ขณะที่ป่าฝนแอมะซอนตกอยู่ในอันตราย เราทุกคนก็ตกอยู่ในอันตรายไปด้วย

ป่าแอมะซอนเป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีบทบาทสำคัญสามารถควบคุมสภาพอากาศโลกได้ นอกจากนี้ป่าแอมะซอนยังเป็นบ้านของชนพื้นเมืองและชุมชนดั้งเดิมซึ่งมีแนวทางการพิทักษ์และดูแลป่า เป็นวิถีที่จะพาเราทุกคนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ ยิ่งไปกว่านั้นป่าแอมะซอนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก เชื่อว่าที่นี่ยังเป็นบ้านของสัตว์อีกหลายสปีชีส์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันผืนป่าที่น่าอัศจรรย์แห่งนี้กำลังถูกทำลาย

เกิดการทำลายป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ จากอุตสาหกรรมที่เข้าไปแสวงหาทรัพยากรมหาศาลในระยะเวลาอันสั้นเพื่อผลกำไร ทำให้ป่าแอมะซอนเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ปีนี้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคมสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากข้อมูลของศูนย์วิจัยอวกาศแห่งชาติ บราซิล (INPE) เผยว่า พื้นที่ป่าในแอมะซอนถูกทำลายเป็นบริเวณกว้าง โดยพื้นที่ที่ถูกทำลายไปมีขนาดใหญ่กว่านครนิวยอร์กถึงห้าเท่า

แต่หากปราศจากป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจปัญหาการทำลายป่าแอมะซอนโดยเฉพาะการถางป่าเป็นบริเวณกว้าง และปัญหาไฟป่า โดยเริ่มจากนโยบายที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อปกป้องป่าแอมะซอนและสิทธิชนพื้นเมืองของรัฐบาลโบลโซนาโร  หากเราเข้าใจที่มาที่ไปก็น่าจะช่วยให้เราร่วมกันหาทางออกของปัญหาได้

ป่าที่ถูกไฟไหม้ในเดือนกันยายน 2020 พื้นที่ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนจาก PRODES (โครงการตรวจสอบดาวเทียมแอมะซอนของบราซิล) เมือง Juara รัฐ Mato Grosso © Christian Braga / Greenpeace 

รู้จักป่าแอมะซอน

แอมะซอนเป็นป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ 2.6 ล้านตารางไมล์ ครอบคลุม 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และเฟรนช์เกียนา พื้นที่ลุ่มน้ำแอมะซอนครอบคลุมพื้นที่ราว 60% ของประเทศบราซิล ซึ่งกรีนพีซ บราซิลได้ทำงานปกป้องพื้นที่แห่งนี้มายาวนานกว่า 30 ปี

อะไรคือสาเหตุไฟไหม้ในป่าฝนแอมะซอน?

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เห็นภาพป่าแอมะซอนในบราซิลถูกทำลายด้วยไฟป่าซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักของป่าแอมะซอน สิ่งสำคัญเบื้องหลังไฟป่านี้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นไฟป่าที่มาจากปรากฎการณ์ธรรมชาติ

เพราะโดยปกติแล้ว ป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์จะไม่มีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นหากไม่มีมนุษย์เข้าไปเป็นปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น แต่ไฟป่าในแอมะซอนมักเกิดขึ้นจากเจตนาของมนุษย์ หลายกลุ่มผู้บุกรุกที่ดินอย่างผิดกฎหมาย นั่นเป็นเพราะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลโบลโซนาโรทำให้พวกเขากล้าที่จะบุกรุกพื้นที่อย่างอุกอาจเพื่อเอาพื้นที่ป่าไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ 

และกระบวนการทำลายป่าแบบนี้เกิดขึ้นก็เพื่อเคลียร์พื้นที่ป่านั่นเอง

เนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอนเกิดขึ้นเพราะความจงใจจึงแตกต่างจากเหตุการณ์ไฟป่าที่อื่น เช่น แคลิฟอร์เนีย หรือไม่ว่าจะเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นในแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่มีสาเหตุไฟป่าตามธรรมชาติหรือจากอุบัติเหตุ

จริงหรือไม่ที่ไฟไหม้ป่าแอมะซอนที่เกิดขึ้นโดยเจตนาเพื่อทำลายป่า?

