จากความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ทำให้ผู้นำของรัฐบาลไทย (ในฐานะภาคีสมาชิก) จะต้องเปลี่ยนผ่านจากการพัฒนาแบบเดิมสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยก๊าซเรือนกระจกที่ว่า มีทั้งหมด 6 ชนิดคือ

  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)
  • มีเทน (CH4)
  • ไนตรัสออกไซด์ (N2O)
  • ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)
  • เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs)
  • ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวย่อมส่งผลต่อประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศติด1ใน10 อันดับของโลกมาตลอด

ผลกระทบด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศนับวันยิ่งชัดเจนขึ้น แต่คำถามคือ เราจะมุ่งหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร ในเมื่อทิศทางพลังงานของประเทศยังมุ่งเน้นไปที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นยังมุ่งการจัดการขยะด้วยการเผา

สำรวจการจัดการขยะของไทย ปลายทางจบที่ไหน?

‘ภูเขาขยะ’ ภาพชินตาที่เราจะต้องไม่ชินชา จากข้อมูลการก่อขยะของประเทศไทยในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 คนไทยก่อให้เกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัม ต่อ คน ต่อ วัน หรือคือ 27.35 ล้านตันต่อปี กระจายตัวตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในกทม. ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ตั้งแต่ 500 ตันต่อวัน ไปจนถึงมากกว่า 2,000 ตันต่อวัน ส่วนการจัดขยะของประเทศเรานั้นยังคงเน้นไปที่ปลายทาง ซึ่งก็คือการฝังกลบ ส่งผลให้มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ราคาของที่ดินและปริมาณขยะที่ล้น 

สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงข้อมูลสถิติงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกต่อประชากรสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี  (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) และมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ปริมาณพลาสติกในประเทศไทย แบ่งเป็นประเภทถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน ขวดพลาสติก0.40 ล้านตัน แก้ว กล่องและถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน ตามลำดับ 

Plastic Waste in Bangkok's Canals. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขยะพลาสติกจำนวนมากลอยอยู่ในคลองหัวลำโพงบริเวณหลังชุมชนคลองเตย – 3 มกราคม 2560 © Chanklang Kanthong / Greenpeace

อีกหนทางหนึ่งของการจัดการขยะปลายทางในไทยนั่นก็คือ การเผา โดยสถานะโรงไฟฟ้าขยะในปี 2565 มีอยู่ 25 โรง ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช มหาสารคาม ยะลา ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สระแก้ว สุโขทัย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี ระยอง หนองคาย กระบี่ ตาก อุดรธานี และกรุงเทพมหานคร 

นอกจากนี้การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะถึง 400 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีในระบบราว 500 เมกะวัตต์ 

โรงไฟฟ้าขยะ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราทราบกันดีว่าเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนแล้ว [1] โรงไฟฟ้าขยะเป็นอีกต้นทางของตัวก่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) นอกจากกระบวนการการย่อยสลายของขยะในหลุมฝังกลบจะปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกแล้ว การนำขยะไปเผาก็จะทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์อีกด้วย

ขยะที่อยู่บนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีถูกกำจัดโดยวิธีเผาซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ก่อให้เกิดมลพิษ จากสถิติพบว่าในหนึ่งวันบนเกาะสีชังมีขยะเกิดขึ้นราว 12 ตันแต่เตาเผาขยะกำจัดได้เพียง 2-3 ตันเท่านั้น
© Chanklang Kanthong / Greenpeace

การเผาขยะคือการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นกัน เพราะขยะส่วนใหญ่ที่ถูกนำไปเผาหรือทำก้อนเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าเป็นขยะพลาสติก (ซึ่งพลาสติกเหล่านี้พลาสติกร้อยละ 99 ก็ทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) นอกจากจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว โรงไฟฟ้าขยะยังจะส่งผลกระทบหนักต่อสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ไดออกซิน ฝุ่น PM2.5)  ปรอทโลหะหนักอีกหลายตัว [2] 

โรงไฟฟ้าขยะ คือหนึ่งในมรดกของ คสช.

ย้อนกลับไปในช่วงที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารจัดการประเทศก็เปิดช่องให้การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA )ของโครงการโรงไฟฟ้าขยะถูกยกเลิก[3] (จากเดิมที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558) ทำให้การเดินหน้าก่อสร้างของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นตัวงานหลักที่มีอำนาจในการจัดการขยะและกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าขยะจึงเป็นปลายทางที่ง่ายมากขึ้น

เจตจำนงของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภททำให้หน่วยงานรัฐสามารถอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 101: โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม (รวมถึง เตาเผาขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ) ได้โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกฎหมายผังเมืองและไม่ต้องมีการจัดทำรายงาน EIA ใดๆทั้งสิ้น สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป) และให้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice – CoP) แทน  

