ต้อนรับปี 2019 ด้วยการบอกรักษ์โลกดังๆ ว่าจะต้องลดขยะ 2019 ชิ้นให้ได้

การต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากสิ่งที่ทำให้เราสะดวกสบายจนเคยชิน อาจจะทำให้เรารู้สึกลำบากและมีความติดขัดในช่วงแรกๆ แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกว่า “เออ เราทำได้หวะ” และพอเราลดใช้พลาสติกไปนานวันเข้า ตามทฤษฎี 21 วัน หรือทฤษฎีที่อธิบายถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมและนิสัยการบริโภคพลาสติกของเราก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งจะทำให้เรามองการใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งเปลี่ยนไปเช่นกัน

Home without single-use plastic : บ้านของเรา ลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตรงไหนได้บ้าง  

reuse-sanitary

ขอบคุณภาพจาก SunnyCotton – menstrual pad ผ้าอนามัยซักง่าย

ผ้าอนามัยแบบซักได้

ผ้าอนามัยปกติ ประกอบด้วยพลาสติกจำนวน 5 ชิ้น คือ ที่ปิดซอง ซองใส่ แผ่นติดกาวด้านหน้าและหลัง และตัวผ้าอนามัยเอง ซึ่งถ้าใน 1 เดือน เรามีประจำเดือน 5 วัน และเราต้องใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน เท่ากับว่าใน 1 ปี เราใช้ผ้าอนามัยประมาณ 120 ชิ้น และเมื่อรวมกับบรรจุภัณฑ์ เราก็ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไปกว่า 600 ชิ้นเลยทีเดียว สิ่งที่นำมาใช้แทนผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งคือ ผ้าอนามัยแบบซักได้ ข้อแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มใช้ คือ ลองหาลายน่ารักๆ เพราะจะช่วยให้เราอยากหยิบมาใช้มากขึ้น และซื้อผ้าสาลูมาใส่ช่วยเพิ่มการซึบซับ เราจะได้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น สิ่งที่ใช้แทนกันได้อีกชิ้นคือถ้วยอนามัย (Mentrual cup) ซึ่งเป็นภาชนะรองรับประจำเดือนได้ ทำจากวัสดุที่ปลอดภัยต่อการแพ้ ซึ่งเป็นซิลิโคนทางการแพทย์ แต่ถ้าใครสนใจ เราแนะนำให้หาข้อมูลให้ละเอียดก่อนซื้อนะจ๊ะ

แชมพูก้อน & สบู่ก้อน

ขวดยาสระผมและขวดสบู่เหลว ประกอบด้วยขวดที่ทำจากพลาสติก ฉลากพลาสติก และฝาขวด ดังนั้น เราแนะนำให้ลองหาสบู่และแชมพูก้อนมาใช้ดู ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีแชมพูและสบู่หลายยี่ห้อที่ใช้กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ สำหรับแชมพู เราใช้เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) มาผสมกับน้ำสะอาด ก็ช่วยให้ผมนุ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจ

DIY-Shampoobar

แปรงสีฟัน & ยาสีฟัน

มีคนบอกว่า แปรงสีฟันด้ามแรกที่เราใช้ในชีวิตยังอยู่บนโลกใบนี้ !! และแปรงสีฟันเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนทุก 3 เดือน เราแนะนำให้ลองเปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่แทน ส่วนยาสีฟัน เราเลือกใช้ยาสีฟันแบบผงที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย และบรรจุในขวดแก้ว เมื่อเราใช้หมด เราก็สามารถนำไปเติมที่ร้านที่มีบริการเติม (Refill Shop) ได้

