อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ จากรายงานคุณภาพอากาศโลกของ IQAir ปี 2564 พบว่าอินโดนีเซียนั้นมีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประชาชนอินโดนีเซียต่อสู้เพื่อเรียกร้อง #อากาศสะอาด ต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปี 2562 ได้ยื่นฟ้องคดีมลพิษทางอากาศต่อศาลแขวงจาการ์ตา ซึ่ง 2 ปีถัดมาประชาชนชนะคดี โดยที่คำตัดสินของศาลแขวงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ระบุว่าจำเลยได้ละเมิดการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการจัดการกฎหมาย ซึ่งคำตัดสินในคดีนี้ยังหมายรวมถึงผู้ว่าการบันเต็นและผู้ว่าราชการชวาตะวันตกในฐานะจำเลยด้วย

กรีนพีซและเครือข่ายจึงร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้าของสำนักงานผู้ว่าราชการการ DKI จาการ์ตา เพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้จำเลยนำคำพิพากษาคดีในปี 2564 ไปปฏิบัติ © Afraidi Hikmal / Greenpeace

รายละเอียดคำตัดสินของศาลคือ

  1. ให้ประธานาธิบดีต้องกำหนดการวัดมาตรฐานคุณภาพอากาศที่สามารถปกป้องสุขภาพของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ รวมถึงสุขภาพของประชากรที่มีความเปราะบาง โดยอิงข้อมูลจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล่าสุด
  2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ควบคุมดูแลผู้ว่าการ DKI จาการ์ตา บันเตน และชวาตะวันตก ในการจัดทำรายการบัญชีการปลดปล่อยมลพิษข้ามพรมแดนของ DKI จาการ์ตา บันเตน และชวาตะวันตก
  3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน  ของผู้ว่าราชการ DKI จาการ์ตา ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ
  4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำงานกับกรุงจาการ์ตาเพื่อจัดทำแผนงานทั้งเชิงยุทธศาสตร์และปฏิบัติการและจัดทำข้อมูลประเมินจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศที่จะลดลงเมื่อแผนที่ดำเนินการนั้นลุล่วง เพื่อให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียมีอากาศที่สะอาดขึ้น 
  5. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคำนวณผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในจังหวัด DKI จาการ์ตา และต้องทำให้สำเร็จเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้ว่าราชการ DKI จาการ์ตา พิจารณากำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศ

ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ละเลยคำพิพากษาของศาลฎีกาโดยการร่วมยื่นอุทธรณ์ คัดค้านเมื่อเดือนมกราคม 2565

หนึ่งปีหลังจากที่ภาคประชาชนชนะคดีมลพิษทางอากาศ แต่ปัญหาในจาการ์ตากลับยังไม่ดีขึ้น ในเดือนกันยายน 2565 กรีนพีซและเครือข่ายจึงร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้าของสำนักงานผู้ว่าราชการการ DKI จาการ์ตา เพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้จำเลยนำคำพิพากษาคดีในปี 2564 ไปปฏิบัติ สัญลักษณ์หุ่นรูปมนุษย์ที่ติดอยู่ในมลพิษทางอากาศ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพลเมืองในจาการ์ตายังคงหายใจอย่างไรภายใต้อากาศที่ปนเปื้อนมลพิษ  พวกเขามอบป้ายข้อความที่มีเนื้อหาคำฟ้อง  พร้อมข้อกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ หากจำเลยยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของกฎหมายพลเมืองให้ทันท่วงที

กรีนพีซและเครือข่ายจึงร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้าของสำนักงานผู้ว่าราชการการ DKI จาการ์ตา เพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้จำเลยนำคำพิพากษาคดีในปี 2564 ไปปฏิบัติ © Afraidi Hikmal / Greenpeace

เดือนตุลาคม 2565 ชาวอินโดนีเซียได้รับข่าวดีจากศาลเกี่ยวกับความคืบหน้าหลังจากกระบวนการอุทธรณ์เริ่มต้นขึ้น ผู้พิพากษากล่าว่า “เมื่อพิจารณาจากคำตัดสินข้างต้น ศาลฎีกาได้ข้อสรุปว่าให้ยึดตามคำตัดสินของศาลแขวงจาการ์ตากลางหมายเลข: 374/Pdt.G/LH/2019/PN กรุงจาการ์ตาตอนกลางลงวันที่ 16 กันยายน 2564”. (คำพูดที่นำมาจากข่าววันนี้ใน CNN อินโดนีเซีย : Vonis PT DKI: Jokowi Melawan Hukum soal Polusi Udara Jakarta (cnnindonesia.com))

ผู้พิพากษายังกล่าวอีกว่าจำเลยได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากระทำการผิดกฎหมายซึ่งประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ในการนำมาซึ่งสิทธิในสภาพแวดล้อมที่ดีและมีสุขภาพดี มลพิษทางอากาศใน DKI จาการ์ตาส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ความสูญเสียแก่โจทก์และพลเมือง” detik.com news.

คำตัดสินของศาลฎีกาในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ของการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายด้านมลพิษอากาศของอินโดนีเซีย

“คะแนนตอนนี้คือ ประชาชน 2 รัฐ 0 และเราก็ชนะอีกครั้ง” @Khalisah Khalid หนึ่งในโจทก์กล่าว

กรีนพีซและเครือข่ายจึงร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้าของสำนักงานผู้ว่าราชการการ DKI จาการ์ตา เพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้จำเลยนำคำพิพากษาคดีในปี 2564 ไปปฏิบัติ © Afraidi Hikmal / Greenpeace

Yuyun Ismawati หนึ่งในโจทก์แสดงความเห็นต่อชัยชนะของประชาชนครั้งนี้ว่า “คำตัดสินของศาลฎีกา DKI จาการ์ตาเป็นการย้ำเตือนให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเพื่อให้พลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดได้ รัฐต้องกำหนดมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน และป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

ด้านประเทศไทย จากการที่กรีนพีซและเครือข่ายประชาชนได้ #ฟ้องทะลุฝุ่น ผลักดันให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ‘การยกระดับค่ามาตรฐานฝุ่นให้ใกล้เคียงกับที่องค์กรอนามัยโลกประกาศมากขึ้น’ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบ ปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั้งค่าเฉลี่ยรายปี และค่าเฉลี่ยราย 24 ชม. ตามแผนฝุ่นแห่งชาติที่กำหนดให้ปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศทั่วไป PM2.5 เฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ตามประกาศของราชกิจจาฯ แต่กลับจะชะลอ การปรับค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชม.ให้ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2566

ความคืบหน้าด้านการเรียกร้องอากาศสะอาดของทั้งสองประเทศในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่ใช้สิทธิทางกฎหมายฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน แต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญในการผลักดันให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฟ้องร้องของชาวอินโดนีเซีย > https://www.greenpeace.org/thailand/story/20981/climate-airpollution-indonesia-battle-clean-air-against-government/

ร่วมผลักดัน #RightToCleanAir > https://act.gp/3QgjwWb