เมื่อฤดูฝุ่นควันมาถึง สิ่งที่มักตามมาด้วยคือวาทกรรมคนเผาคือคนผิด และกฎหมายห้ามเผาของรัฐ ว่าแต่ทำไมเกษตรกรต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าเป็นตัวการสำคัญก่อให้เกิดฝุ่นควัน แท้จริงแล้วมีเบื้องลึกเบื้องหลักอะไรซุกอยู่ใต้พรมหรือไม่

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace 

ฝุ่นควันภาคเหนือส่วนหนึ่งเกิดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากไหน?

การจะอธิบายว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากไหน ก่อนอื่นอาจต้องเข้าใจก่อนว่าเกษตรพันธสัญญาคืออะไร

เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) คือ การทำสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับบริษัทหรือหน่วยธุรกิจในการซื้อขายสินค้าเกษตร เพื่อทำเกษตรปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง ข้าว อ้อย และอื่น ๆ หรือฟาร์มปศุสัตว์ ไก่ หมู และสัตว์น้ำ 

เกษตรพันธสัญญาเกิดขึ้นหลังจากที่ไทยได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา ไทยเริ่มกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) เป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการ “พัฒนาประเทศ” ไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วงปีนั้นมีเพลงที่ร้องติดหูกันในอดีตที่มีเนื้อความว่า “พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” ซึ่งเนื้อหาสำคัญในการประชุม คือ “ทางการเขาสั่งมาว่าให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร” นั้นไม่ใช่แค่เพลง แต่คือรูปแบบการบันทึกแบบปากต่อปากถึง ‘เกษตรพันธสัญญา’ เป็นบทบันทึกจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรกรรมในครัวเรือนเพื่อยังชีพไปสู่การผลิตเชิงพานิชย์เพื่ออุตสาหกรรม 

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace 

หลังจากบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์สงเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคเนื้อผ่านระบบเกษตรพันธสัญญา ภาคเหนือตอนบนของไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า) ระหว่างปี 2545-2565 

เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2565) ประมาณ 9 ล้านไร่  นอกเหนือจากนี้ยังเกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ไปยังประเทศ เพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉาน (เมียนมา) และภาคเหนือของ สปป.ลาว 

วัฏจักรความเหลื่อมล้ำผ่านกฎหมายห้ามเผา

เมื่อมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ย่อมต้องทำลายซากซังข้าวโพดที่เหลือ เกษตรกรจำเป็นต้องเผาเนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนที่การเผาใช้งบประมาณน้อยกว่าการฝังกลบ และสภาพภูมิประเทศปลูกข้าวโพดที่มักเป็นภูเขาสูงชัน ก่อให้เกิด “ฤดูฝุ่นควัน” ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่กล่าวว่าวาทกรรม “เกษตรกรผู้เผาเป็นคนผิด” คืออคติที่ใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ วาทกรรมนี้อนุญาตให้หน่วยงานรัฐและบริษัทไม่ต้องแก้ไขปัญหา มากไปกว่านั้น รัฐยังใช้อำนาจมาออกกฎหมายห้ามเผา ทำให้การเผาผิดกฎหมาย ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีกระดับ

“ไร่หมุนเวียนเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีไม่เคยสร้างดอยหัวโล้น แต่มีข้าวโพดที่ไหน มีดอยหัวโล้นที่นั่น ชาวบ้านถูกมองเป็นจำเลยสังคม นี่คือวัฎจักรความเหลื่อมล้ำ 

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาศัยการมองทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหา แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐใช้ ‘การสั่ง’ ให้แก้ปัญหาฝุ่นควัน แต่ปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการ ‘สั่ง’ มันขาดกระบวนการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่” ชัชวาลย์กล่าว

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace 

นอกจากการสูญเสียพื้นที่ป่า และปัญหาฝุ่นควันแล้ว การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของหน้าดิน เพราะไม่มีรากต้นไม้ยึดไว้ เกิดดินสไลด์ทุกฤดูฝน สิ่งที่ไหลลงมาตามน้ำคือตะกอนดิน และน้ำปนเปื้อนสารเคมีการเกษตร 

ชนกนันทน์ นันตะวัน หัวหน้ากลุ่มเพื่อลมหายใจเชียงใหม่กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานลงพื้นที่แม่แจ่ม พื้นที่ปลูกข้าวโพดอันดับ 1 ของเชียงใหม่ว่าเกษตรกรใช้สารเคมีจำนวนมากในการเพาะปลูกข้าวโพดทำให้สุขภาพคนในพื้นที่ย่ำแย่ ค่าสารเคมีสูง อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงตามไปด้วย 

“มีคำพูดว่า ‘คนแม่แจ่มเป็นคนรวยนะ ซื้อน้ำกิน เพราะน้ำในพื้นที่กินไม่ได้’ อากาศที่หายใจยังไม่ปลอดภัยเลย น้ำจะกินยังต้องซื้อ ถ้ายังไม่แก้ไข ในอนาคตอาจต้องซื้ออากาศหายใจเช่นกัน”

เมื่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาพร้อมปัญหามากมายเช่นนี้ ทำไมเกษตรกรยังปลูกข้าวโพดต่อไป?

คำตอบคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาพร้อมกับ ‘การสนับสนุนของภาครัฐ’ ที่เป็นใบเบิกทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ ไม่ต้องอาศัยรายการบัญชีเงินฝากถอน (statement) และเป็นพืชที่ปลูกแล้วขายได้แน่นอน แล้วค่อยปลูกพืชชนิดอื่นในฤดูฝนเช่น หอม กระเทียมเพื่อให้ได้เงินคืนมา แต่หอม กระเทียมไม่ใช่พืชที่จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

“เกษตรกรทุกคนเห็นผลกระทบ แต่ปัญหามันใหญ่มากเกินกว่าคนตัวเล็ก ๆ จะต่อสู้ได้ วิถีการผลิตเป็นตัวบังคับให้เขาต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเงิน นโยบายรัฐ ความต้องการเนื้อของผู้บริโภคเนื้อสัตว์ในเมืองเอื้อทุกทางเกินกว่าเกษตรกรจะเปลี่ยนได้ เราจึงต้องการเพื่อน ๆ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนโยบายรัฐมาช่วยกันขับเคลื่อน” ชนกนันทน์กล่าว

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace 

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวสรุปว่า

“ถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อกำหนดมาตรการเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมให้รับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มิใช่ให้เกษตรกรต้องต่อสู้อยู่ฝ่ายเดียว” 

อ่านรายงานเพิ่มเติม >> https://www.greenpeace.org/thailand/publication/24719/food-agriculture-mapping-20-years-of-maize-and-deforestation-in-thailand/