เศษเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งจากโรงงานผลิตในกัมพูชาเชื่อมโยงไปถึงห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องประดับชื่อดังสัญชาติยุโรป รวมถึง แบรนด์ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) และ ไมเคิล คอร์ (Michael Kors) โดยขยะสิ่งทอเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงในธุรกิจเตาเผาอิฐ ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน

ล่าสุด การสอบสวนของ Unearthed เปิดเผยถึงเส้นทางของขยะสิ่งทอที่ถูกทิ้งจากโรงงานผลิตหลายโรงในประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าของหลายแบรนด์ยักษ์ชื่อดัง โดยขยะสิ่งทอเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงในธุรกิจเตาเผาอิฐ ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน

Unearthed รายงานว่าพวกเขาพบป้ายแบรนด์เสื้อผ้า รองเท้า เศษผ้า และเศษเสื้อผ้าจากแบรนด์ ไนกี้ (Nike) ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) ไมเคิล คอร์ (Michael Kors) รีบ็อก (Reebok) เน็กซ์ (Next) ดีเซล (Diesel) และ คลากส์ (Clarks) ในโรงเผาอิฐ 5 แห่ง พร้อมกับหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าขยะสิ่งทอเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเชื้อเพลิงเพื่อเผาอิฐ

ภาพเสื้อผ้าแบรนด์ไนกี้ที่ถูกคัดทิ้งจากโรงงานถูกพบในโรงเผาอิฐ จังหวัด กันดาล (Kandal) ภาพ : Thomas Cristofoletti / Ruom for Unearthed

ธุรกิจเตาเผาอิฐในกัมพูชา

จากการสำรวจ พนักงานในโรงเผาอิฐจะต้องขนก้อนดินที่แห้งใส่ลงไปในเตาเผาด้วยมือ ซึ่งเตาดังกล่าวจะถูกตั้งไฟเผาด้วยความร้อนที่สูงถึง 650 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายวันก่อนหน้า และเพื่อให้ความร้อนอยู่ในระดับคงที่ เตาเผาอิฐเหล่านี้จะต้องถูกไฟเผาตลอดเวลาโดยพนักงานจะคอยดูและเติมเชื้อเพลิงทุกชั่วโมง ซึ่งเศษเสื้อผ้าและไม้คือเชื้อเพลิงสำหรับความร้อนในโรงงานเหล่านี้

โรงงานเหล่านี้จะถูกปกคลุมไปด้วยควันสีดำเพราะเชื้อเพลิงที่เป็นเศษเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานที่ทำงานในโรงเตาเผาอิฐ มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการสัมผัสสารพิษเหล่านี้ เช่น อาการไอ มีไข้ เลือดกำเดาไหล และภาวะปอดอักเสบ

12 มกราคม 2022 – พนักงานหญิงกำลังนำเศษเสื้อผ้าจากโรงงานใส่เข้าไปในเตาเผาอิฐแห่งหนึ่งในจังหวัดกัลดาล กัมพูชา Photo: Thomas Cristofoletti / Ruom for Unearthed

เศษเสื้อผ้าจากโรงงานเหล่านี้ยังกลายเป็นรอยเท้าคาร์บอนของอุตสาหกรรมสิ่งทอทางฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการก่อมลพิษจากอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม

ดร.ลอว์รีย์ พาร์สัน จากมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การเผาเศษเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ โดยเฉพาะเมื่อถูกเผารวมกับถุงพลาสติก ไม้แขวนเสื้อ ยาง และขยะชนิดอื่นๆ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นที่กัมพูชา ทำให้เกิดใยไมโครพลาสติกและสารเคมีเป็นพิษอื่น ๆ ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมทันที ซึ่งจะกระทบต่อสุขภาพของพนักงานในโรงงานและผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง การเผาขยะประเภทข้างต้นนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าการเผาไม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเสียอีก โดยมีการรายงานประเด็นนี้ว่าเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมต่อรัฐสภาของสหราชอาณาจักร” ทั้งนี้ ดร.ลอว์รีย์ ยังเป็นผู้เขียนงานวิจัยร่วมในรายงานการเปิดโปงการทิ้งขยะเสื้อผ้าไปยังเตาเผาในกัมพูชา เมื่อปี 2018

