องได้รับการย้ำเตือน”

การเคลื่อนไหวรณรงค์ระดับโลกที่นำโดยชนพื้นเมือง และกลุ่มคนหนุ่มสาว จะขยายเพิ่มขึ้นต่อไป หากผู้นำโลกล้มเหลวอีกครั้ง ซึ่งก่อนการประชุม COP27 ที่จะถึงนี้ เราขอเรียกร้องให้ผู้นำลุกขึ้นมาสร้างความเชื่อมั่น และแผนงานที่เราต้องการ ใช้โอกาสในการทำงานร่วมกัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและโลก”

ด้าน กีห์วา นาคัท ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กล่าวว่า “นี่คือช่วงเวลาวิกฤตในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในปีนี้ที่การประชุม COP27 จัดขึ้นในแอฟริกาและมีอียิปต์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเปิดให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีบทบาทสำคัญแม้ว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด”

ทั้งนี้ เราจะต้องไม่ลืมเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ ผู้นำประเทศที่ปล่อยมลพิษจะต้องทำให้การจำกัดอุณภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 (ภายใต้ความตกลงปารีส) สอดคล้องไปกับกำหนดการปลดระวางการผลิตและการใช้ถ่านหิน ก๊าซฟอสซิลและน้ำมันทั่วโลกอย่างชัดเจน รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่า ปกป้องชนพื้นเมืองซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ป่าอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว เราคาดหวังว่าการประชุม COP27 ครั้งนี้ จะสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับทุกคน กลุ่มผู้นำโลกและกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลักจะต้องหยุดนิ่งเฉยกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และต้องหยุดฟอกเขียวเพื่อทำให้ตัวเอง ‘ดูเหมือน’ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม