เศษเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งจากโรงงานผลิตในกัมพูชาเชื่อมโยงไปถึงห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องประดับชื่อดังสัญชาติยุโรป รวมถึง แบรนด์ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) และ ไมเคิล คอร์ (Michael Kors) โดยขยะสิ่งทอเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงในธุรกิจเตาเผาอิฐ ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน

ล่าสุด การสอบสวนของ Unearthed เปิดเผยถึงเส้นทางของขยะสิ่งทอที่ถูกทิ้งจากโรงงานผลิตหลายโรงในประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าของหลายแบรนด์ยักษ์ชื่อดัง โดยขยะสิ่งทอเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงในธุรกิจเตาเผาอิฐ ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน

Unearthed รายงานว่าพวกเขาพบป้ายแบรนด์เสื้อผ้า รองเท้า เศษผ้า และเศษเสื้อผ้าจากแบรนด์ ไนกี้ (Nike) ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) ไมเคิล คอร์ (Michael Kors) รีบ็อก (Reebok) เน็กซ์ (Next) ดีเซล (Diesel) และ คลากส์ (Clarks) ในโรงเผาอิฐ 5 แห่ง พร้อมกับหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าขยะสิ่งทอเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเชื้อเพลิงเพื่อเผาอิฐ


ห่วงโซ่ของขยะสิ่งทอ

จากข้อมูลในรายงาน Waste Streams Mapping เปิดเผยว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของโลกส่วนใหญ่จะทิ้งเสื้อผ้า รองเท้าหรือสิ่งทออื่น ๆ ไปยังบ่อขยะหรือที่อื่นๆ ผ่านบริษัทที่มีใบอนุญาตในการกำจัดขยะ อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ผลิตขยะเสื้อผ้าในปริมาณมากกลับไม่มีมาตรการที่รัดกุมมากพอที่จะทำให้ขยะเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาอิฐตามโรงงานข้างต้น

Textile Offcuts Used as Fuel, Cambodia.
พนักงานหญิงกำลังใช้ไม้ดันเศษเสื้อผ้าเข้าไปในเตาเผาอิฐเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเผาอิฐแห่งหนึ่งในจังหวัดกันดาล กัมพูชา © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

จากรายงานในปี 2021 โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (German development organisation : GIZ) แสดงให้เห็นว่าขยะเหล่านี้ถูกส่งมายังโรงงานเผาอิฐผ่านพ่อค้าคนกลางที่ซื้อขยะเสื้อผ้ามาจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าโดยตรงและขายให้กับคนขับรถบรรทุกซึ่งนำไปส่งที่โรงงานเผาอิฐ Unearthed ได้สัมภาษณ์พ่อค้าคนกลางคนหนึ่งและเขาให้ข้อมูลว่า ขยะเสื้อผ้า 1 รถบรรทุกที่ซื้อโดยตรงจากผู้จัดการโรงงานผลิตเสื้อผ้า มีราคาเพียง 60 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ยังมีรายงาน ระบุถึงแหล่งที่มาของขยะสิ่งทอแหล่งอื่น ๆ รวมถึงวิธีการกั้นรถบรรทุกก่อนที่จะไปถึงบ่อขยะ เรามีโอกาสพูดคุยกับพนักงานขับรถบรรทุก 2 คนที่ขับส่งขยะเสื้อผ้าให้กับเตาเผาอิฐ โดยเขาทั้งคู่กล่าวว่าพวกเขาไปรับขยะเสื้อผ้ามาจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าโดยตรง

Waste Pickers, Cambodia.
ภาพเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2022 กรุงพนมเปญ (กัมพูชา) เป็นภาพพนักงานเก็บขยะในบ่อขยะซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองของกรุงพนมเปญ บ่อขยะแห่งนี้ยังเป็นที่ทิ้งขยะของโรงงานผลิตเสื้อผ้า โดยจะนำขยะเสื้อผ้าที่ถูกตัดสต๊อกมาทิ้ง ซึ่งบางส่วนถูกสกัดโดยเจ้าของโรงงานเผาอิฐซึ่งนำขยะเหล่านี้ไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

