Coca-Cola’s Plastic Promises คือสารคดีที่ว่าด้วยปัญหามลพิษพลาสติก โดยเจาะลึกบทบาทของผู้ผลิต และตั้งคำถามถึงแคมเปญ “โลกไร้ขยะ” ของบริษัทโคคา-โคล่า หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “โค้ก”

สารคดีความยาว 52 นาทีโดย The Why Foundation เผยแพร่ในปี 2564 ประจวบเหมาะกับการที่คนจำนวนมากเริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาพลาสติก หลังสารคดี Blue Planet II ของบีบีซี เผยแพร่ในปี 2560 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลาสติกและกระแสลดใช้พลาสติกทั่วโลก

โดยหนึ่งฉากสะเทือนใจที่มีคนพูดถึงกันมากที่สุดของสารคดี Blue Planet II คือช่วงท้ายของตอนที่ชื่อว่า Big Blue ซึ่งวาฬนำร่องครีบสั้นโอบกอดลูกที่ตายเพราะดื่มนมของมันที่ปนเปื้อนพลาสติกแหวกว่ายไปในทะเลหลายวัน

ประหนึ่งต่อยอดจากตอนดังกล่าว สารคดี Coca-Cola’s Plastic Promises เปิดเรื่องด้วยวาฬที่ตายเพราะกินพลาสติก อย่างไรก็ดี ตัวสารคดีไม่ได้หยุดเพียงผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์และระบบนิเวศ แต่เจาะลึกต่อลงไปถึงต้นตอปัญหา

อุตสาหกรรมน้ำอัดลมผลิตขวดพลาสติกมากถึง 4 แสน 7 หมื่นล้านขวดต่อปี และหนึ่งในสี่ของขวดพลาสติกทั้งหมดนี้เป็นของโค้ก ในเชิงโครงเรื่อง Coca-Cola’s Plastic Promises จึงพยายามหาคำตอบให้กับสองคำถามหลัก ๆ 

ทำไมโค้กเปลี่ยนจากขวดแก้วเป็นพลาสติก ?
โค้กจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะรีไซเคิลพลาสติกทั้งหมดได้จริงไหม ? 

สารคดีเดินเรื่องด้วยการค้นคำตอบให้กับสองคำถามดังกล่าว และเผยให้เห็นว่าผู้ผลิตคือส่วนหนึ่ง (และเป็นส่วนสำคัญ) ของปัญหามลพิษพลาสติกในปัจจุบัน!

ขวดแก้วที่หายไป 

บริษัทโคคา-โคลาผลิตน้ำอัดลมหลากหลายยี่ห้อ ที่ติดหูได้แก่ โค้ก แฟนต้า และสไปรท์  ซึ่งถ้านึกย้อนไปสักสิบยี่สิบปีที่แล้ว น้ำอัดลมเหล่านี้ถูกบรรจุในขวดแก้ว แต่ปัจจุบันเกือบทั้งหมดบรรจุมาในขวดพลาสติก 

การเปลี่ยนครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหาขยะตามมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในพื้นที่ ๆ สารคดีฉายให้เห็นภาพผลกระทบ คือเกาะซามัว 

“โค้กที่ซามัวขายในขวดแก้ว โค้กไม่มีปัญหาขยะพลาสติกที่นี่ เพราะเครื่องดื่มถูกนำมาบรรจุขวดบนเกาะ และวางขายในขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้…. แต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โค้กเปลี่ยนจากขวดแก้วมาเป็นขวดพลาสติกทั้งหมด… และภายในเวลาไม่กี่วัน เราก็เริ่มเห็นขวดพลาสติกเกลื่อนอยู่ทั่ว”  เจมส์ แอนเธอตันอธิบายถึงผลกระทบของการเปลี่ยนมาใช้พลาสติกของโค้ก 

ในเมื่อมีขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โค้กเปลี่ยนจากแก้วมาใช้พลาสติกทำไม ? 

คำตอบคือ “กำไร”

เมื่อโค้กใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ บริษัทจะต้องแบกรับภาระต้นทุนในการเก็บ ล้าง นำกลับมารีฟิลใหม่ การเปลี่ยนมาใช้พลาสติกเป็นการปัดภาระต้นทุนนี้ออกทั้งหมด

ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2510 โค้กจึงเริ่มออกโฆษณาที่พูดถึงประโยชน์ของพลาสติก และผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น ๆ ในปัจจุบัน โค้กใช้พลาสติก 3 ล้านตันต่อปี หรือเท่ากับการผลิต 200,000 ขวด ต่อหนึ่งนาที 

ในส่วนผู้บริโภค เมื่อดื่มหมดก็ไม่สามารถนำบรรจุภัณฑ์ไปแลกเงินคืนได้ แถมต้องจัดการกับบรรจุภัณฑ์เองอีก ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดการขยะเหล่านี้ 

สัญญาเลื่อนลอย

เมื่อผู้บริโภคเริ่มเข้าใจถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกมากขึ้น กระแสต่อต้านพลาสติกกระจายไปทั่วโลก โค้กจึงหันไปใช้คำครอบจักรวาลอย่าง “รีไซเคิล” มาทำการตลาด

และไม่นานมานี้โค้กให้ “สัญญา” ครั้งใหม่ด้วยแคมเปญ “โลกไร้ขยะ” (World Without Waste) ภายใต้แคมเปญดังกล่าว โค้กสัญญาว่า บรรจุภัณฑ์ของบริษัททั้งหมดจะผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ขวดที่ขายทั้งหมดจะถูกนำมารีไซเคิลก่อนปี 2573 และใช้วัสดุรีไซเคิลมาทำบรรจุภัณฑ์ 50% 

สารคดีจึงเริ่มเข้าสู่ส่วนที่สอง โค้กจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะรีไซเคิลพลาสติกทั้งหมดได้จริงไหม ? 