ภาพควันสีดำลอยตัวปกคลุมบนเตาเผาอิฐในโรงงานจังหวักกันดาล กัมพูชา ภาพ : Thomas Cristofoletti / Ruom for Unearthed

สรุปใจความจากแถลงการณ์ของแบรนด์ที่ Unearthed พบขยะสิ่งทอ

แม้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังจะระบุว่าการนำเศษเสื้อผ้าไปเผานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรการของแบรนด์ แต่การอ้างดังกล่าวควรจะต้องถูกตรวจสอบได้ว่าแบรนด์เหล่านี้คาดหวังให้พาร์ทเนอร์ธุรกิจของพวกเขารวมถึงซัพพลายเออร์จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของธุรกิจแม่อย่างเข้มงวด

ด้านแบรนด์ คลากส์ ได้ออกแถลงการณ์หลังจากการเปิดโปงการพบเศษเสื้อผ้าในเตาเผาครั้งนี้ โดยระบุว่า “ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบอย่างละเอียดและเชื่อว่าเราจะระบุแหล่งที่มาที่เป็นไปได้ เราเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ ทั้งนี้การตรวจสอบอย่างละเอียดในครั้งนี้จะช่วยตรวจสอบในสิ่งที่เราเชื่อว่าซัพพลายเออร์ปฏิบัติตามมาตรการของเรา นั่นคือขยะจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชาจะต้องส่งขยะให้กับบริษัทจัดการขยะที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกัมพูชาแล้วเท่านั้น”

ส่วนแบรนด์ ไมเคิล คอร์ แถลงว่า “เรามุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าตามมาตรการที่มีความรับผิดชอบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการนี้ครอบคลุมไปถึงคู่ค้าทางธุรกิจและซัพพลายเออร์ในการลดการปล่อยมลพิษ ลดการสร้างขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ ” และ “เราจะเน้นย้ำซัพพลายเออร์ของเราว่าแบรนด์หวังว่าซัพพลายเออร์จะมีมาตรการในการรวบรวมและกำจัดขยะเสื้อผ้าอย่างเหมาะสม”

นอกจากสองแบรนด์ดังข้างต้นแล้ว เรายังสื่อสารไปถึงแบรนด์ เน็กซ์ เกี่ยวกับการพบเศษเสื้อผ้าเครื่องประดับจากแบรนด์เน็กซ์ที่ถูกทิ้งอยู่ในเตาเผาอิฐ โดยแบรนด์เน็กซ์ ให้คำตอบว่า “จากมาตรฐานการซื้อขายของแบรนด์เน็กซ์ ข้อย่อยที่ 8.5 ระบุว่าซัพพลายเออร์ไม่สามารถกำจัดเสื้อผ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เสื้อผ้ามือสอง เครื่องประดับ เสื้อผ้าตัวอย่าง หรือสต๊อกเสื้อผ้าที่ถูกยกเลิก (ยกเว้นสต๊อกเสื้อผ้าที่ขายในรูปแบบแบรนด์ล้างสต๊อก)” และ “ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการโดยซัพพลายเออร์ที่อยู่ในกัมพูชา”

ด้าน โอทีบี กรุ๊ป (OTB Group) องค์กรที่บริหารแบรนด์ ดีเซล อธิบายว่า “โอทีบี คอยตรวจสอบห่วงโซ่การผลิตอยู่เสมอ” และ “ขณะนี้แบรนด์ไม่ได้ผลิตขยะเสื้อผ้าในกัมพูชาแล้ว” โดยกล่าวเสริมอีกว่า “จากการตรวจสอบเมื่อไม่นานมานี้ ไม่พบหลักฐานจากอดีตซัพพลายเออร์เพียง 1 รายในกัมพูชาที่เราเคยร่วมงานด้วยเมื่อช่วงปี 2020/2021”

ผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศและการค้าทาสสมัยใหม่ (modern slavery)

