ปัจจุบันผู้คนและชุมชนท้องถิ่นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล่าสุดเราและนักวิจัยได้ทำงานร่วมกันเพื่อสำรวจภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แหล่งที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และอัตลักษณ์การดำรงชีพกำลังถูกทำลาย

เพราะตอนนี้อุณหภูมิในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกถึงสองเท่า นั่นทำให้ระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของผู้คนในอัลจีเรีย อียิปต์ เลบานอน โมรอคโค ตูนีเซียและสหรัฐอาหรับ อิมิเรต กำลังเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

ในแอฟริกาเหนือที่รวมถึงโมรอคโค แอลจีเรีย ตูนีเซีย และอียิปต์ วิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิในฤดูร้อนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งในระดับน้ำฝนในฤดูฝนก็ยังน้อยลงอีกด้วย ก่อนหน้านี้ในช่วง 500-900 ปี ภูมิภาคดังกล่าวไม่เคยเผชิญกับภัยแล้งติดต่อกันหลายปีมาก่อน แม้ว่าโดยปกติแล้วประเทศเหล่านี้จะตั้งอยู่ในคาบสมุทรอาหรับที่มีอุณหภูมิสูงและมีระดับน้ำฝนน้อยอยู่แล้ว แต่ตอนนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแห้งแล้งปรากฎให้เห็นชัดเจนมากขึ้นและจะร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษนี้

แอฟริกากำลังเผชิญความแห้งแล้งและความร้อนที่สูงขึ้นเพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และหากแอฟริกายังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปเรื่อยๆ  ระดับความร้อนที่สูงขึ้นนี้อาจเพิ่มขึ้นอีกถึง 3-6 องศาเซลเซียสในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะสูงขึ้นหนักหน่วงกว่าเดิมทำให้การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในบางพื้นที่ในทวีปแอฟริกาทำได้ยากมากขึ้นซึ่งจะทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมและดินถล่ม อีกด้านหนึ่งหากต้องเจอกับภัยแล้ง ประชาชนก็จะต้องเจอกับความร้อนรุนแรงขึ้นและกินระยะเวลานานขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ภัยแล้งอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ตั๊กแตนระบาดทำลายผลผลิตทางการเกษตร การขาดแคลนน้ำและไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์อาหารได้ ผลกระทบทั้งหมดนี้รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นหรือพายุที่รุนแรงกว่าเดิม ย่อมเป็นกลุ่มชุมชนท้องถิ่นที่จะต้องเผชิญเป็นกลุ่มแรก

ภาพปะการังในทะเลแดงที่กำลังฟอกขาวเนื่องจากไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิน้ำบนผิวทะเลที่สูงขึ้นได้อีกต่อไป © Paul Langrock / Greenpeace

แม้ว่าประเทศในแถบตะวันออกกลางจะมีเงื่อนไขทางสภาพอากาศที่ท้าทายอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากหลายประเทศมีภูมิอากาศที่แห้งแล้งหากเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา

COP27 จะต้องสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและจะต้องมีกองทุนเพื่อชดเชยต่อความเสียหายให้กับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

น้ำท่วมฉับพลัน คลื่นความร้อนรุนแรง ภัยแล้ง ไฟป่าและพายุไซโคลน หายนะเหล่านี้กำลังเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น คาดเดาได้ยากขึ้นและในที่สุดมันคือหายนะสำหรับประชาชน หากกลุ่มผู้ก่อมลพิษหลักที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงปฏิเสธที่จะชดเชยค่าเสียหายต่อชุมชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นผู้ที่ต้องทนทุกข์ต่อภัยพิบัติเหล่านี้

หายนะในปากีสถานหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าทำไมกลุ่มประเทศที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องชดใช้และรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยแบบจำลองจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมคิดเป็นความเสียหานต่อเศรษฐกิจมูลค่าสามหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านรายงานจากอ็อกแฟมที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาระบุว่ามีประเทศ 55 ประเทศที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมเป็นเงินมากกว่า 0.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 20 ปีแรกของศตวรรษนี้

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคำมั่นสัญญาที่มีอยู่เดิมเกี่ยวกับการปรับตัวรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (หมายถึงแผนการที่โลกจะปรับตัวให้รับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ) และการบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ นอกเหนือจากนี้ ผู้นำระดับโลกที่จะเข้าร่วมประชุม COP27 จะต้องให้ความสำคัญด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ โดยต้องจัดตั้งกองทุนด้านการเงินเพื่อบรรเทาการสูญเสียและชดเชยให้กับกลุ่มคนเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเงินในกองทุนนี้จะเป็นเงินสนับสนุน ไม่ใช่เงินที่มาจากการกู้

ฟาร์มพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ตั้งอยู่ในโมรอคโก โดยภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีทรัพยากรเพือพลังงานหมุนเวียนมากมายเช่น แสงอาทิตย์ ลม ซึ่งมีศักยภาพผลิตพลังงานให้กับภูมิภาคเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและสงบสุข © Paul Langrock / Greenpeace

หากไม่มีการชดเชยความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในด้านการเงินที่เพียงพอ โลกของเราก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในการฟื้นฟูและปรับตัวรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่นการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่หนทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างการใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคต พลังงานหมุนเวียนนี้ยังปลอดภัยและเป็นทางออกที่สะอาดสำหรับภูมิภาคนี้ที่ประชากรยังขาดแคลนพลังงาน ซึ่งประชากรในภูมิภาคกว่าครึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้หรือต้องประสบกับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเนื่องจากการผลิตพลังงานที่ไม่เพียงพอ

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังต้องเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล สู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อปลดแอกจากพันธนาการด้านพลังงาน ดังนั้น ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ภูมิภาคตะวันออกกลางจะต้องเดินตามเส้นทางเดียวกับที่กลุ่มประเทศโลกตะวันตกทำมาตลอดกว่า 300 ปี ซึ่งเส้นทางนั้นเองที่ทำให้โลกของเราต้องเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศดังเช่นทุกวันนี้

เราหวังอย่างยิ่งว่าการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลกเช่น COP27 นี้จะเป็นโอกาสที่จะเปิดเวทีเจรจาเกี่ยวกับภัยคุกคามและควมท้าทายที่เราต้องเผชิญ และยังจะเป็นเวทีที่ร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายซึ่งจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ การเข้าถึงพลังงาน และการชดเชยความเสียหาย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราเรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของภูมิภาคและโลกของเรา


บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