คำเตือน คาเฟ่นี้ห้ามพลาสติกเข้าร้านจ้า Better Moon x Refill Station

มาส์กพอกหน้าและสครับใช้เอง

มาส์กหรือสครับทั่วไปมักจะมาพร้อมบรรจุภัณฑ์พลาสติกประมาณ 2 ชิ้นคือ ซองกับฉลาก หรือบางยี่ห้อก็มีฝาปิดด้วย เท่ากับว่าเราผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 2 ชิ้นต่อของ 1 อย่าง เราเลยแนะนำให้ลองมองหาวัตถุดิบภายในครัว เช่น มะขามเปียก ขมิ้น ฯลฯ แล้วนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ขัดผิวและบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้นไปได้ในตัว ซึ่งนอกจากจะหาง่ายแล้ว ยังช่วยเราประหยัดเงินไปได้เยอะเลยทีเดียว

natural scrub

นอกจากนี้ยังมีการซื้อของออนไลน์ที่ถือเป็นการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมาก เราใช้วิธีสอบถามคนขายถึงการห่อของด้วยกระดาษ ซึ่งก็มีหลายท่านที่เข้าใจและเต็มใจจะทำให้เป็นอย่างดี หรืออีกทางก็คือการไปซื้อหน้าร้านเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเลย และในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ การห่อของขวัญก็จะสร้างขยะเป็นจำนวนมาก เราจึงแนะนำให้ใช้กระดาษเหลือใช้ห่อของขวัญด้วยตัวเอง ถือเป็นการช่วยให้ไม่มีของเหลือทิ้ง และประหยัดเวลาได้มากด้วย

Into the Markets เดินเข้าไปในตลาดยังไง ให้ออกมาโดยไม่มีพลาสติกแม้แต่ชิ้นเดียว

เคยสังเกตกันไหมว่า ทุกครั้งที่เราไปตลาด เราจะมีพลาสติกติดไม้ติดมือมาเป็นของแถม นอกจากสิ่งของที่เราจะไปซื้อเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถุงพลาสติก ฯลฯ คราวนี้เราลองมาดูกันไหมว่า เราจะช่วยลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งยังไงบ้าง

ก่อนเดินเข้าตลาด เตรียมกล่องให้พร้อม

ก่อนออกจากบ้าน เราจะจดสิ่งที่เราต้องการไปซื้อเสมอ และเตรียมกล่องไปด้วย อาจจะเตรียมเผื่อไปบ้าง เผื่อเห็นอะไรน่ากิน พร้อมกับถุงผ้า ถ้าเป็นถุงที่ใช้ใส่กล่องและผักผลไม้ต่างๆ เราขอแนะนำให้ใช้ถุงกระสอบ เพราะถ้ามีอะไรหกเลอะ ก็จะเช็ดได้ง่ายและเมื่อโดนน้ำก็แห้งไวด้วย สำหรับคนที่ต้องออกจากบ้านตามปกติ เราแนะนำให้พกแค่ถุงเล็กๆ และถุงซิลิโคน เพราะทั้งสองอย่างนี้มีขนาดไม่ใหญ่และทรงแบน ไม่กินเนื้อที่ในกระเป๋ามากนัก และใช้ได้แบบอเนกประสงค์เลยด้วย

เดินเข้าไปในโซนผักและผลไม้แบบไม่มีการห่อด้วยพลาสติก

การไปตลาดสดมันดีที่นอกจากจะมีสินค้ามากมายให้เลือกแล้ว เรายังได้สินค้าที่ไม่มีการห่อด้วยพลาสติกอีกด้วย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ อาหารคาว หรือแม้แต่ของหวาน ข้าวสารและไข่ไก่ ทุกอย่างจะเอามาขายกันจะจะให้เห็นสินค้ากันเลย ซึ่งการนำกล่องไปให้พ่อค้าแม่ค้าใส่ให้นั้น จะช่วยให้สามารถลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไปได้เยอะมาก เพราะลองคิดดูว่า แค่แกง 1 ถุงก็ประกอบด้วยถุงแกงร้อน ยางมัดถุง และถุงหิ้วพลาสติกแล้ว ถ้าเราซื้อเยอะ ปริมาณพลาสติกที่ต้องใช้ก็จะมากขึ้นอีกหลายเท่า

