อนาคตของชาติจะไปในทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของเด็ก เด็กที่มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา แต่อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไรหากเด็กไทยในปัจจุบันกำลังรับประทานอาหารกลางวันที่ปนเปื้อนสารเคมีโดยไม่รู้ตัว

มูลธิการศึกษาไทย ได้เล็งเห็นปัญหาของสารเคมีต่อเด็กนักเรียนและได้จัดทำโครงการ “การจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่นและการขับเคลื่อนการบริโภคพืชผักที่ปลอดภัย” ใน 55 โรงเรียนจาก จังหวัด เชียงใหม่ ปทุมธานี สกลนครและพังงา ในช่วงเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2560 – 2561 โดยการสนับสนุน จาก สสส. องค์การ The Field Alliance และ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสนับสนุนนโยบายทานผักผลไม้ที่ปลอดภัย

จากข้อมูลการศึกษาดังกล่าวมูลนิธิการศึกษาไทยและสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการจัดการประชุมเพื่อแถลงการณ์นโยบายอาหารกลางวันโรงเรียนปลอดภัยระดับชาติและเพื่อหารือเรื่องข้อเสนอแนะทางนโยบายกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องสุขภาพนักเรียนจากสารเคมี

นักวิชาการเปิดเผยการศึกษาเรื่องผลกระทบของสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรต่อเด็ก

เด็กและเยาวชนไทยได้รับสารปนเปื้อนมากที่สุด

จากการสรุปผลการศึกษาผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อนักเรียนระดับประถมและมัธยมต้น ทั้ง 4 ภาค ของประเทศไทย โดยมูลนิธิการศึกษาไทยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าผักและผลไม้ที่นำมาใช้ประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนทานนั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยร้อยละ 52 และจากการตรวจหาการปนเปื้อนของสารเคมีในเลือดของนักเรียนและคุณครูจำนวน 7,807 คน จาก 55 โรงเรียนพบว่าร้อยละ 6 นั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย และร้อยละ 25 ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

ด้านการศึกษาผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของ ดร. วรรณวิมล ภัทรสิริวงศ์ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี 2558 – 2559 จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน พบสารปนเปื้อนทางสารเคมีทางเกษตรโดยเก็บตัวอย่างจากดิน น้ำ พืชผลทางการเกษตร และการตรวจปัสสาวะจากประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ  การวิเคราะห์แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ พบว่ามีสารกำจัดวัชพืชตกค้างอยู่กว่า 10 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 – 100 และสารเคมีกำจัดแมลงเช่น คลอไพริฟอส ตกค้างในน้ำพบถึง 5 ตัว แต่ค่าของการตกค้างยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนการตรวจปัสสาวะจากกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มเกษตรกร 100 บุคคลทั่วไป 200 นักศึกษา 100 ราย) พบว่าในกลุ่มนักศึกษาจาก 100 คนพบสารตกค้างที่เกิดจากการย่อยสารเคมี (Dialkyl Phosphate Metabolites: DAPs) ถึง 95 คน และเป็นเช่นเดียวกันกับอีกทั้งสามจังหวัด

ซึ่งการศึกษาข้างต้นยังไปสอดคล้องการศึกษาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหารกลางวันโรงเรียนและนักเรียน ของ ดร.สุรัตน์ หงษ์สิบสอง จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ที่พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของเด็กนักเรียนชั้นประถม 1 – 6 ในส่วนของเด็กนักเรียนได้รับการปนเปื้อนสารเคมีจำพวกคลอไพและไดอะซีนอนในปัสสาวะ ซึ่งตรงกับการตรวจผลจากพืชผักที่นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน

แม่ที่กำลังตังครรภ์และเด็กในท้องก็ไม่ปลอดภัย

ศ.ดร. พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าการตกค้างของสารเคมีในแม่และทารกนั้นน่าเป็นห่วง ประเทศไทยเป็นชุมชนเกษตรแต่ใช้สารเคมีสูงกว่ากำหนด ซึ่งทำให้สารเคมีเหล่านี้ตกค้างในอากาศ ในดิน ในน้ำ ในอาหาร และร่างกาย ในกลุ่มคนที่เปราะบางเช่นคนท้องและทารกในครรภ์จะได้รับอันตรายมากที่สุด สารเคมีเหล่านี้สามารถเดินทางผ่านรกไปสู่ตัวอ่อนในครรรภ์มารดาที่กำลังพัฒนาเติบโตได้ และสารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อสมองไปตลอดชีวิต