คำตอบคือ จริง เพราะการใช้ไฟเผาป่าทำไปเพื่อให้ถางป่าได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้หากมีต้นไม้ใหญ่ก็จะถูกโค่นและปล่อยให้แห้งตาย โดยฤดูเผาป่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม และยาวนานต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเพื่อให้ดูสอดคล้องไปกับฤดูแล้งตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ด้วยเจตนาของรัฐบาลโบลโซนาโรเพื่อสร้างความหละหลวมต่อการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาพอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้นเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปัจจุบัน มีไฟป่าเกิดขึ้นในแอมะซอนตลอดทั้งปี

ขณะที่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นต่างมีความเข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อการใช้ไฟในการดูแลที่ดินมาหลายชั่วอายุคน ตรงกันข้ามกับไฟป่าแอมะซอนที่อยู่ในหน้าข่าวทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่เข้าไปเผาป่าโดยไม่ได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับสุขภาพของคนในชุมชนหรือแม้กระทั่งระบบนิเวศของป่าแอมะซอนเลยแม้แต่น้อย

คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนบุกรุกที่ดินอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำไปทำกำไร กลุ่มคนที่เข้ามายึดพื้นที่ป่าสาธารณะเพื่อทำเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลอย่างการทำปศุสัตว์ ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาทำเหมืองแบบผิดกฎหมาย พวกเขาบุกรุกเข้าไปใช้ทรัพยากรจากป่าภายในระยะเวลาสั้น ๆ  แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือพวกเขากำลังทำลายสภาพภูมิอากาศโลก ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำเหล่านี้อุกอาจเปิดเผยมากขึ้นตั้งแต่ที่การบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอ่อนลงตั้งแต่ปี 2019

ย้อนกลับไปเมื่อสิงหาคม 2019 ที่รัฐปาราเกิดกลุ่มควันไฟป่าในแอมะซอนและเกิดไฟลุกไหม้ในเวลาพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “วันแห่งเปลวเพลิง (Day of Fire)” โดยสาเหตุเกิดขึ้นกลุ่มคนทำฟาร์มปศุสัตว์ได้วางเพลิงเพื่อถางป่า นี่เป็นอีกหนึ่งผลพวงจากการสนับสนุนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลโบลโซนาโร

ไฟที่เกิดขึ้นในเดือนนั้นเป็นไฟป่าครั้งที่เลวร้ายที่สุดในแอมะซอน นับตั้งแต่ปี 2010 และตอนนี้การทำลายป่าและการเผาป่าก็ยังคงเกิดขึ้น แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะออกมาเตือนว่าการทำลายป่าแอมะซอนกำลังพาเราไปสู่จุดที่เราจะไม่สามารถกู้คืนสภาพภูมิอากาศคืนมาได้แล้ว

ทุกๆปี กรีนพีซบราซิลจะใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจหากเกิดการทำลายป่าในป่าแอมะซอน รวมถึงควันไฟหรือเปลวไฟ © Christian Braga / Greenpeace

ทั้งหมดคือสาเหตุที่ป่าแอมะซอนถูกคุกคามจากการตัดไม้ และการเผาเพื่อทำลายป่า จากกลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวกับผืนป่าและทรัพยากรโลก

เมื่อทราบภาพรวมแล้ว เราอยากให้ทุกคนมองให้ลึกลงไปในรายละเอียดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้การทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจนถึงตอนนี้ป่าแอมะซอนถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด

จุดความร้อนในป่าใกล้กับพื้นที่ที่ PRODES ขึ้นทะเบียนเอาไว้ เมือง Nova Maringá รัฐ Mato Grosso © Christian Braga / Greenpeace

ตามข้อมูลของ INPE ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แอมะซอนถูกทำลายไปแล้วประมาณ 17% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยตัวเลขเหล่านี้ไม่นับพื้นที่ป่าที่กำลังเสื่อมโทรม ซึ่งแม้ว่าจะมีระดับความเสียหายน้อยกว่าพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ แต่ก็มีนัยสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน 

สิ่งที่น่ากังวลคือการทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลโบลโซนาโร ที่มีนโยบายเอื้อให้บุกรุกป่าได้อย่างเสรี ซึ่งเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงคุกคามชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกด้วย

พวกเขาทำลายป่าเพื่ออะไร? และทำไมถึงเกิดขึ้นในแอมะซอน?