เดินเข้าไปในโซนซอสปรุงรส แล้วออกมาพร้อมกับขวดแก้ว

ซอสปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำปลา ซอสมะเขือเทศ น้ำผึ้ง ฯลฯ จะถูกบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับขวดแก้ว เราก็เลือกแบบบรรจุลงในขวดแก้วแทน

เดินเข้าไปซื้อไขผึ้งห่ออาหาร (Beeswax Wraps)

bee wax wrap

ไขผึ้งห่ออาหารยังถือเป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทย แต่เป็นสิ่งที่ช่วยเราประหยัดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมากๆ เมื่อไปตลาด เราจะพกไขผึ้งห่อกระดาษไปด้วยไว้สำหรับซื้อผลไม้หรือขนมปังที่เราซื้อไม่เยอะ เราจะนำไขผึ้งห่ออาหารมาห่อแทนพลาสติกได้ แม้ว่าบางร้านจะใช้ถุงกระดาษใส่ แต่ถุงกระดาษบางชนิดก็เคลือบด้วยพลาสติกเพื่อความคงทนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเรามีไขผึ้งห่ออาหาร ก็เอามาใช้ห่อแทนก็จะดีกว่า

A cup of Coffee : 1 แก้วกาแฟที่ปราศจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ลืมพกแก้วมา ก็ขอแก้วกินที่ร้าน

บางครั้งเราอาจลืมพกแก้วส่วนตัวไป เราจะขอใช้แก้วที่ร้านแทนแก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง พร้อมกับบอกไม่เอาหลอดด้วย เพราะแก้วกาแฟที่ซื้อกลับบ้าน ประกอบด้วยแก้ว ฝาครอบแก้ว หลอด และบางร้านมีถุงหิ้วถือด้วย เท่ากับเราผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งถึง 4 ชิ้นกับการดื่มเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

ไม่ลืมพกแก้วกาแฟ

เราพกแก้วส่วนตัวไปด้วยทุกที่ เพราะลายน่ารัก เราเลือกแก้วปากกว้างและสูง การใช้แก้วปากกว้างจะช่วยให้ล้างได้ง่าย และการที่ทรงแก้วสูง จะทำให้เรานำไปใส่อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ผลไม้ เวลาที่เราลืมพกกล่องไปได้ด้วย

ไม่ลืมพกอุปกรณ์กินอาหาร

เราจะมีกล่องช้อนส้อมติดกระเป๋าไว้ตลอดเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินและมันถือเป็นอุปกรณ์อเนกประสงค์ที่ใช้ตักของคาวและของหวานก็ได้ บางครั้งร้านกาแฟก็จะมีขนมหวานอร่อยๆ ให้ชิม เราก็จะได้นำออกมาใช้ได้ทันท่วงที โดยไม่รอให้มีใครยื่นส้อมพลาสติกให้

คำแนะนำทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวเลือกในการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างเท่านั้น บางท่านที่เพิ่งเริ่มลด อาจลองหยิบบางตัวอย่างในนี้ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมาลองทำดู หรือท่านไหนที่อยากท้าทายตัวเองในการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น บางคำแนะนำข้างต้นก็อาจช่วยให้รู้สึกฮึกเฮิมได้ ส่วนใครที่มีไอเดียการลดใช้พลาสติกใหม่ๆ และอยากนำเสนอ ก็สามารถแนะนำหรือร่วมพูดคุยกันได้ที่หน้าเพจ Greenpeace Thailand, สถานี DIY – MAKE SMTHNG Buy Nothing หรือ Greenpeace.or.th  และสวัสดีปีใหม่ 2019 ก้าวใหม่ของเราที่จะไม่ทิ้งร่องรอยขยะพลาสติกไว้บนโลก !   

พิชา รักรอด

About the author

พิชา รักรอด
ทำงานด้านรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเธอเองก็ลดใช้ไปพร้อมๆ กันด้วย เธอชอบเดินป่า เพราะมันทำให้เธอได้ท้าทายความสามารถของตัวเองและมองเห็นความสวยงามของธรรมชาติ เธอชอบกินชอคโกแลตที่มาจากการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และชอบร้องคาราโอเกะมากอีกด้วย