จากรายงานล่าสุดของ Unearthed เปิดโปงถึงการพบเสื้อผ้าและอุปกรณ์แต่งกายจากแบรนด์ ไนกี้ (Nike) ราล์ฟ ลอว์เรน (Ralph Lauren) ดีเซล (Diesel) และแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอีกหลายแบรนด์ที่เตาเผาในประเทศกัมพูชา แน่นอนว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเหล่านี้ส่วนมากจะมีส่วนผสมของใยโพลีเอสเตอร์ หรืออีกนัยหนึ่ง การเผาเสื้อผ้าเหล่านี้ก็คือการเผาใยพลาสติกและสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ส่งผลกระทบต่อพนักงานซึ่งพวกเขาจะได้รับสารพิษจากการเผาพลาสติกรวมถึงเส้นใยไมโครพลาสติก ในเนื้อข่าวดังกล่าว Unearthed เปิดเผยว่าได้รับการตอบรับจากแบรนด์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของตัวเองกับกรณีที่เกิดขึ้น

พนักงานหญิงกำลังเทเศษเสื้อผ้าลงไปในเตาเผาอิฐ กัมพูชา
ภาพพนักงานหญิงกำลังเทเศษเสื้อผ้าลงไปในเตาเผาอิฐ ที่จังหวัดกันดาล กัมพูชา © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

เกิดอะไรขึ้นหลังจากคอลเลคชั่นเสื้อผ้าใหม่หมดอายุ?

แม้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังเหล่านี้จะยืนยันว่าโมเดลธุรกิจของพวกเขายั่งยืน แต่ปัจจุบันนี้ห่วงโซ่ของเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น ส่งขยะเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เสื้อผ้าเหล่านั้นกลายเป็นปัญหาขยะที่ล้นเกินต่อกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่ระบบบการจัดการขยะยังไม่สามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือมลพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

จากการณรงค์ของกรีนพีซในแคมเปญ ‘Detox My Fashion’ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราเปิดโปงผลกระทบจากระบบการผลิตเสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นหลายรูปแบบ เช่น สารเคมีเป็นพิษที่เกิดขึ้นในระบบระบายน้ำของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและแสดงให้เห็นว่าตลอดทั้งระบบของอุตสาหกรรมดังกล่าวส่งผลอย่างไรต่อกลุ่มประเทศเหล่านี้

และการตรวจสอบล่าสุดของ Unearthed ก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่าหากไม่มีการตรวจสอบ เราก็คงไม่มีทางรู้ได้ว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นกำลังฟอกเขียวตัวเอง เพราะเบื้องหลังคำมั่นสัญญาการทำธุรกิจให้โปร่งใสตรวจสอบได้ พวกเขาได้ซ่อนปัญหาขยะสิ่งทอปริมาณมหาศาลรวมทั้งการละเมิดสิทธิพนักงานเอาไว้

แพคขยะสิ่งทอที่เต็มไปด้วยเศษเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายถูกวางกองทิ้งไว้ข้างเตาเผาขยะในจังหวัดกันดาล กัมพูชา เศษเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ ขยะสิ่งทอในกัมพูชาเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการการผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นจากแบรนด์แฟชั่นระดับโลก หนึ่งในนั้นรวมถึงแบรนด์ ไนกี้ (Nike) โดยเศษเสื้อผ้าเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตอิฐ ซึ่งทำให้พนักงานได้รับผลกระทบจากเส้นใยพลาสติกในเสื้อผ้าที่ถูกเผาจากการสูดดมหรือสัมผัสกับควันพิษ  © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

แม้ว่าผู้คนในในยุโรปจะเป็นผู้บริโภคแฟชั่นเหล่านี้ แต่การบริโภคดังกล่าวกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 84.7% นอกภูมิภาคยุโรป และภูมิภาคหลักที่ได้รับผลกระทบคือเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศกัมพูชา โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในกัมพูชาทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากเกิดการระบาดของโควิด -19 เพราะแบรนด์ต่าง ๆ สั่งซื้อน้อยลง ทำให้โรงงานผลิตหลายแห่งปิดตัวลง นอกจากนี้คนงานที่ทำเกษตรและประมงซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องดิ้นรนหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพ จึงหันมาทำงานในเตาเผาอิฐ 

เพราะอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นมีชื่อเสียงในด้านลบเกี่ยวกับการกำจัดขยะหลังจากที่ผู้บริโภคซื้อไปใช้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ กรีนพีซแอฟริกาและกรีนพีซเยอรมนีร่วมกันออกสำรวจพื้นที่ในเคนยาและทานซาเนีย เพื่อค้นหาคำตอบว่าเสื้อผ้าราคาถูกที่ผลิตจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนเมื่อมันไม่ถูกใช้งานแล้ว ซึ่งสิ่งที่พบคือ เสื้อผ้ามือสองที่ถูกบริจาคมานั้นถูกส่งออกมายังแอฟริกาและกลายเป็นขยะสิ่งทอปริมาณมหาศาลในบ่อขยะ เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกเผากำจัดในที่โล่ง หรือไม่ก็ถูกทิ้งตามแม่น้ำกลายเป็นมลพิษปนเปื้อนในทะเล

กรีนพีซเก็บภาพขยะสิ่งทอมหาศาลที่ถูกทิ้งจนล้นเกินมายังแม่น้ำไนโรบี ระหว่างบ่อขยะดันโดร่าและแฮปปี้ ซัมเมอร์ในไนโรบี © Kevin McElvaney / Greenpeace

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากห่วงโซ่การผลิตของฟาสต์แฟชั่นยังไม่ถูกเปิดเผยในวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหานี้ยังถูกปกปิดโดยแบรนด์เอง สาเหตุที่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นใช้วัตถุดิบอย่างสิ้นเปลืองก็เพราะต้องตอบสนองต่อโมเดลธุรกิจของฟาสต์แฟชั่นที่ต้องผลิตเสื้อผ้าในปริมาณมหาศาลและรวดเร็ว เพื่อให้แบรนด์ส่งสินค้าขายให้ทันเวลาและต้นทุนที่ต่ำที่สุด

จากผลสำรวจเมื่อปี 2017 พบว่ามีสินค้าที่ถูกซื้อไปราว 25% กลายเป็นขยะ หรือกล่าวได้ว่าหลายโรงงานผลิตสินค้าเสียวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้ากว่าครึ่งไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ยังคงใช้งานได้ แต่ด้วยช่วงเวลาที่สั้นและการสั่งผลิตจำนวนน้อยทำให้ซัพพลายเออร์หรือดีไซน์เนอร์ไม่มีเวลาพอที่จะนำสินค้าเหล่านี้ไปปรับเปลี่ยนเพื่อใช้งานต่อ จึงทำให้สินค้าเหล่านั้นกลายเป็นขยะ

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

คนเก็บขยะกำลังทำงานอยู่ในบริเวณบ่อขยะ ซึ่งเป็นบ่อขยะในกรุงพนมเปญ โดยบ่อขยะดังกล่าวเป็นที่ทิ้งขยะเสื้อผ้าที่ถูกคัดออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่อยู่ในเมืองอีกด้วย และขยะสิ่งทอเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกโรงงานเตาเผาอิฐคัดแยกและนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อเผาอิฐต่อ © Thomas Cristofoletti / Unearthed / Greenpeace

ตอนนี้สหภาพยุโรปกำลังร่างนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของสิ่งทอใหม่ ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้นโยบายนี้สามารถตรวจสอบว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นโปร่งใสในด้านการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งสหภาพยุโรปจะต้องมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของฟาสต์แฟชั่นด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่เกิดกับสังคมทั่วโลก 

นอกจากนี้ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเองก็จะต้องแก้ปัญหาสินค้าที่ถูกผลิตออกมาจนล้นเกินจนกลายเป็นขยะและจะต้องหยุดเอาเปรียบประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบซีกโลกใต้ โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอจะต้องหยุดการทำธุรกิจแบบฟาสต์แฟชั่น และจะต้องลดการผลิตเสื้อผ้าให้น้อยลง อีกทั้งจะต้องทำให้เสื้อผ้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพที่สามารถสวมใส่ได้นานกว่าเดิม รวมทั้งสามารถซ่อมแซมได้

หากแบรนด์แฟชั่นเข้าใจและหยุดโมเดลธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เปลี่ยนแนวคิดจากการผลิตสินค้าและปล่อยขายให้มากที่สุด เร็วที่สุด ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด เป็นแนวคิดการให้บริการซ่อมแซมเสื้อผ้า ขายคืนและการแชร์เสื้อผ้าเครื่องประดับ เราก็จะมีโอกาสที่จะหยุดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมและสร้างอนาคตที่น่าอยู่สำหรับผู้คนในรุ่นต่อไป


วิโอลา  โวลเกมุธ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเศรษฐกิจยั่งยืน กรีนพีซ เยอรมนี

บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