ในโรงพยาบาล 3 แห่ง ตรวจพบสารกำจัดแมลง 7 เดือนระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาลดลง และตอนคลอดบุตร ตรวจพบไกลโฟเซตในแม่ร้อยละ 53 และพบในเด็กร้อยละ 50 ส่วนพาราควอตพบในแม่ร้อยละ 17 และทารกร้อยละ 20 จากการสะสมเรื่อยมา นอกจากนี้ในขี้เทาของเด็กทารกได้ตรวจพบออกาโนฟอสเฟตถึงร้อยละ 98  และเจอพาราควอตร้อยละ 55 “เด็กทารกมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ระบบการผลิตอาหารจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลเพื่อให้เด็กมีอนาคตที่ดีขึ้น” ศ.ดร. พรพิมล กล่าวปิดท้าย

รอง ศ. ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ จาก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทำการศึกษาผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชต่อพัฒนาการของเด็ก พบกว่าแม่ที่ได้รับสารคลอไฟริฟอสระหว่างตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกานั้นมีความสอดคล้องกับงานวิจัยของไทย โดยผลกระทบของสารเคมีนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท ความทรงจำ และการเรียนรู้ มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของเด็กและเด็กทารก

คุณแนน จากมูลนิธิชีวิถี (BioThai) กล่าวว่าแม้การพูดคุยวันนี้จะพูดถึงการตรวจสารเคมีไม่กี่ชนิด   แต่ความเป็นจริงแล้วประเทศไทยใช้สารเคมีเยอะมากถึง 155 ชนิด และในช่วงสองปีที่ตรวจผักเจอผักที่ปนเปื้อนสารเคมีกว่า 60 ชนิด
จากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก และนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร เป็นเงิน 30,000 ล้านบาท ต่อปี

ปัจจุบันคลอร์ไพริฟอสได้ถูกระงับการขายในสหรัฐอเมริกาไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ในประเทศไทยสถานการณ์ของการแบนสารคลอร์ไพริฟอสเพื่อปกป้องอนาคตของเด็กไทยยังคงไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่ปลูกผักในโรงเรียนไม่พอไม่ใช่ปัญหา

ชลอ ใจซื่อ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสามหลังหนึ่งโรงเรียนที่ร่วมโครงการกล่าวว่าแม้ว่าในโรงเรียนจะมีพื้นที่ในการเกษตรอยู่สองงานจึงทำให้หาวัตถุดิบมาทำอาหารกลางวันได้ไม่ครบทั้ง 5 วันเต็ม แต่เรามีเครือข่ายของชุมชนที่ปลูกผักปลอดสารพิษ เราจะเช็คผักของเราก่อนว่ามีชนิดใดบ้าง แล้วคิดเมนูไว้ก่อนที่จะเสาะหาวัตถุดิบกับเครือข่าย ปัจจุบันโรงเรียนจะซื้อผักจากจากตลาดน้อยมาก และมีการเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และเพิ่มความใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้น

พืชผักปลอดสารเคมีที่โรงเรียนร่วมกันปลูกได้นำมาแสดงและจัดจำหน่าย ณ งานแถลงข่าว

เช่นเดียวกับ ไพศาล ศรีมาศ คุณครูโรงเรียนเทศบาลคำตากล้าที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการปลูกพืชผักนั้นไม่เพียงพอต่อการนำมาทำอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน แต่สิ่งที่ครูไพศาลได้ทำคือการให้ความรู้เด็กชั้นประถมปีที่ 4 – 6 ด้วยการจัดทำน้ำหมักจุลินทรย์หน่อกล้วย ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เพื่อเป็นสารทดแทนสารเคมี และให้นักเรียนนำไปใช้ที่บ้านโดยมีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ปกครองของนักเรียนกับโรงเรียนพร้อมทั้งมีการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ นี่ถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงของเด็กต่อการทานพืชผักที่ปนเปื้อนสารเคมีได้ในระดับหนึ่ง

โครงการอาหารกลางวันจะเดินหน้าไปทางไหน

ปัจจุบันโรงเรียนที่ได้ร่วมโครงการอาหารกลางวันปลอดภัยมีอยู่ 55 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่หากคิดเทียบกับจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศไทยที่มีประมาณ 30,000 โรงเรียนแล้วนับว่าการสร้างอนาคตเด็กไทยไร้สารเคมีนับเป็นเรื่องท้าทายพอควร

มีหลายข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐบาลได้นำไปทบทวนและปรับใช้ไม่ว่าจะเป็นในด้านการใช้สารทดแทนการใช้สารเคมี การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ไปถึงการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารปลอดภัยอย่างชัดเจน ฯลฯ เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นกับทุกโรงเรียนทั่วประเทศไทย
“เด็กคืออนาคตของชาติ” เป็นจริงได้ หากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพราะวันหนึ่งความปลอดภัยของอาหารไม่ใช่ของพรีเมี่ยมแต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กไทยทุกคน  เด็กที่เป็นอนาคตของชาติ