ที่ผ่านมา ในกัมพูชามีการผลิตอิฐปริมาณมหาศาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และกลายเป็นภาคธุรกิจอื้อฉาวเนื่องจากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึง แรงงานขัดหนี้ (debt-bondage) จากข้อมูลโดยองค์กรแรงงานสากลแห่งชาติ (the International Labour Organisation (ILO)) ระบุว่ากว่าครึ่งของจำนวนเหยื่อทั้งหมดที่ต้องกลายเป็นแรงงานต้องทำงานเพื่อใช้หนี้ ในปี 2016 องค์กรคาดการณ์ว่า ทั่วโลกมีประชากรกว่า 16 ล้านคน ถูกบังคับใช้แรงงานโดยองค์กรเอกชนหลายแห่ง

พนักงานในเตาเผาอิฐจำนวนมากเคยเป็นเกษตรกรมาก่อน พวกเขากู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้รายย่อยเพื่อใช้จ่ายในการเกษตรจนกระทั่งการปลูกพืชผลไม่เป็นไปตามที่คาดเนื่องจากสภาพอากาศที่คาดเดาได้ยากกว่าเดิมจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.ลอว์รีย์ พาสัน จากมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “เกษตรกรเหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีหนี้อันหนักอึ้งรวมถึงไม่มีรายได้ พวกเขาไม่มีทางเลือกให้เลือกมากนักนอกจากพยายามชดใช้หนี้ที่มีอยู่ให้ได้ด้วยการมาเป็นพนักงานในโรงงานเผาอิฐ ซึ่งเจ้าของโรงงานเหล่านี้จะเป็นคนจ่ายหนี้ให้พวกเขาด้วยคำพูดที่ว่า ตอนนี้พวกเขากลายเป็นหนี้เจ้าของโรงงานเตาเผาอิฐแทนแล้ว ดังนั้นจะต้องทำงานให้เจ้าของโรงงานจนกว่าเขาจะชดใช้หนี้ทั้งหมด”

สำหรับเกษตรกรผู้ไม่มีทางเลือกมากนัก ข้อเสนอชดใช้หนี้จากเจ้าของโรงงานเตาเผาอิฐดูจะเป็นทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่พวกเขาสามารถรับได้ แต่จากรายงานพบว่า บ่อยครั้งที่ข้อเสนอแบบนี้ทำให้ครอบครัวของเกษตรกรต้องตกที่นั่งลำบากเพราะลูกหลานจะต้องมาทำงานชดใช้หนี้กับโรงงานเพื่อชดใช้หนี้ของครอบครัวตัวเองต่อ หากพ่อหรือแม่ของพวกเขาที่ตกลงเรื่องนี้ไว้เสียชีวิตหรือจากไป

สำเนียงในวัย 21 ปี (นามสมมติ) ช่วยครอบครัวทำงานชดใช้หนี้ของครอบครัวไปแล้วกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เขาทำงานตั้งแต่อายุ 15 โดย 20 ปีก่อน สมาชิกครอบครัวของเขา 5 คนเริ่มเข้ามาทำงานในโรงงานเตาเผาอิฐที่กันดาล ทางเหนือของกรุงพนมเปญ เนื่องจากพวกเขามีหนี้สินจากการทำเกษตรกรรม ครอบครัวไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อหารายได้ได้ และพวกเขาก็ทำงานในโรงงานมาตั้งแต่ตอนนั้น

ผลกระทบของโรคระบาดโควิด – 19

“วิถีชีวิตของเรามันยากกว่าเดิมหลังการระบาด” นี่คือความเห็นของชายหนุ่มคนนี้หลังจากที่เราเริ่มต้นถามเขาโดยโฟกัสไปที่ผลกระทบหลังจากการระบาดของโควิด – 19 เขาเล่าว่าก่อนหน้าการระบาด รายได้ต่อเดือนของเขาอยู่ที่เดือนละ 230 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมา รายได้ที่น้อยอยู่แล้วก็น้อยลงไปอีกเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้มียอดสั่งซื้ออิฐน้อยลง นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่เจ้าของโรงงานเริ่มใช้ขยะสิ่งทอหรือเศษเสื้อผ้ามาเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอีกด้วย

สำเนียงกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ไม้และฟางข้าวคือเชื้อเพลิงหลักที่เอามาเป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน “โรงงานเผาอิฐใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิง จะมีรถบรรทุกขนเศษเสื้อผ้าเข้ามาที่โรงงาน 2 – 3 คันต่อวันเป็นประจำ” เขาอธิบายต่อว่า “ตอนที่เริ่มเอาเศษเสื้อผ้าเหล่านี้เข้าไปเผา มันส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงและมันทำให้สุขภาพของเราแย่ลง”

สุขภาพของสำเนียงดูย่ำแย่มาระยะหนึ่งแล้ว เขาต้องยืมเงินจากเจ้าของโรงงานราว 400 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเอง “ผมรู้สึกไม่สบายบ่อยมาก รวมถึงมีไข้และอาการหนาวสั่นบ่อยๆ และยังมีเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูก 2-3 ครั้งทุก ๆ เดือน” เขาเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเรียบๆ จุดเริ่มต้นที่สำเนียงต้องมาทำงานที่นี่เกิดจากเมื่อปีที่แล้ว พ่อของเขาจากไปด้วยวัย 51 ปี

ในขณะที่โรงงานเผาอิฐส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับเตาเผา แต่ในปี 2022 ผลสำรวจโดยสหภาพแรงงานท้องถิ่นและ Royal Holloway พบว่ามีโรงงาน 23 แห่งจาก 465 แห่ง ใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยพาร์สันบอกกับเราว่า “ส่วนใหญ่เผาเศษเสื้อผ้าวันละหลายตัน ดังนั้นเราจึงมองหาแหล่งของเศษเสื้อผ้าหลายตันที่ถูกนำมาเผาในทุก ๆ วันนี้”

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีประชาชนกว่า 10,000 คนอาศัยบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานเตาเผาอิฐทั่วประเทศ ซึ่งเกือบ 7,000 คนเป็นพนักงานที่ถูกจ้างโดยโรงงานเผาอิฐ ซึ่งพนักงานเหล่านี้อพยพมาพร้อมกับครอบครัวและมักอาศัยอยู่ร่วมกัน

ระหว่างเดือนธันวาคม 2021 ถึง มกราคม 2022 เราพบว่าโรงงานเผาอิฐบางแห่งปิดตัวลงในขณะที่อีกหลายแห่งเริ่มนำขยะเสื้อผ้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักเนื่องจากมีราคาถูกกว่าไม้ ด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ยอดคำสั่งซื้ออิฐน้อยลงรวมถึงราคาอิฐที่ต่ำลง ในที่สุดก็เป็นสถานการณ์บังคับให้บางโรงงานต้องนำขยะสิ่งทอที่มีราคาถูกกว่ามาเป็นเชื้อเพลิงแทนเพื่อให้โรงงานอยู่รอด ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่เราได้สัมภาษณ์พนักงานและเจ้าของโรงงาน

Brick Kiln Cambodia.
พนักงานในโรงงานเผาอิฐกำลังตักไม้ใส่เข้าไปในเตาเผาอิฐ ซึ่งโดยรอบๆรายล้อมไปด้วยกองเศษเสื้อผ้าซึ่งถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผา ในจังหวัดกันดาล กัมพูชา

ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่ามีโรงงานเผาอิฐกี่แห่งที่ใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิง หรือผสมเศษเสื้อผ้ากับไม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอิฐ

“สิ่งที่ทำให้เรากังวลคือจำนวนของโรงงานเผาอิฐที่ใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิงที่อาจเพิ่มขึ้นเพราะตอนนี้ไม้มีราคาแพง และโรงงานเหล่านี้ก็เหลือเชื้อเพลิงที่เป็นไม้อยู่ไม่มากแล้ว” โส ชโลง (Sou Chhloung) ผู้อำนวยการบริหารสหภัณฑ์สหภาพแรงงานการก่อสร้างและการค้าไม้แห่งกัมพูชา (Building and Wood Workers Trade Union Federation of Cambodia : BWTUC) กล่าว โดยหลายปีที่ผ่านมาเขาเป็นผู้นำในการรวมกลุ่มพนักงานในโรงงานเผาอิฐทั่วประเทศ และมีความกังวลถึงสุขภาพของกลุ่มพนักงานเหล่านี้

