ยังคงเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการ “ถกเถียง” มาอย่างต่อเนื่องสำหรับการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่ไร้ความรุนแรง  อย่างเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมจากกลุ่ม Just Stop Oil เข้าไปยังหอศิลป์แห่งชาติ ในลอนดอนที่จัดแสดงหนึ่งในภาพจากเซ็ท ‘ดอกทานตะวัน’ ของ วินเซนท์ แวนโก๊ะ โดยเอาซุปมะเขือเทศกระป๋องสาดใส่ภาพที่ถูกปกป้อง(ด้วยกระจกนิรภัย) ตามด้วยเอากาวทามือตัวเองแล้วแปะมือกับกำแพงที่แสดงภาพวาดนั้น โดยสื่อหลายสำนักรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นักกิจกรรมทั้งสองมาประท้วงที่นี่ก็เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

หลังจากการเผยแพร่ภาพและคลิปทั้งทางสำนักข่าวและโซเชียลมีเดีย ก็เกิดกระแสสังคมอย่างล้นหลาม หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทัวร์ลง มีทั้งคอมเม้นในแง่บวกและลบ มีทั้งคนที่โกรธต่อการกระทำของทั้งคู่ และคนที่สนับสนุนการประท้วงของพวกเธอ อย่างไรก็ตามได้นำไปสู่คำถามที่ว่า 

‘แล้วการประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับซุปมะเขือเทศ และภาพดอกทานตะวัน ?’

Just Stop Oil กับเป้าหมายเรียกร้องยุติการใช้น้ำมันและก๊าซฟอสซิล

กลุ่ม Just Stop Oil เป็นหนึ่งในกลุ่มนักกิจกรรมรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยุติการให้ใบอนุญาตในการขุดเจาะ หรือผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรในอนาคต และยืนหยัดต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศคือภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นี่คือเรื่องฉุกเฉิน ดังนั้นผู้นำประเทศและกลุ่มผู้ก่อมลพิษหลักอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วนและจริงจังกว่าที่ทำอยู่

การทำกิจกรรมของกลุ่ม Just Stop Oil เน้นสื่อสารประเด็นหลักที่ว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องฉุกเฉิน ผู้นำประเทศจะต้องหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต รวมทั้งปกป้องประชาชนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ (ที่มักสร้างความปั่นป่วนให้รัฐ) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบล็อกถนนโดยนักกิจกรรม ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลายแห่งของอังกฤษ การพ่นสีสเปรย์ตามที่สาธารณะ และล่าสุดก็คือกิจกรรมที่ทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันไปทั่วโลก คือเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 นักกิจกรรมสองคนสาดซุปมะเขือเทศกระป๋องใส่ภาพดอกทานตะวัน ผลงานชื่อดังของวินเซนท์ แวนโก๊ะ

การประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวอะไรกับภาพดอกทานตะวัน?

หากจะบอกว่าภาพดอกทานตะวันเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโดยตรงหรือไม่ ก็คงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงขนาดนั้น แต่เราต้องอย่าลืมว่าปัจจัยหนึ่งที่คาดว่ากลุ่มนักกิจกรรมเลือกภาพนี้เพราะมันเป็นภาพชื่อดังระดับโลก และข้อความที่กลุ่มต้องการสื่อสารเรื่องสภาพภูมิอากาศจะต้องได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแน่นอน อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่กลุ่มเลือกภาพเขียนชื่อดังเป็นเป้าหมายนั่นก็คือ ต้องการประท้วง ‘การเพิกเฉย’ ของรัฐบาลต่อการปกป้องชีวิตประชาชนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งคำถามว่ารัฐบาลสนใจจะปกป้องงานศิลปะหรือชีวิตคนมากกว่ากัน?

และภาพดอกทานตะวันที่ได้รับการปกป้องอย่างดี (ด้วยกระจกนิรภัย) แม้ว่าจะถูกซุปมะเขือเทศสาดใส่แต่ภาพก็ไม่เป็นอะไร ก็คือการเปรียบเปรยระหว่าง มาตรการ ‘ปกป้อง’ ผลงานศิลปะ กับมาตรการ ‘ปกป้อง’ ชีวิตผู้คนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น 

สำนักข่าว the Guardian รายงานข่าวพร้อมกับข้อความจากนักกิจกรรม ฟีบี้ พลัมเมอร์ และ อันนา ฮอลแลนด์ โดยฟีบี้กล่าวว่า 

“ผลงานศิลปะเหล่านี้ได้รับการปกป้องอย่างดี มันมีค่ามากกว่าชีวิต มากกว่าความเป็นธรรมต่อชีวิตอย่างนั้นหรือ?”