การทำลายป่าคือการกำจัดต้นไม้ออกจากที่ดินเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทำลายล้างนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และนับวันก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

หนึ่งในสามของการทำลายป่าในแอมะซอน เป็นฝีมือของกลุ่มคนบุกรุกพื้นที่และยึดที่ดินสาธารณะในบราซิล ที่ดินสาธารณะถูกขโมยไปจากประชาชนชาวบราซิล ส่วนมากเพื่อเอาไปสร้างทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และอาหารสัตว์สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วโลก การสำรวจที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแอมะซอน (IPAM) เมื่อเดือนตุลาคม 2021 พบว่าทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์กินพื้นที่ 75% ของพื้นที่ป่าถูกทำลาย เคยเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะในแอมะซอน มาก่อน

แม้ว่าการกระทำดังกล่าวอุกอาจเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม แต่กลับได้รับความเห็นชอบจากเหล่านักการเมือง ตลอดจนธนาคารรายใหญ่และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วโลก ก็เลือกที่จะมองข้ามประเด็นนี้ด้วย

ทั้งนี้การเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและการบริโภคเนื้อสัตว์ก็เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการทำลายป่าในแอมะซอน สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นๆ ในบราซิล ไม่ว่าจะเป็นบึงพันทานอล (Pantanal) หรือป่าเซอร์ราโด (Cerrado) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดการทำลายป่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางหลวง หรือการสร้างถนนขนไม้ เขื่อน เหมือง ล้วนแล้วแต่เป็นตัวการที่เร่งให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นทั้งสิ้น

การทำลายป่าแอมะซอน จะทำให้โลกเดินไปสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนแล้วว่า หากยังมีการทำลายป่าในแอมะซอนต่อไป ก็อาจทำให้ป่าฝนแอมะซอนที่เคยสร้างความสมดุลระหว่างความชื้นกับคาร์บอนอาจถูกทำลายลงในไม่ช้า ป่าแอมะซอนอาจไม่สามารถทำหน้าที่ของป่าฝนอย่างที่มันควรจะเป็นได้อีกต่อไป และจะกลายเป็นระบบนิเวศที่แห้งแล้งมาก คล้ายกับทุ่งหญ้าสะวันนา

และจากการศึกษาเดียวกันก็พบว่า หากการตัดไม้ทำลายป่ายังคงเกิดขึ้นต่อไป หากพื้นที่ถูกทำลายไปถึง 20 – 25% ผืนป่าแห่งนี้ก็จะเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่เลวร้าย (แห้งแล้ง) มากกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ตอนนี้พื้นที่ป่าฝนก็หายไปกว่า 17% แล้ว

หากการคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับป่าแอมะซอนก็จะนำมาซึ่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสภาพภูมิอากาศ ผู้คน และความหลากหลายทางชีวภาพ 

ป่าแอมะซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นหรือไม่?

จากข้อมูลอ้างอิงระบุว่าในปี 2021 ป่าแอมะซอนมีอัตราการถูกทำลายสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2006 ปีนั้นเป็นปีที่บราซิลเริ่มแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน (PPCDAm) ซึ่งส่งผลให้การตัดไม้ทำลายป่าลดลงอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่แผนปฏิบัติการนี้ถูกลดความสำคัญลงในขณะที่โลกจับตามอง

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ถึงกรกฎาคม 2021 โครงการ Amazon Deforestation Monitoring Project (PRODES) ของ INPE ได้บันทึกพื้นที่ที่ป่าถูกทำลายในแอมะซอนรวม 13,235 ตารางกิโลเมตร โดยอัตราการทำลายป่าเพิ่มขึ้นกว่า 21.97% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ก่อนหน้าที่มีการตัดไม้ทำลายป่า 10,851 ตารางกิโลเมตร 

รัฐบาลภายใต้การนำของโบลโซนาโร สนับสนุนการทำลายป่าอย่างไรบ้าง?