“โค้กไม่เคยรักษาสัญญาได้ โค้กเป็นเจ้าแห่งการฟอกเขียว แทบจะเป็นคนบัญญัติคำนี้ได้เลย” คือคำสรรเสริญของ เอมม่า พรีสแลนด์ จาก Break Free From Plastic ที่มีต่อโค้ก

ตั้งแต่ปี 2533 โค้กให้สัญญาหลายครั้งถึงการแก้ปัญหาพลาสติกและรีไซเคิล แต่พวกเขาไม่เคยทำได้เลย ในขณะที่สัญญาครั้งใหม่ก็มีแนวโน้มจะล้มเหลว 

คำสัญญาของโค้กที่ว่า “บรรจุภัณฑ์โค้กจะผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด” ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะโค้กทำเรื่องนี้ได้นานแล้ว ปัญหาที่แท้จริงคือการเก็บบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล 

อย่างในเกาะซามัวซึ่งมีประชากรสองแสนคน ปริมาณขวดพลาสติกไม่มากพอที่จะเปิดโรงงานรีไซเคิล การจะรีไซเคิลต้องส่งพลาสติกขึ้นเรือไปรีไซเคิลที่ออสเตรเลีย ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากแต่ละครั้ง ขยะพลาสติกในซามัวจึงไม่เคยส่งไปถึงโรงงานรีไซเคิลแม้แต่ครั้งเดียว 

ขณะเดียวกัน ในยูกันดามีโรงงานรีไซเคิลที่สามารถรีไซเคิลได้ถึง 250 ล้านขวดต่อปี แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา โรงงานไม่ได้ทำงานเต็มกำลังเลย เพราะไม่สามารถเก็บขยะเข้าสู่ระบบได้มากพอ  ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์เช่นกัน 

ในปี 2561 โค้กนำพลาสติกมารีไซเคิลทำขวดได้ 8.6% และในปี 2564 พวกเขาเก็บเพิ่มเป็น 11.5% 

ดังนั้นถ้าการเก็บขวดมารีไซเคิลของโค้กเพิ่มประมาณนี้ เมื่อถึงปี 2573 โค้กจะสามารถเก็บขยะมารีไซเคิลได้เพียง 32% เท่านั้น

โลกคู่ขนาน

นอกจากปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม สารคดียังเผยให้เห็นปัญหาอื่น ๆ ที่พ่วงมากับขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ การใช้แรงงานเด็ก มลพิษทางอากาศ และปัญหาสุขภาพ 

และอีกจุดที่น่าสนใจ คือการที่สารคดีนำเสนอแถลงการณ์ของโค้ก คู่ไปกับการอธิบายปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในซามัว ยูกันดา และฟิลิปปินส์ 

ในยูกันดา โค้กแถลงถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการเก็บขยะพลาสติกว่า “เพื่อแก้ปัญหานี้ เราได้พัฒนาเครื่องมือ เพื่อให้เราเข้าใจและพัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการเก็บขยะ”

ในฟิลิปปินส์ โค้กระบุว่า “ความท้าทายในการเก็บขยะและรีไซเคิลพลาสติกในฟิลิปปินส์…ยังเป็นเรื่องที่จัดการได้ บริษัทกำลังทำการลงทุนเพื่อกระตุ้นการรีไซเคิลในประเทศ…” 

ขณะที่ในซามัว โค้กระบุว่า “เพื่อสร้างความรับรู้เรื่องการรีไซเคิลในประเทศซามัว โคคา-โคล่า ได้ออกแคมเปญให้ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภครีไซเคิลบรรจุภัณฑ์”

การเทียบเคียง (juxtaposition) เรื่องที่เกิดในยูกันดา ฟิลิปปินส์ และซามัว กับแถลงการณ์ของโค้ก ทำให้เราเห็นว่า โค้กเหมือนอยู่ใน “โลกคู่ขนาน” 

ขณะที่เรื่องเล่าของคนในพื้นที่พูดถึงปัญหาการนำมารีไซเคิล โค้กยังยืนยันจะเดินหน้าระบบรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีท่าทีจะใช้วิธีอื่น เช่น การรับซื้อขวดคืน หรือการกลับไปใช้ขวดแก้ว ทั้งที่รายงานของโค้กเองในปี 1971 ระบุว่า “เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด” 

และหากโค้กยังเดินหน้าแก้ปัญหาที่ปลายทางด้วยการรีไซเคิลขยะเพียงอย่างเดียว คงเป็นไปได้ยากที่ “โลกไร้ขยะ” ของโค้กจะเดินทางมาบรรจบกับโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับมลพิษพลาสติก 


อ้างอิง

Coca-Cola’s Plastic Promises, 2021

https://www.iconeye.com/opinion/icon-of-the-month/blue-planet-bbc-ocean-plastic-crisis-changed-world

https://www.globalcitizen.org/en/content/88-blue-planet-2-changed-david-attenborough/