เราและกลุ่มประเทศซีกโลกใต้กำลังต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และนี่คือการเรียกร้องครั้งสำคัญ

Rainbow Warrior United for Climate tour in Egypt.
ผู้นำเยาวชนจากอียิปต์ เอเลีย ฮัมหมัด (ซ้าย) และวาทาน โมฮัมเหม็ด จากซูดาน (ขวา) เดินทางร่วมกับลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ทั้งสองคนกำลังถือป้ายผ้าที่มีข้อความ ‘ United for Climate Justice ship tour’ ความเป็นหนึ่งเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ บริเวณทะเลเมดิเตอเรเนียนใกล้กับอียิปต์ © Andrew McConnell / Greenpeace

การเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รณรงค์ปกป้องสภาพภูมิอากาศจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังจะมีการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกอย่าง COP27 เกิดขึ้นอีกด้วย และในการประชุมครั้งนี้ เหล่าผู้นำประเทศจะต้องฟังเสียงของพวกเขา

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เยาวชนผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายกว่า 400 คนมารวมตัวกันในค่ายเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่ตูนีเซีย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และไอเดียในการทำงานขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศให้เข้มแข็งมากขึ้น และตอนนี้ก็มีคนรุ่นใหม่ที่ร่วมเดินทางไปกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซโดยมีจุดหมายปลายทางที่อียิปต์ เพื่อผลักดันประเด็นความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

หลายประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และอีกหลายประเทศเป็นประเทศที่เปราะบางและกำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน การขาดแคลนอาหาร และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับภาวะแผ่นดินกลายเป็นทะเลทรายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ภาพการเปิดตัวการล่องเรือเพื่อรณรงค์ในประเด็น ‘รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ ที่ท่าเรืออเล็กซานเดรีย วิทยากรชูประเด็นความเร่งด่วนของการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ผู้นำโลกจะต้องมุ่งมั่นมากกว่านี้ ทั้งนี้ยังมีการพูดคุยในประเด็นการสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ชุมชนระดับรากฐาน ในเชิงนโยบาย การสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ และมุมมองจากชุมชนท้องถิ่น © Greenpeace

ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ยังคงเพิกเฉยและไม่ให้การสนับสนุนชดเชยค่าเสียหายให้กับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีศักยภาพมากพอ

กองเรือทะเลต้อนรับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซ โดยบนเรือมีทั้งลูกเรือและกลุ่มเยาวชนผู้นำด้านการรณรงค์สภาพภูมิอากาศ เดินทางมาถึงเมืองฮูร์กาดาที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลแดง อียิปต์ © Andrew McConnell / Greenpeace

“เราจะเป็นตัวแทนของประชาชนที่เป็นแนวหน้าในการเชิญกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

มารู้จักกับกลุ่มเยาวชนผู้นำการรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศเข้าร่วมการเดินทาง ‘รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการส่งเสียงแห่งความหวัง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปสู่ประชุม COP27 

อายิชา ซิดดิคา – ปากีสถาน/สหรัฐอเมริกา

“การยืนหยัดเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจหลักของการต่อสู้เพื่อความรัก เพราะมันมาจากความรักความหวงแหนเพื่อเพื่อนมนุษย์ หากปราศจากความมีมนุษยธรรมแล้ว ความสุขและเสียงหัวเราะย่อมหายไปเช่นกัน ดังนั้นเราจะไม่ยอมให้สิ่งดีๆ อันมีค่าเหล่านี้ต้องเผชิญกับภัยคุกคามหรือเสี่ยงอันตราย”

เรากำลังหลงลืมความเชื่อมโยงกันระหว่างเราทุกคนบนโลก รวมทั้งการปกป้องรักษา ‘บ้าน’ ของเรา ความจริงแล้ว มนุษย์ทุกคนบนโลกต่างเชื่อมโยงกัน เราหัวเราะยามมีความสุขและเราร่วมร้องไห้ในยามทุกข์ ตอนนี้พวกเรากำลังเรียกร้องให้มนุษยชาติรื้อฟื้น ความรักที่มีต่อกัน กลับคืนมา

นี่คือหนึ่งในหลายเหตุผลที่ฉันเข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้ ซึ่งฉันสนับสนุนการรณรงค์ “The United for Climate Justice” หรืองานรณรงค์ ‘‘รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’’ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้จากกลุ่มคนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยให้พวกเราได้ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม พร้อมกับรักษา ‘บ้าน’ ของเราเอาไว้

กินห์วา ซีนนี – ปาเลสไตน์

“ตอนนี้โลกของเราจะต้องปรับมุมมองเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศใหม่ และจะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น ในฐานะของผู้หญิงในยุคใหม่ ฉันกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในนักรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงกับการเดินทางครั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ต่อสู้เรียกร้องเพื่อโลกที่ทุกคนอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน”

ฟาติมา ยัสซิน – เลบานอน

“เราโชคดีที่อาศัยอยู่บนโลก แต่คนรุ่นหลังจะยังคงมีโลกที่ปลอดภัยให้อาศัยหรือไม่? นี่คือเหตุผลที่ฉันเข้าร่วมรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ รวมทั้งเข้าร่วมค่ายเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศในตูนีเซีย เราและกรีนพีซกำลังเดินทางไปยังการประชุม COP27 เพื่อแสดงให้ผู้นำโลกเห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ”

ทาริค อัล-โอไลมี – บาฮาเรียน

Youth climate champion Tariq Al-Olaimy from Bahrain.

“ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กเป็นแนวหน้าที่เผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ทั้ง ๆ ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตที่จำกัด พวกเขาต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่และความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังผลักให้กลุ่มประเทศดังกล่าวต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อปรับตัวรับมือกับภัยพิบัติ”

การเดินทางของเรือกรีนพีซเพื่อไปยังการประชุม COP 27 ครั้งนี้ เราจำเป็นต้องส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศให้กับกลุ่มประเทศหมู่เกาะ ทั้ง สะวานา แอฟริกาและอีกหลายประเทศซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเปราะบาง เราจะต้องรวมประเทศต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤตไปพร้อมกัน”

วาทาน โมฮัมหมัด – ซูดาน

Youth climate champion Watan Mohammed from Sudan, pictured on-board the Rainbow Warrior, in the Red Sea, Egypt.

“สำหรับฉัน ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศนั้นหมายถึงการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะต้องขับเคลื่อนไปเป็นองคาพยพ ครอบคลุมกลุ่มประเทศที่เปราะบาง โดยกลุ่มคนชายขอบจะต้องไม่ถูกละเลยออกจากการแก้ไขปัญหานี้”

วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตคนหลายล้านทั่วโลกอย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤตครั้งนี้ยังเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อลูกหลานของเราในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นกลุ่มผู้นำเยาวชนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอื่น ๆ ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อให้โลกเกิดความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

สำหรับการประชุม COP 27 ผู้นำประเทศจะต้องยึดมั่นกับคำสัญญาของตัวเองที่ให้ไว้ และเพื่อปกป้องสิทธิและชีวิตของลูกหลานเราให้สามารถอาศัยอยู่บนโลกที่ปลอดภัย ก็จะต้องเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและมุ่งมั่นให้โลกเกิดความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