เพราะห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อน ทำให้ยากที่จะชี้ว่าขยะเสื้อผ้าเหล่านี้มีที่มาที่ไปและการเดินทางแบบเป็นขั้นตอนได้อย่างไร จากข้อมูลที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นข้อมูลสาธารณะ ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าของแบรนด์ ราล์ฟ ลอว์เรน มายังโรงงานเผาอิฐได้จากขยะที่ถูกนำมาเผา ซึ่ง Unearthed พบใบสั่งซื้อและฉลากสินค้าแบรนด์ โปโล ราล์ฟ ลอว์เรน อยู่ใกล้กับถุงขยะที่บรรจุเสื้อผ้ามา อย่างไรก็ตามบริษัทล้มเหลวต่อการตอบรับและการตอบสนองต่อคำร้องเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมยืนยันกับเราว่า ตั้งแต่ปี 2017 มีโรงงานเผาอิฐหนึ่งแห่งถูกปรับเนื่องจาก “มีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่เหมาะสม” แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการกำจัดนั้นใช้วิธีใด อย่างไรก็ตามโฆษกกระทรวงฯ ไม่ได้ตอบคำถามของเราเพิ่มเติม

แบรนด์แฟชั่นระดับโลกกับเป้าหมายสู่ความยั่งยืน

แบรนด์บางแบรนด์ที่เราพบฉลาก ป้ายติดสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า จากขยะที่ถูกส่งไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเผาอิฐ เคยให้คำมั่นสัญญาอย่างมุ่งมั่นว่าพวกเขามีเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่การผลิตของแบรนด์ตัวเอง แบรนด์เหล่านี้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย รวมถึงให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการกำจัดขยะและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห่วงโซ่การผลิต

ในปี 2019 ไนกี้ประกาศแคมเปญครั้งใหญ่ในชื่อ “Move to Zero” ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เยาวชนรวมตัวกันจัดประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ “Climate Strike” ในนิวยอร์ก โดยไนกี้ระบุบนเว็บไซต์ว่า “ตอนนี้ เราให้ความสำคัญกับแนวคิด การผลิตขยะเป็นศูนย์” โดยรวมไปถึง การควบคุมให้โรงงานผลิตสินค้าของแบรนด์หยุดผลิตขยะที่จะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบให้ได้ 100% รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตภายในปี 2025 ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกัมพูชาแสดงให้เห็นว่าแบรนด์กำลังดำเนินการได้ช้ากว่าที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้

“ตัวอย่างของมาตรการ เช่น ไม่อนุญาตให้นำขยะเสื้อผ้าไปทิ้งในหลุมฝังกลบและแหล่งน้ำ หรือ การกำจัดขยะโดยวิธีที่ไม่เหมาะสมเช่น ใช้เตาเผาขยะที่ไม่สามารถควบคุมการปล่อยมลพิษได้ หรือการกำจัดขยะที่ทำให้เกิดน้ำชะขยะ” หัวหน้าด้านจรรยาบรรณและมาตรฐานของไนกี้กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไนกี้, ราล์ฟ ลอว์เรน, ไมเคิล คอส์, รีบ็อก, เน็กซ์, คลาร์ก และดีเซล ยังมีมาตรฐานจรรยาบรรณ ซึ่งขอความร่วมมือให้โรงงานผลิตสินค้าเคารพกฎหมายสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและต้องกำจัดขยะตามระเบียบและข้อบังคับ โดยไนกี้ขอให้ซัพพลายเออร์ของแบรนด์ “ตรวจสอบว่าเขารับผิดชอบในการจัดการต่อสิ่งแวดล้อม”

Textile Factory Cambodia.
ภาพเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2022 – พนมเปญ (กัมพูชา) พนักงานในโรงงานผลิตกระเป๋าที่ตั้งอยู่ชานเมืองของพนมเปญ © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

เช่นเดียวกับแถลงการณ์ของแบรนด์คลาร์ก ที่ระบุว่าซัพพลายเออร์ของแบรนด์จะต้องเคารพกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและ “จะต้องมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันการปล่อยมลพิษหรือส่งผลเสียต่อชุมชน และจะต้องรีไซเคิลขยะเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

โดยบริษัทกล่าวกับ Unearthed ว่า “เรามีมาตรฐานเพื่อการดำเนินงานที่เข้มงวด เราคาดหวังว่าซัพพลายเออร์ของเราจะปฏิบัติตามนโยบายที่เรามี และในกรณีที่เกิดขึ้นนี้เราจะดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติงานในห่วงโซ่การผลิตอย่างสม่ำเสมอและเข้มงวดเพื่อความมั่นใจ”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แบรนด์สามารถออกแถลงการณ์ให้คำมั่นสัญญาอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีกรอบกฎหมายมาควบคุมหรือไม่มีมาตรการที่จะทำให้พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิต

“เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน ทำให้สิ่งที่แบรนด์จำนวนมากทำ คือ ให้คำสัญญาต่อสาธารณะเกี่ยวกับความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิตของพวกเขา” พาร์สัน จากมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ สหราชอาณาจักร กล่าว

ทั้งนี้ การผลิตสินค้าของแบรนด์แฟชั่นส่วนใหญ่ ทั้งเสื้อผ้าและรองเท้าเกิดขึ้นในกัมพูชา แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ถูกขายในกัมพูชา นั่นยิ่งทำให้การควบคุมห่วงโซ่การผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานยากขึ้น พาร์สันกล่าวว่า “แบรนด์สินค้าสามารถพูดอย่างไรก็ได้ ซึ่งสิ่งเดียวที่จะระบุได้ว่าพวกเขาทำตามคำสัญญาจริงหรือไม่นั้น คือการรายงานข้อมูลอย่างอิสระ”

Textile Offcuts Cambodia.
ภาพเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2022 – พนมเปญ (กัมพูชา) พ่อค้าคนกลางนั่งอยู่ท่ามกลางถุงใส่ขยะเสื้อผ้าภายในโรงเก็บเชื้อเพลิง ในโรงงานเผาอิฐบริเวณชานเมืองของพนมเปญ © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

เราพบหลักฐานเหล่านี้ได้อย่างไร?

ระหว่างเดือนธันวาคม 2021 ถึง มกราคม 2022 เราพบขยะเสื้อผ้าจากแบรนด์ชื่อดังหลายแบรนด์ในโรงงานเผาอิฐ 5 แห่ง กระจัดกระจายตามบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดกันดาล

เราเริ่มเดินทางสำรวจตอนเหนือของกรุงพนมเปญ เราไปเยี่ยมชมโรงงานเผาอิฐขนาดเล็กเพื่อระบุขยะเสื้อผ้าที่มาจากแบรนด์ รีบ็อก (Reebok) (เศษผ้าสีดำที่มีโลโก้ Reebok ติดอยู่) และเราเจอขยะเสื้อผ้าตกอยู่ข้าง ๆ เตาเผาอิฐในโรงงาน หรือกระจายผสมกับกองอิฐที่อยู่บนพื้นโรงงาน หลังจากนั้นเราก็ไปสำรวจที่โรงงานเผาอิฐขนาดกลางซึ่งเป็นที่ที่เราเจอป้ายติดเสื้อผ้าของแบรนด์ โปโล ราล์ฟ ลอว์เรนใกล้กับเตาเผาและในถุงขยะเสื้อผ้า กลังจากนั้นเราไปเยี่ยมชมโรงงานเผาอิฐอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเมือง ที่นั่นเราพบเศษกระเป๋าปะปนมากับกองถุงขยะเสื้อผ้า นอกจากนี้เรายังเจอป้ายติดสินค้าจากแบรนด์เน็กซ์และแบรนด์ดีเซลบนพื้นโรงงานใกล้กับเศษกระเป๋า

ภาพเมื่อ ธันวาคม 2021 – กันดาล (กัมพูชา) พบป้ายติดเสื้อของแบรนด์ โปโล ราล์ฟ ลอว์เรน ตกอยู่ข้าง ๆ เตาเผาอิฐ ภาพ : Marta Kasztelan for Unearthed

ระหว่างที่เราสำรวจโรงงานเผาอิฐอีกครั้งในจังหวัดกันดาลเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 เราระบุได้ว่ามีเศษเสื้อผ้าเพิ่มเติมในเตาอีกสามเตา เตาแรก (ซึ่งเป็นเตาที่เราเจอขยะเสื้อผ้าแบรนด์รีบ็อกก่อนหน้านี้) เราพบสิ่งที่ดูเหมือนเศษกระเป๋าที่มีโลโก้ของแบรนด์ ไมเคิล คอร์ ในถุงขยะเสื้อผ้า เช่นเดียวกับพบสติ๊กเกอร์และคิวอาร์โค้ด ของแบรนด์ดังกล่าวอยู่บนเศษกระเป๋า ขยะเหล่านี้ถูกวางกองไว้ระหว่างแนวอิฐที่กำลังรอนำเข้าไปเผาในเตา