ยังมีข้อความเพิ่มเติมจากข่าวประชาสัมพันธ์ของเว็บไซต์ Just Stop Oil เพิ่มเติมว่า “ทุกวันนี้เราต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ผู้คนหลายล้านมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตัวการสำคัญคือพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลายประเทศเจอปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เพราะต้องเจอทั้งภัยแล้ง หรือ พายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง รวมทั้งเหตุการณ์ไฟป่า ดังนั้นเราจะไม่ยอมให้เกิดโครงการใหม่ ๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดขึ้นอีกแล้ว”

Tidal Flooding in North Jakarta.
รถบรรทุกแรงงานกำลังขับรถฝ่าน้ำท่วมในพื้นที่ที่ท่า Nizam Zachman ทางตอนเหนือของจาร์กาต้า อินโดนีเซีย โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าให้ประชาชนระวังคลื่นสูง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำท่วม โดยเฉพาะชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะจาวา

มองเหตุการณ์ภาพดอกทานตะวันที่ถูกจู่โจมด้วยซุปมะเขือเทศผ่านการปฏิบัติการไร้ความรุนแรง

เรามักจะได้ยินคำสองคำที่ใช้ปะปนกันคือ”สันติวิธี” ซึ่งเน้นพื้นฐานทางศาสนธรรมรวมถึงแนวทางสันตินิยมและอหิงสาของคานธี และ “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ซึ่งเน้นพื้นฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ว่า “อำนาจดำรงอยู่ด้วยการยอมรับเชื่อฟังจากประชาชน ฝ่ายประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในการเชื่อฟังของตน การยุติการเชื่อฟังจึงเป็นการใช้อำนาจเพื่อลดทอนหรือแยกสลายอำนาจเดิม”

หากมีการวางแผนอย่างดี ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการเผชิญกับข้อขัดแย้งทางสังคมและการเมืองต่างๆ โดยที่ “ตัวผู้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ต้องมีความกล้าหาญ มีวินัย และรู้จักเสียสละ คุณูปการของการไม่ใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจไปสู่การกระจายอำนาจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน

Activists Paint a Plane Green in Action against Greenwashing in Paris Airport.
นักกิจกรรมกรีนพีซ ฝรั่งเศสกำลังทาสีเขียวลงบนเครื่องบิน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสหยุดการฟอกเขียวอุตสาหกรรมการบิน อ้างอิงจากคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงการคมนาคม Jean-Baptiste Djebbari โดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้เพื่อสื่อสารว่า เครื่องบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาคคมนาคม

โดยทั่วไป การรับรู้เกี่ยวกับความรุนแรงของคนทั่วไปมักเป็นไปในเชิงอัตวิสัย (subjective violence) นั่นคือความรุนแรงทางตรง เช่น การใช้กำลัง การฆ่าคน การทำสงคราม เป็นต้น แต่ความรุนแรงอีกประเภทที่มักมาอย่างแยบยลและถูกมองข้ามคือ ความรุนแรงทางโครงสร้าง ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์และเชิงระบบมากกว่าที่จะปรากฎออกมาให้เราเห็น เช่น การเหยียดชาติพันธุ์ อคติทางเพศ เป็นต้น

แม้จะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก แต่ความรุนแรงที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมของเราและดำเนินอยู่ภายใต้การสนับสนุนหรือเพิกเฉยของรัฐ กลับส่งผลกับเราทุกคน และอาจ ‘รุนแรง’ ในทุกแง่มุมของชีวิตมากกว่าการต่อยหน้าใครซักคนเสียอีก (นี่ยังไม่นับว่าการปาซุปมะเขือเทศใส่ภาพวาดนั้นไม่นับว่าเป็นความรุนแรงประเภทใดเลย) และไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการกระทำนี้หรือไม่ จะตั้งคำถามว่ามันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้จริงหรือไม่ จะสร้างความไม่ชอบใจให้กับผู้คนในวงกว้าง แต่เมื่อเรามองในแง่นี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักกิจกรรมกลุ่มนี้กำลังต่อสู้อยู่กับความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากแห่งความเพิกเฉยด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐและบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ นอกจากนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปฏิบัติการนี้คือ ‘สันติวิธี’ และเป็นจุดยืนที่อย่างน้อยเราทุกคนสามารถร่วมกันยืนยันได้