ดารา (นามสมมติ) เจ้าของโรงงานเผาอิฐและดำเนินกิจการมากว่า 14 ปี โดยโรงงานจ้างงานพนักงานกว่า 40 คน ทุกคนต่างเป็นคนที่เขาชดใช้หนี้ให้ ซึ่งเขากล่าวกับเราว่าแม้ว่าเขาจะกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ แต่โรงงานของเขาก็เริ่มใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิงในปี 2021 เพื่อทดแทนต้นทุนที่สูงขึ้น

“ก่อนจะเกิดการระบาด ผมไม่เคยใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเลย แต่ตอนนี้ไม้และเชื้อเพลิงอื่นๆ  มีราคาแพงกว่าเศษเสื้อผ้าพวกนี้” เขาเสริม

ราคาของขยะเสื้อผ้าในปริมาณเท่ารถบรรทุกคันเล็กๆ ที่ดาราบอกว่าใช้เพื่อจุดไฟในเตาเท่านั้น มีราคาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รถบรรทุกไม้ขนาดใหญ่มีราคาอยู่ระหว่าง 1,000 – 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ

Textile Offcuts at Brick Kiln Cambodia.
ภาพเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 กันดาล กัมพูชา เป็นภาพของพนักงานกำลังพักผ่อนท่ามกลางกองเศษเสื้อผ้าที่เตรียมเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาเผาอิฐ © Thomas Cristofoletti / Ruom for Unearthed

“ปกติเราจะติดต่อซื้อขายขยะเสื้อผ้าผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยที่ไม่รู้ว่าแหล่งที่มาของขยะเหล่านี้มาจากไหน” เขากล่าว “พ่อค้าคนกลางจะมาที่โรงงานแล้วขายเศษขยะเสื้อผ้าเหล่านี้ให้เรา”

เจ้าของโรงงานเผาอิฐบางรายรวมถึงดาราเองด้วย กล่าวกับเราว่า เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงสิ่งแวดล้อมส่งเรื่องตักเตือนมายังพวกเขาเพื่อให้หยุดการใช้เศษเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิงในการเผาอิฐ อย่างไรก็ตามจากคำกล่าวของโฆษกกระทรวงฯ นายเนตร พักตรา (Neth Pheaktra) สรุปได้ว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

Textile Offcuts at Brick Kiln, Cambodia.
ภาพเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 – กันดาล,กัมพูชา ถุงพลาสติกที่บรรจุขยะเสื้อผ้าถูกขนลงมาจากรถบรรทุกเพื่อส่งต่อให้กับโรงงานเผาอิฐในกันดาล © Thomas Cristofoletti / Ruom for Unearthed

จากเนื้อหาในกฤษฎีกาย่อยด้านการจัดการขยะ ระบุถึงอุตสาหกรรมเผาขยะมูลฝอยซึ่งรวมถึงขยะสิ่งทอ อาจถูกปรับเป็นเงิน 250 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีกฤษฎีกาย่อยอีกฉบับ ที่กำหนดให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมมีอำนาจในการตรวจสอบกรณีที่มีมลพิษซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น หากเกิด ‘มลพิษ’ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายมนุษย์เมื่อใด เมื่อนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายของกัมพูชา ซึ่งกำหนดว่าผู้ก่อมลพิษจะต้องถูกปรับเป็นเงินมากกว่า 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีโทษสูงสุดคือถูกจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในกรณีที่ผู้กระทำมีความผิดรุนแรง

อ่านเรื่องราว การพบขยะสิ่งทอจากแบรนด์ชื่อดังเป็นเชื้อเพลิง (ที่เป็นพิษ)ในธุรกิจเตาเผาอิฐกัมพูชา ตอนที่ 2


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยทีมข่าวสืบสวน Unearthed

 อ่านบทความต้นฉบับ