ภาพเมื่อ 12 มกราคม 2022 – กันดาล (กัมพูชา) พบเศษกระเป๋าแบรนด์ไมเคิล คอร์ บริเวณโรงงานเผาอิฐ © Marta Kasztelan for Unearthed

เราเดินทางไปยังโรงงานเผาอิฐแห่งถัดไป ซึ่งเป็นที่ที่เราพบกองขยะที่ไม่ได้ถูกวางเป็นระเบียบ กองใหญ่ ประกอบไปด้วยเศษเสื้อผ้าจากแบรนด์ ไนกี้ บริเวณเตาเผาอิฐ จากนั้นเราเดินทางไปยังโรงงานใกล้เคียงแล้วก็พบเศษรองเท้าจากแบรนด์ คลาร์ก อยู่ในกองถุงขยะเศษเสื้อผ้า จากการสำรวจโรงงานเผาอิฐทั้งสองแห่ง เราจึงสันนิษฐานว่าโรงงานใช้ขยะเสื้อผ้าเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาเผาอิฐ

ภาพเมื่อ 12 มกราคม 2022 – พบเศษเสื้อผ้าของแบรนด์ไนกี้ในโรงงานเผาอิฐที่จังหวัดกันดาล ภาพ : Thomas Cristofoletti / Ruom for Unearthed
ภาพ 12 มกราคม 2022 – จังหวัดกันดาล (กัมพูชา) พบรองเท้าจากแบรนด์ คลาร์ก ในโรงงานเผาอิฐ © Marta Kasztelan for Unearthed
มกราคม 2022 – จังหวัดกันดาล (กัมพูชา) พบรองเท้าแบรนด์ คลาร์ก ในโรงงานเผาอิฐ ภาพ : Marta Kasztelan for Unearthed

ในระหว่างการสำรวจทั้งสองแห่ง เราก็เห็นว่าพนักงานใช้ขยะเศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิงให้กับเตาเผาอิฐ เราได้ติดต่อทั้งไนกี้ และราล์ฟ ลอว์เรน ไปแล้วแต่แบรนด์ยังไม่ได้ตอบกลับต่อคำถามหลายข้อที่ส่งไป

คำตอบจากแบรนด์

แผนกสื่อสารของแบรนด์เน็กซ์ กล่าวว่า “จากการทำงานร่วมกันภายใต้สัญญาในฐานะซัพพลายเออร์ของเน็กซ์ ซัพพลายเออร์จะต้องดำเนินงานตามนโยบายการกำจัดขยะของเรา โดยรายละเอียดในแถลงการณ์ระบุว่า จากมาตรฐานการซื้อขายของแบรนด์เน็กซ์ ข้อย่อยที่ 8.5 ระบุว่าซัพพลายเออร์ไม่สามารถกำจัดเสื้อผ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เสื้อผ้ามือสอง เครื่องประดับ เสื้อผ้าตัวอย่าง หรือสต๊อกเสื้อผ้าที่ถูกยกเลิก (ยกเว้นสต๊อกเสื้อผ้าที่ขายในรูปแบบแบรนด์ล้างสต๊อก)”  รวมถึงสต๊อกสินค้าที่ผลิตแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งให้แบรนด์

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอีเมลที่คุณส่งมา ดูเหมือนว่าซัพพลายเออร์ของเราในกัมพูชาได้ละเมิดและไม่ทำตามข้อปฏิบัติของเรา เราขอรบกวนให้คุณแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติม เช่น รูปภาพที่มีแบรนด์ของเรา/รหัสสินค้า/เบอร์ติดต่อ เป็นต้น ที่คุณพบในการสำรวจครั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้นำไปติดตามกับซัพพลายเออร์ของเราต่อไป

เราสื่อสารนโยบายของเรากับซัพพลายเออร์และผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความสำคัญของมาตรฐานการผลิต ตัวอย่างต่อไปนี้คือข้อกำหนดและเงื่อนไขตามสัญญาของเรากับซัพพลายเออร์ โดยเรามีการจัดจ้างแผนกจริยธรรมเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทที่ทำสัญญากับเรา เพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตสินค้าจะเป็นไปตามจริยธรรม อย่างไรก็ตามเรายังเข้าใจถึงความท้าทายเกี่ยวกับการติดตามสินค้าที่ถูกตัดสต๊อกโดยซัพพลายเออร์เอง แต่กระนั้นเราก็จะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อติดตามงานในส่วนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ

เน็กซ์ (NEXT) คือสมาชิกปัจจุบันของสมาคมธุรกิจเสื้อผ้าที่ยั่งยืน (Sustainable Apparel Coalition : SAC) ซึ่งมีสมาชิกที่ทำแบรนด์ธุรกิจเสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องแต่งกาย รองเท้า ร้านค้าปลีก ซัพพลายเออร์ ธุรกิจผู้ให้บริการ รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสถาบันวิชาการ เป็นสมาชิกในสมาคมมากกว่า 250 แบรนด์ โดยทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์ประเด็นความเท่าเทียม เพื่อยกระดับห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก เน็กซ์ตระหนักและเคารพต่อกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอมีความรับผิดชอบต่อการจัดการขยะสิ่งทอมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการนำวัตถุดิบมารีไซเคิลเป็นเส้นใยใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้านบริษัทแม่ของแบรนด์ ดีเซล บริษัทโอทีบี อธิบายว่า “บริษัทโอทีบี มีการตรวจสอบการทำงานของซัพพลายเออร์และผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ ควบคู่ไปกับแบรนด์และบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่ ซึ่งใช้มาตรฐานด้านจรรยาบรรณร่วมกันทั่วโลก ข้อตกลงดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การปรับกฎเกณฑ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้น ๆ และเรายังขอความร่วมมือซัพพลายเออร์ทั้งหมดให้ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงานและน้ำสะอาด ในการผลิตสินค้า เพื่อลดปริมาณของเสียให้มากที่สุด”

ในการทำงานระหว่างบริษัทและซัพพลายเออร์ทั่วโลก เรามีเงื่อนไขว่าทั้งซัพพลายเออร์และแบรนด์จะต้องเคารพมาตรฐานจรรยาบรรณที่กำหนดมา

แบรนด์ดีเซลเอง เพิ่งมีการตรวจสอบภายในองค์กรอย่างละเอียดเพื่อยืนยันถึงสถานการณ์กับซัพพลายเออร์ที่เคยทำงานร่วมกันในประเทศดังกล่าว เพราะปัจจุบันเราไม่มีซัพพลายเออร์ที่ผลิตสินค้าให้แบรนด์ที่อยู่ในกัมพูชาอีกแล้ว

หลังจากนี้ เราสนับสนุนให้มีกฎระเบียบทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแบรนด์สินค้าและซัพพลายเออร์ให้มีกรอบการทำงานที่แน่นอนสำหรับการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการลดขยะจากการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในจดหมายตอบกลับของแบรนด์ยังเพิ่มเติมว่า “แม้กระทั่งตอนนี้ โอทีบี ก็ยังคงตรวจสอบห่วงโซ่การผลิตของสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการนำมาตรฐานจริยธรรมที่เรากำหนดไว้มาใช้ รวมถึงดำเนินงานสอดคล้องกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เรายืนยันว่าขณะนี้ ดีเซล ไม่มีขยะเสื้อผ้าจากการผลิต และเราไม่ได้ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ที่อยู่ในกัมพูชาอีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น จากการตรวจสอบภายในเมื่อไม่นานมานี้ เราขอยืนยันว่าไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์เพียงรายเดียวในกัมพูชาที่เราเคยทำงานด้วยเมื่อช่วงปี 2020/2021

อ้างอิงจากมาตรฐานของเรา เรายังคงไปพบและดูการผลิตของซัพพลายเออร์ที่โรงงานอยู่เป็นประจำเพื่อยืนยันว่าข้อมูลการตรวจสอบที่ได้รับมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โรคระบาด ทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปยังกัมพูชาซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่เรายังคงติดตามข้อมูลรายงานการตรวจสอบจากบริษัทที่เป็นบุคคลที่สาม

เราให้ความสำคัญกับประเด็นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและเรายินดีมากหากคุณมีหลักฐานเพิ่มเติมและต้องการแบ่งปันกับเรา สิ่งนี้จะช่วยให้เราอธิบายเพิ่มเติมถึงบริบทจากปัญหาที่คุณพูดถึงได้ โชคร้ายที่ยังคงมีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในกัมพูชา ดังนั้นอาจทำให้พบฉลากหรือป้ายสินค้าที่ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของดีเซลซึ่งไม่ใช่สินค้าลิขสิทธิ์

