บ้านอยู่ติดเขา แต่เครื่องวัดฝุ่นติดถนน

ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาสำหรับคนไทยมามากกว่า 10 ปี และรัฐบาลได้ประกาศดำเนินการจัดการปัญหานี้มาอย่างจริงจัง โดยในปี 2562 ได้มีการประกาศแผนฝุ่นแห่งชาติออกมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลายหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องล้วนมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ไม่มากก็น้อย

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อฤดูฝุ่นมา (เดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม) เราจะเห็นความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในจังหวัดที่พบปัญหาเยอะ เช่น กรุงเทพมหานคร และ 9 จังหวัดภาคเหนือ

แต่ฝุ่นเยอะแค่เฉพาะพื้นที่เหล่านั้นจริง ๆ หรือ?

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปีของปี 2564 เชียงรายมีค่าสูงที่สุดในประเทศคือ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือขอนแก่นที่สูงถึง 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสระบุรีที่ 29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หน่วยงานของภาครัฐนั้นมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เฉพาะที่กรุงเทพมหานคร (ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปีของปี 2564 อยู่อันดับที่ 10) และ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยออกแผนปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่และสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้จำนวนมาก ในขณะที่ในบางพื้นที่ซึ่งก็มีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกันกลับไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร

รูปจากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2564 กรมควบคุมมลพิษ

การจัดการที่เหลื่อมล้ำ เกิดจากอะไร

เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรีนพีซ อินเดีย เผยแพร่รายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” ซึ่งพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของประชาชนและความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศที่เกิดกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง

แม้ประเทศไทยจะมีจำนวนเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [1] แต่การเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นก็ยังเหลื่อมล้ำ

ในประเทศไทยมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เป็นของหน่วยงานภาครัฐ 138 เครื่อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปแล้วมากกว่า 50 เครื่อง ทำให้ประชากรกรุงเทพมหานครสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมี 5 กิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 95 ในขณะที่บางจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศในรัศมี 25 กิโลเมตร เช่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู บึงกาฬ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชุมพร ระนอง [2]

ทำไมระยะห่างระหว่างตัวเรากับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศถึงสำคัญ

เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศทำหน้าที่บอกให้เรารู้ว่าในพื้นที่ที่เครื่องตั้งอยู่นั้นมีปริมาณมลพิษทางอากาศที่สูงจนเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งหากเราพบว่าปริมาณมลพิษทางอากาศมีค่าต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่หากวันไหนเราพบว่าในพื้นที่นั้นมีปริมาณมลพิษทางอากาศที่สูง เราก็ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากาก N95 หรือการเปิดใช้งานเครื่องกรองอากาศ เพื่อช่วยป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ 

นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณมลพิษทางอากาศเหล่านี้ยังทำให้หน่วยงานของรัฐรับทราบถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และกำหนดแผนและนโยบายเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างตรงจุด 

จากรายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” พบว่าประชากรกรุงเทพมหานครสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมี 5 กิโลเมตร สูงถึงร้อยละ 95 แต่ประชากรสระบุรีกลับเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมี 5 กิโลเมตรได้เพียงร้อยละ 18 (ส่วนใหญ่ประชากรสระบุรีกว่าร้อยละ 49 จะเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมี 10 – 15 กิโลเมตร) และประชากรขอนแก่นส่วนใหญ่ร้อยละ 74 เข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมีมากกว่า 25 กิโลเมตร (เทียบเท่ากับระยะห่างระหว่างสยามและสนามบินดอนเมือง)

 ซึ่งข้อมูลคุณภาพอากาศที่อยู่ไกลเกินไป ไม่สามารถนำมาใช้เตือนภัยสุขภาพสำหรับประชาชนได้ และหน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้อีกด้วยว่าสาเหตุของฝุ่น PM2.5 นั้นจะมาจากอะไร 

ในขณะที่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่ได้รับความสนใจมากกว่า อย่างกรุงเทพมหานครและภาคเหนือ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและดำเนินการไปอย่างล่าช้า รัฐจำเป็นต้องดำเนินการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) เพราะ PRTR จะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันจะสามารถช่วยให้ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลและจัดการเบื้องต้นกับปัญหามลพิษที่อยู่ใกล้ตัวเองได้

ร่วมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 กับกรีนพีซ ได้ที่ https://act.gp/3QgjwWb

ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันกฎหมายรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ได้ที่ Thai PRTR

[1] รายงานคุณภาพอากาศโลกของ IQAir Empowering the World to Breathe Cleaner Air | IQAir

[2] รายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ”