โดมิโนชิ้นใหญ่ที่สุดล้มครืน สัญญาณเตือนแห่งทางตันของอุตสาหกรรมถ่านหิน

ข่าวน่าตกใจของอุตสาหกรรมถ่านหินเกิดขึ้น เมื่อ 13 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา บริษัท พีบอดี เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองถ่านหินเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ยืนเรื่องต่อศาลล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ขอพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เนื่องจากธุรกิจขาดทุนจากราคาถ่านหินที่ตกลง เพราะความต้องการถ่านหินที่ลดลง รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างกฎหมายข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นด้านการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถชำระหนี้สินได้ การล้มละลายของพีบอดีจึงเป็นสัญญาณสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากยุคพลังงานเก่าและทำลายสุขภาพของสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างถ่านหิน สู่ยุคพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อโลกและชุมชน อีกทั้งยังเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน

เหมืองถ่านหินของบริษัทพีบอดี ที่ประเทศออสเตรเลีย (ภาพ: Pea Body Energy)

เหตุผลที่พีบอดี “ล้มละลาย”

1. ขาลงของถ่านหิน กับหนี้กว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักข่าว Bloomberg ระบุไว้ว่า การล้มละลายของพีบอดี ถือการล้มละลายของบริษัทที่มีหนี้สินมากที่สุด โดยจุดเริ่มต้นของการล้มละลายคือการกู้หนี้จำนวน 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2554 เพื่อซื้อบริษัทถ่านหิน Macarthur ของออสเตรเลีย เพื่อรองรับความต้องการถ่านหินในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันประเทศจีนกำลังพยายามปลดตัวเองออกจากถ่านหินเพื่อแก้วิกฤตปัญหาคุณภาพอากาศอันเลวร้าย

การยื่นขอล้มละลายในครั้งนี้นับว่าเป็นกรณีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ราคาพลังงานและเหล็กกล้าราคาลดลงตั้งแต่ 2557

2. ผิดคาด! ถ่านหินไม่ได้กำลังบูมอย่างที่คิด

การซื้อบริษัท Macarthur ของออสเตรเลียนั้นเป็นการประเมินที่ผิดพลาดอย่างมากของบีพอดี ว่าตลาดเอเชียกำลังมีปริมาณความต้องการถ่านหินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่นานาประเทศกำลังมุ่งแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยประเทศจีนเองก็กำลังหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วยการมุ่งมั่นลดปริมาณการใช้ถ่านหินให้ได้ร้อยละ 62.6 ในปีนี้ (จากปีที่แล้วที่ร้อยละ 64.4) เพื่อที่จะบรรลุเจตนารมณ์นี้ ประเทศจีนจึงหยุดการสร้างเหมืองถ่านหินใหม่เป็นเวลา 3 ปี และจากความต้องการของประเทศจีนที่ลดลงอย่างมากนี้เอง ทำให้บริษัทต้องตัดบัญชีสินทรัพย์ลงถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558

3. ไม่ใช่แค่พีบอดี แต่ยังบริษัทถ่านหินอีกเกือบ 50 แห่งที่ล้มละลาย

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมถ่านหินกำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่ สำนักข่าว Forbes.com กล่าวว่า พีบอดีถือเป็นบริษัทถ่านหินลำดับที่ 50 ที่ยื่นขอล้มละลายตั้งแต่ปี 2555 ถือเป็นความพลิกผันของสถานการณ์ถ่านหินเป็นอย่างมาก เพราะเพียงแค่ 5 ปีก่อนหน้านี้มูลค่าบริษัทพีบอดียังสูงถึง 2 หมื่นล้าน และขายถ่านหินให้กับ 25 ประเทศ แต่เป็นช่วงเวลานั้นเช่นกันที่กลุ่มผู้ลงทุนต่างกดดันให้พีบอดีอธิบายถึงการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน จุดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุของการล้มละลายนั้นไม่ใช่เพราะการดำเนินการธุรการที่ผิดพลาด แต่เป็นการล่มสลายของอุตสาหกรรมถ่านหินทั้งหมด

จากตัวเลขของรัฐบาลสหรัฐฯ ปี 2557 อุตสาหกรรมถ่านหินร้อยละ 45 ของสหรัฐฯได้ยื่นคำร้องขอล้มละลายเนื่องจากภาวะตลาดถ่านหินซบเซาทั่วโลก

เหมืองถ่านหิน North Antelope Rochelle ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพ: Pea Body Energy)

 

4. กู้วิกฤตโลกร้อน: จุดเปลี่ยนของแหล่งพลังงานจากถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียน

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และราคาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหตุนี้เองที่ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการถ่านหินในตลาดสหรัฐฯ ลดลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซตกลงทั่วโลก จึงทำให้ความต้องการถ่านหินในภูมิภาคอื่นอย่างเช่นที่ยุโรป ลดลงตามไปด้วย

ริชาร์ด แบล็ค ผู้อำนวยการของ Energy and Climate Intelligence Unit (ECIU) กล่าวว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญของการล่มสลายของบริษัทพีบอดี “ปัญหามลพิษทางอากาศคือประเด็นหลักที่หลายประเทศกำลังกังวล รัฐบาลในประเทศต่างๆ ก็กำลังวิตกถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันมีต้นเหตุจากถ่านหิน และขณะนี้บริษัทถ่านหินเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลกก็จำต้องถอนตัวแล้ว”

รายงานของ World Bank ได้เผยว่า ราคาถ่านหินกำลังตกลงกว่าร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา และคาดว่าจะตกลงอีกร้อยละ 13 ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากความต้องการของตลาดน้อย แต่มีสินค้ามาก

นอกจากประเทศสหรัฐฯ และจีนแล้ว ยุโรปเองก็กำลังถอนตัวจากถ่านหินเช่นกัน หลายประเทศในยุโรปกำลังทยอยปิดการใช้งานโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของประเทศ ขณะนี้มีทั้งหมด 7 ประเทศแล้ว ได้แก่ เบลเยียม ไซปรัส ลักแซมเบิร์ก มัลตา และบัลติก โดยสหราชอาณาจักร และออสเตรียได้กำหนดแผนที่จะยุติการใช้พลังงานถ่านหินภายในปี 2568 และโปรตุเกสภายในปี 2563 เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ยุคทองของถ่านหินกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว

เรายังคงต้องติดตามต่อไปว่าการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย และต่อสิ่งแวดล้อมของพีบอดีจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งยังมีประเด็นเรื่องการทำความสะอาดและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองถ่านหินหลังจากที่บริษัทล้มละลายไป ซึ่งเหมืองของพีบอดีมีพื้นที่กว่า 90 ตารางไมล์ ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการทำความสะอาดและฟื้นฟู อย่างไรก็ดี การล้มละลายของยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมถ่านหินโลกนี้ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับถ่านหิน แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพของเราทุกคน อีกทั้งยังเป็นประตูที่เบิกทางสู่อนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นและชัดเจนขึ้นของพลังงานหมุนเวียน

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

About the author

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทุกคนจากการเลือกกิน เลือกซื้อ เลือกใช้ และการลงมือทำ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

Comments

Leave your reply