ในบางประเทศ พลังงานหมุนเวียนยังคงเป็นเทคโนโลยีที่แปลกใหม่และไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงเข้าใจได้ว่าอาจมีข้อกังขาและความกังวลเกิดขึ้นได้ ทว่าในบางครั้ง ความกังวลเหล่านี้อาจรุนแรงเกินความเป็นจริงจนกลายเป็นความหวาดระแวง ซึ่งยากจะอธิบายให้คนทำความเข้าใจใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยข่าวลือ การไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์ และทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ตัวอย่างเช่น ความกังวลเกี่ยวกับ “โรคกลัวกังหันลม” (wind turbine syndrome) อย่างในออสเตรเลียและรัฐแมสซาชูเซตส์ซึ่งมีการต่อต้านการติดตั้งกังหันพลังงานลมแบบบนชายฝั่งเพราะ “โรคกลัวกังหันลม” นี้ โดยเมื่อความหวาดกลัวเข้าครอบงำ ผู้คนก็มักจะปิดหูปิดตาไม่รับรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุผลต่างๆ ด้วยเหตุนี้เอง จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนในพื้นที่ชุมชนเพื่อหยุดยับยั้งทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้

ภาพของฟาร์มกังหันลม

แม้ว่าคนในชุมชนท้องถิ่นจะไม่เชื่อว่ามีโรคเช่นนี้อยู่จริงๆ แต่พวกเขาก็อาจต่อต้านกังหันลมเหล่านี้เพราะพวกมันตั้งอยู่บนพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ทำให้อาจดูแปลกตาสำหรับพวกเขา ซึ่งจากกรณีศึกษาในยุโรปพบว่า มุมมองของคนในชุมชนต่างเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มคุ้นชินกับกังหันพลังงานลมเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาสามารถเป็นเจ้าของพวกมันเองได้ ฟาร์มพลังงานลมนี้จึงยังช่วยทำให้ประเทศหรือเขตนั้นๆมีความเป็นอิสระด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีการเลือกและออกแบบพื้นที่ติดตั้งอย่างรอบคอบแล้ว กังหันลมเหล่านี้ก็จะสามารถติดตั้งบนพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ ทุกประเทศเองก็มีความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าก็ต้องอาศัยพื้นที่ และพลังงานลมเหล่านี้ใช้พื้นที่น้อยกว่าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆอย่างมหาศาล

ฟาร์มพลังงานลมกับเสียงรบกวน

หากมีการออกแบบอย่างละเอียดรอบคอบ เสียงรบกวนจากกังหันลมก็จะลดลงได้ ซึ่งในตอนนี้ เสียงเครื่องยนต์จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นแทบจะไม่มีแล้ว เสียงรบกวนส่วนมากจึงมาจากการหมุนของใบพัดเป็นหลัก โดยงานวิจัยในสก็อตแลนด์เผยว่า ในระยะห่าง 350 เมตรจากกังหันลม (ซึ่งมักเป็นระยะห่างที่ใกล้ที่สุดระหว่างบ้านเรือนกับตัวกังหัน) จะมีเสียงรบกวนไม่มากไปกว่าระยะห่างจากถนนใหญ่ 5 กิโลเมตร ซึ่งในระยะห่าง 300 เมตร เสียงรบกวนจากกังหันลมยังน้อยกว่าเสียงตู้แช่เย็นในครัวเรือนเสียด้วยซ้ำ และแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่เงียบสงบที่สุดก็จะไม่ได้ยินเสียงรบกวนใดๆหากอยู่ในระยะห่างจากกังหันลม 1.5 กิโลเมตร

บางคนอาจมีประสาทสัมผัสการได้ยินไวเป็นพิเศษต่อเสียงรบกวนความถี่ต่ำ ทว่าการติดตั้งกังหันลมแบบหันใบพัดเข้าหาแรงลมก็จะสามารถลดระดับเสียงรบกวนได้อีกเช่นกัน

ยังมีงานวิจัยอื่นๆอีกมากที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเสียงรบกวนจากกังหันลมที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดพบหลักฐานว่าเสียงรบกวนดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพได้จริงๆ

ประเด็นสำคัญ: ระยะห่างจากกังหันพลังงานลม 300 เมตร ส่งเสียงรบกวนน้อยกว่าตู้แช่เย็นในครัวเรือน