รายินดีพูดคุยในประเด็นดังกล่าวต่อไปและกรุณาติดต่อเราหากคุณได้รับข้อมูลเพิ่มเติม”

ตัวแทนของ คลาร์ก ระบุว่า “คลาร์กมีความตั้งใจจะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนซึ่งเราได้ดำเนินการผลิตตามแนวคิดดังกล่าวอย่างจริงจัง”

เราปฏิบัติตามจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัดซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่าระบบการจัดการของเสียจากการผลิตได้ถูกจัดการตามกรอบเพื่อป้องกันการเกิดมลพิษหรือผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน เราคาดหวังว่าบริษัทที่ทำงานร่วมกับเราและซัพพลายเออร์จะปฏิบัติตามข้อกำหนดและนโยบายที่เรากำหนด โดยในกรณีนี้ เราจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต

กรณีนี้ที่เราได้รับข้อกล่าวหาที่ขัดต่อค่านิยมนโยบายและการดำเนินธุรกิจของเรา เรากำลังดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียดและเราเชื่อว่าเราจะระบุแหล่งที่มาได้ และเราเชื่อว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติ โดยข้อมูลจากการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทำให้เราเชื่อว่าซัพพลายเออร์ปฏิบัติตามหลักการของแบรนด์ โดยของเสียจากการผลิตของโรงงานในกัมพูชาถูกส่งไปจัดการโดยบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงทำงานกับบริษัทคู่ค้าเพื่อให้แน่ใจว่าขยะจากการผลิตในห่วงโซ่การผลิตของเราจะถูกจัดการอย่างเหมาะสม”

ด้านแบรนด์ไมเคิล คอร์ ระบุกับเราว่า “ไมเคิล คอร์ มีการดำเนินธุรกิจทั่วโลกตามหลักการอย่างมีจริยธรรมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อแรงงาน และเราคาดหวังว่าบริษัทที่ทำงานร่วมกับเรารวมถึงซัพพลายเออร์จะดำเนินธุรกิจเหมือนกับเราเช่นกัน

หลักจริยธรรมของเราได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าพนักงานในห่วงโซ่การผลิตจะทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย และไม่ตกอยู่ในสภาวะที่อันตราย นอกจากนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าด้วยวิธีที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุ่งมั่นให้การผลิตสินค้าของซัพพลายเออร์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะและผลกระทบอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ ไมเคิล คอร์ ได้รับการร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม แบรนด์จะให้ความสำคัญกับเรื่องร้องเรียนนี้และมุ่งมั่นที่จะสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์ในกัมพูชาเพิ่มเติม ทั้งนี้ เราจะย้ำเตือนซัพพลายเออร์ในกัมพูชาเกี่ยวกับสิ่งที่เราคาดหวังว่าซัพพลายเออร์จะจัดการกับของเสียจากการผลิตอย่างเหมาะสม

ในระหว่างนี้ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับซัพพลายเออร์ที่เชื่อมโยงกับการเผาขยะเสื้อผ้าของแบรนด์ไมเคิล คอร์ รวมถึงข้อมูลที่ตั้งของโรงงานเผาอิฐที่พบขยะเสื้อผ้าที่มีสินค้าของแบรนด์ไมเคิล คอร์ เพื่อเป็นการตรวจสอบต่อไป”

ทางด้านบริษัท ออเธนทิค แบรนด์ กรุ๊ป Authentic Brands Group (ABG) บริษัทที่เข้าซื้อกิจการแบรนด์ รีบ็อก จากแบรนด์อดิดาส กล่าวว่า “เอบีจี ไม่ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสินค้าแบรนด์รีบ็อกในกัมพูชา ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบในประเด็นนี้เพื่อระบุให้แน่ชัดว่าเป็นสินค้าที่ถูกผลิตอย่างละเมิดลิขสิทธิ์หรือเป็นสินค้าจากบริษัทที่เป็นบุคคลที่สาม และเราจะดำเนินการให้ถึงที่สุดเกี่ยวกับการนำขยะเสื้อผ้าไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเผาอิฐ”


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยทีมข่าวสืบสวน Unearthed

 อ่านบทความต้นฉบับ