มีการใช้เงินอุดหนุนกับพลังงานทุกรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นพลังงานใดก็ตามต่างก็ต้องอาศัยเงินอุดหนุนทั้งสิ้น ทั้งในรูปแบบของเครดิตภาษี การรับประกันราคา การวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและทำความสะอาดต่างๆ ฯลฯ โดยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเป็นพลังงานที่ได้รับเงินอุดหนุนในสัดส่วนที่มากที่สุด อีกทั้งยังได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

สิ่งนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เนื่องจากมีการใช้เงินอุดหนุนเหล่านี้มาเป็นเวลานานจนกระทั่งได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารพื้นที่ต่างๆ จึงกลายเป็นว่าเงินจำนวนนี้ไม่ถูกนับว่าเป็นเงินอุดหนุนทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วก็คือการอุดหนุนทางการเงิน เช่นในสหรัฐอเมริกา เงินอุดหนุนโดยตรงเหล่านี้ (ทั้งในระดับสหพันธรัฐและในระดับรัฐเดี่ยว) ถูกนำไปใช้กับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่ใช้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนถึงเจ็ดเท่าแม้ว่าคนจำนวนมากจะเข้าใจว่าพลังงานหมุนเวียนคือพลังงานที่ได้รับเงินช่วยเหลือมากที่สุดก็ตาม นอกจากนี้ยังเป็นเพราะเงินที่ใช้ในการอุดหนุนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นมักจะอยู่ในรูปแบบและปริมาณที่หลากหลาย (ดูที่ Fig 6) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา จึงดูคล้านกับว่าไม่ใช่เงินอุดหนุน

ภาพรวมในระดับโลก

  • ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ได้รับเงินอุดหนุนจากทางการมากกว่าพลังงานหมุนเวียนถึงสี่เท่าในปี 2557 และมากกว่าสองเท่าในปี 2558 ซึ่งหากพิจารณารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งในทางสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย สภาพภูมิอากาศ และการเก็บภาษีจากการบริโภคสินค้า จะพบว่าแท้จริงแล้วพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจำนวนมากถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี
  • ใน 10 ประเทศยุโรป ถ่านหินได้รับเงินอุดหนุนรวมมากถึง 6.3 พันล้านเหรียญยูโรต่อปี อีกทั้งอุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐอเมริกายังจำเป็นต้องอาศัยการของดเว้นภาษี (ซึ่งนับเป็นรูปแบบหนึ่งของเงินอุดหนุน) เพื่อนำเงินไปใช้ในการขุดเจาะน้ำมัน โดยร้อยละ 45 ของโครงการขุดเจาะน้ำมันทั้งหมดได้กำไรมาจากการได้รับเงินอุดหนุนเหล่านี้ทั้งสิ้น
  • นิวเคลียร์เองก็ได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมาก โดยภายหลังจากการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์มาเป็นเวลา 50 ปี นิวเคลียร์ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล (ซึ่งมาจากภาษีประชาชน) ทั้งในการวิจัยและพัฒนา การรื้อถอนและการจัดการของเสีย รวมถึงการรับผิดชอบหนี้สินแบบจำกัดหากเกิดอุบัติภัยต่างๆ เนื่องจากไม่มีบริษัทประกันภัยใดสามารถดูแลค่าเสียหายทั้งหมดได้หากเกิดอุบัติภัยจากนิวเคลียร์ขึ้น
  • พลังงานหมุนเวียน ก็ได้รับการสนับสนุนในขณะที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอิตาลี ซึ่งการสนับสนุนเหล่านี้ช่วยทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นมาทัดเทียมกับพลังงานรูปแบบอื่นๆมากขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างมากเช่นเดียวกับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่ายังคงมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาซึ่งมักเป็นเวลาราว 20 ปี (ในขณะที่นิวเคลียร์มักได้รับถึง 30 ปีขึ้นไป) อีกทั้งพลังงานหมุนเวียนยังสามารถผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องอาศัยเงินอุดหนุนได้ ไม่ว่าจะมาจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในเยอรมนี หรือพลังงานแสงอาทิตย์ในอิตาลีและอังกฤษ และในขณะที่ราคาพลังงานหมุนเวียนกำลังลดลงต่อเนื่อง จำนวนเงินอุดหนุนที่ใช้ก็จะลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

 ที่มา FT

ที่มา FT

ความท้าทายต่อแนวคิดเดิมๆ

ผู้สนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจมีข้อโต้แย้งต่างๆมากมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแนวคิดเดิมๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มาเป็นเวลาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นข้อโต้แย้งที่ว่าเงินอุดหนุนที่ใช้ไปนั้นเทียบไม่ได้กับผลตอบแทนที่ได้รับจากรายได้จากภาษี ว่าอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงาน หรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ฯลฯ ทว่าข้อโต้แย้งเหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้กับพลังงานหมุนเวียนได้เช่นกัน (ทั้งเรื่องของงาน รายได้จากภาษี และความมั่นคงของชาติ) ซึ่งในตอนนี้พลังงานหมุนเวียนยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนแล้วเสียด้วยซ้ำ แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มมีการใช้พลังงานหมุนเวียนภายหลังจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเวลานานมากทีเดียว
ประเด็นสำคัญ: พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกได้รับเงินอุดหนุนมากกว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งมากกว่าถึงสองเท่าตัวในปี 2558 และยังได้รับการสนับสนุนมาอย่างยาวนานนับทศวรรษ โดยระยะเวลาที่เริ่มมีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนนั้นน้อยกว่านิวเคลียร์ แต่ในตอนนี้พลังงานหมุนเวียนกลับสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนแล้วในบางประเทศ