Global Climate Strike 2022 in Jakarta.
นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศเดินประท้วงในวัน Global Climate Strike ที่จาร์กาต้า กรีนพีซ อินโดนีเซีย ได้เข้าร่วมการประท้วงในครั้งนี้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายแห่ง รวมถึงเยาวชน ชุมชน ที่ตระหนักถึงความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ในกรณีของสังคมไทย สันติวิธีก็มักจะถูกเข้าใจว่าคือการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่โลกของเราซับซ้อนกว่าเดิมและมีการใช้ความรุนแรงผ่านกลไกอำนาจรัฐ (state violence) รวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) อย่างการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตามโลกของเรายังมีกลุ่มประชาชนที่เห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และเลือกท้าทายอำนาจรัฐแบบไร้ความรุนแรงเป็นหลักการสำคัญของคนกลุ่มนี้ เช่น ขบวนการนิเวศวิทยาการเมืองทั่วโลกโดยหลอมรวมแนวคิดสันติภาพ-สันติวิธีเข้ากับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยระดับรากฐาน ความเป็นธรรมทางสังคม สตรีนิยมและนิเวศนิยมอีกด้วย ดังนั้น แนวทางยุทธศาสตร์แบบไร้ความรุนแรง นี้จึงถูกนำมาต่อสู้กับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำผ่านรัฐ 

เพื่อให้เห็นภาพว่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐเป็นอย่างไร เราจะยกตัวอย่างจากกรณีภาพดอกทานตะวันและซุปมะเขือเทศ ดังนี้

  • ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นผ่านรัฐ คือ รัฐยังเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน
  • กลุ่ม Just Stop Oil คือ ขบวนการนิเวศวิทยาการเมืองและสิทธิมนุษยชน ต่อสู้กับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น
  • ยุทธวิธีแบบไร้ความรุนแรง คือ  เหตุการณ์สาดซุปมะเขือเทศใส่ภาพดอกทานตะวันและสื่อสารเป้าหมายของกลุ่มให้ภาครัฐได้ยิน

ซึ่งหัวใจหลักของการขับเคลื่อนแบบไร้ความรุนแรง มีอยู่ 2 ข้อคือ

  1. การพูดความจริงไม่ว่าผู้มีอำนาจต้องการจะได้ยินหรือไม่
  2. ปฏิบัติการในสิ่งที่คุณเชื่อมั่น แม้ว่าจะต้องเสียสละ เช่น อิสรภาพของตัวเอง เป็นต้น และสร้างความปั่นป่วนในระบบซึ่งผู้มีอำนาจต้องการรักษาไว้ 

โดยสิ่งที่เราเห็นเป็นประจำนั่นคือหลังจากนั้น คือนักกิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติการแบบไร้ความรุนแรงจะถูกข่มขู่ คุกคาม ปองร้าย หรือถูกจับกุมและลงโทษทางกฏหมาย เพราะการพูดความจริงต่ออำนาจในครั้งนั้นมันได้ท้าทายระบบที่ไม่เป็นธรรมแล้ว

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำผ่านรัฐยังคงเกิดขึ้นทุกยุคสมัย ซ่อนตัวเองอยู่ในระบบคุณค่าและสถาบันทางสังคม ความรุนแรงยังมีที่มาจากการปราศจากประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือรวมศูนย์อำนาจผูกขาดไว้ที่บุคคลหรือสถาบันใดๆ หรืออีกนัยหนึ่ง เราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงโดยแยกประเด็นวิกฤตทางนิเวศวิทยา ออกจากประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยขั้นรากฐาน และสิ่งที่เราทำได้คือยืนหยัดพูดความจริงไม่ว่าผู้มีอำนาจต้องการจะได้ยินหรือไม่ ท้าทายกับระบบที่ไม่เป็นธรรมรวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

หมายเหตุ ภาพเขียนดอกทานตะวันไม่ได้รับความเสียหาย กรอบรูปจัดแสดงได้รับความเสียหายเล็กน้อย และนักกิจกรรมทั้งสองคนถูกพาตัวออกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว


ทั้งนี้ ยังมีบทความเกี่ยวกับแนวคิดการรณรงค์แบบสันติวิธี เพิ่มเติมใน ‘คุยกับธารา บัวคำศรี : สันติวิธีและ 20 ปีของงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ประเทศไทย’