นับตั้งแต่การเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลคสช.และการออกกฎหมายที่เอื้อให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ จากเดิมก่อนปี 2557ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขยะจำนวน 11 แห่ง ในช่วง8 ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขยะเกิดเพิ่มขึ้น อีก 14 แห่ง ดังนั้นรวมโรงไฟฟ้าขยะทั้งหมด 25 แห่ง [4] นอกจากนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 282.98 เมกะวัตต์ จำนวน 34 โครงการ ที่ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานและการควบคุมการปล่อยฝุ่น PM2.5 และปรอทที่ปลายปล่อง ส่วนไดออกซินที่เป็นสารก่อมะเร็งและมาจากการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยสารไดออกซินคือ เตาเผามูลฝอยที่มีกำลังการเผาไหม้ในการกำจัดมูลฝอยตั้งแต่ 1 ตันแต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องไม่เกิน 0.5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของสมมูลความเป็นพิษรวม(I-TEQ) [5]  และสำหรับ เตาเผามูลฝอยที่มีกำลังการเผาไหม้ในการกำจัดมูลฝอยเกินกว่า 50 ตันต่อวัน ต้องไม่เกิน 0.1 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของสมมูลความเป็นพิษรวม(I-TEQ)  [6,7]

นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้มีการประเมินค่าความเสียหายจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นต่อทั้งต้นทุนสุขภาพ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และส่วนในการก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ภาพพีระมิดด้านขวาคือการจัดการขยะจากคำแนะนำขององค์กร U.S. Environmental Protection Agency (EPA) โดยการจัดการขยะที่ต้องลดที่ต้นทางเป็นความสำคัญที่สุด แต่หากเราพิจารณาจากนโยบายและความเป็นจริงของการจัดการขยะของรัฐบาลคือ การฝังกลบและโรงไฟฟ้าขยะต้องมาก่อน

โรงไฟฟ้าขยะ ตัวอย่างของการจัดการขยะให้หมดในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทิ้งผลกระทบสาหัสในระยะยาว

การเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะภายใต้การสนับสนุนหลักของรัฐบาลสะท้อนให้เห็น “ความเน่าเฟะของการจัดการขยะ” ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ แผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม แผนจัดการมลพิษ และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 NDC (Nationally Determined Contribution) แผนปฎิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ที่ไม่ตอบโจทย์การลดขยะที่ต้นทางและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีการนำเข้าขยะของประเทศไทยในฐานะถังขยะอาเซียนด้วยที่ปลายทางของขยะมาอยู่ภายใต้ “การเพิ่มขยะในวงจร” เช่นกัน

โรงไฟฟ้าขยะจึงตอบโจทย์ของความ(มัก)ง่ายที่ยังคงอยู่และไม่สิ้นสุด เพราะการที่เราไม่เห็นกองขยะย่อมหมายถึงการจัดการขยะที่พ้นจากภาระของผู้บริโภคอย่างเราแล้วนั่นเอง แต่ในความเป็นจริง การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าขยะและโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศสะท้อนให้เห็นการจัดการขยะแบบ “เพิ่มขยะในวงจร” ของกระทรวงพลังงานและรัฐบาลนั่นเอง 

เราจะยังคงอยู่ท่ามกลางภาวะ “ขยะท่วมหัว” กันอีกนาน ตราบใดที่การจัดการขยะของเมืองและของประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญและจริงจังกับการจัดการลดขยะที่ต้นทาง กำไรจากโรงไฟฟ้าขยะจึงเป็นห่วงโซ่ผลประโยชน์ที่กลบเสียงคัดค้านของคนในชุมชนและกลบความคิดที่จะตั้งคำถามว่า เราจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขยะอีกกี่แห่ง อีกกี่จังหวัดถึงจะพอ?


[1] Methane Tracker Data Explorer,https://www.iea.org/data-and-statistics/data-tools/methane-tracker-data-explorer#comparison-sources, 2022

[2] ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์และดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โครงการประเมินผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช, 2565

[3]ไขประเด็น คำสั่ง คสช.ยกเว้นผังเมืองทำลายหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ ปชช. https://www.isranews.org/content-page/item/44976-artical_24567.html

[4] VSPP/ SPP สถิติการซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขยะ http://www2.erc.or.th/ERCSPP/default.aspx?x=0&muid=23&prid=41

[5] สมมูลความเป็นพิษรวม(I-TEQ) กำหนดขึ้นโดยองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา(USEPA) เพื่อใช้ประเมินผลรวมของความเป็นพิษของไดออกซินและสารที่มีลักษณะคล้ายไดออกซินที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากดิน น้ำ อาหารมีการปนเปื้อนไดออกซินที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีความเป็นพิษไม่เท่ากัน

[6] ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2538) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพ อากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547), ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2550), ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2552) และ ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2553)

[7] ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผามูลฝอยเป็นแหล่งก าเนิด มลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2553