แม้ว่ารัฐบาลโบลโซนาโรจะพยายามฟอกเขียวแค่ไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์เชิงตัวเลขก็บอกเราได้ทุกอย่าง เพราะเพียงสามปีที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ มีพื้นที่ป่าถูกทำลายเพิ่มขึ้น 52.9% (เฉลี่ย 11,405 ตารางกิโลเมตร ระหว่าง 2019 และ 2021) เมื่อเปรียบเทียบจากค่าเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา (เฉลี่ย 7,458 ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 2016 ถึงปี 2018)

และแนวโน้มที่ป่าถูกทำลายก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  แต่เกิดขึ้นโดยเจตนาที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิของคนพื้นเมือง และยังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างร้ายแรง 

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลโบลโซนาโรทำก็คือ การเอื้อให้กลุ่มคนที่บุกรุกป่าไม่ต้องถูกดำเนินคดีด้วยวิธีการลดงบประมาณหน่วยงานที่รับผิดชอบการดูแลป่าไม้ต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี ตามรายงานของ Brazilian Climate Observatory 

การลดงบประมาณในครั้งนั้นส่งผลให้การตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังทำให้ระบบการตรวจสอบลักลอบตัดไม้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะปกป้องป่าไว้ได้

สิงหาคม 2020 นักกิจกรรมกรีนพีซ บราซิล ตั้งรูปปั้นจำลองประธานาธิบดีโบลโซนาโรที่มีขนาดสูงสี่เมตร ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ Pantanal เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกทำลายจนกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้วเพราะนโยบายการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอุตสาหกรรมของรัฐบาล © Diego Baravelli / Greenpeace

ข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจจับการทำลายป่าในแอมะซอน (Measurement of Deforestation by Remote Sensing (PRODES)) และรายงานจากเครื่องมือการตรวจจับการทำลายป่าแบบเรียลไทม์ (Deforestation Detection in Real Time (DETER) ) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น และเกิดการเผาป่ายิ่งร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลซึ่งย่ำแย่ลงกว่าเดิม  อย่างไรก็ตามเรายังพอมีแนวทางปกป้องป่าแอมะซอนและปกป้องวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับป่าและดูแลของชนพื้นเมืองซึ่งพวกเขาเปรียบเสมือนผู้พิทักษ์ผืนป่าแห่งนี้อีกด้วย

เราจะปกป้องแอมะซอนได้อย่างไรบ้าง?

หนึ่งในวิธีการปกป้องแอมะซอนนั่นคือการเลือกผู้นำประเทศที่มุ่งมั่นปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับแอมะซอน นอกจากนี้ยังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลที่นำโดยโบลโซนาโรมีจุดยืนชัดเจนแล้วว่าเป็นรัฐบาลที่ต้องการแค่การแสวงหาผลกำไรในระยะเวลาสั้นๆ และไม่มีวิสัยทัศน์ในระยะยาวต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องอนาคตของบราซิล 

เพื่อต่อสู้กับการทำลายป่าแอมะซอน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจากการทำลายป่าอย่างรวดเร็ว รัฐบาลบราซิลต้องย้อนพิจารณานโยบาย และเพิกถอนการใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกจากการบังคับใช้มาตรการการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว รัฐบาลบราซิลต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่มีอยู่ปกป้องผืนป่า มีข้อมูลที่ระบุว่า ‘พื้นที่คุ้มครอง’ ตามที่กฎหมายกำหนดจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ปกป้องการทำลายป่าในบราซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐบาลจึงสามารถกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสาธารณะได้

เนื่องจากไม่มีการกำหนดพื้นที่สาธารณะในบราซิลอย่างเป็นทางการ จึงทำให้เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่มีทั้งเจ้าของดูแลหรือเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลเข้ามาตรวจตรา ยกตัวอย่าง ข้อมูลจาก PRODES เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2020 ถึงกรกฎาคม 2021 มีพื้นที่ป่าสาธารณะในบราซิล 1,300 ตารางกิโลเมตรถูกทำลาย แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในป่าแอมะซอน ซึ่งผืนป่านั้นตั้งอยู่ในเมืองเอเคอร์และรอนโดเนียของบราซิล (หรือที่เรียกว่าภูมิภาค “AMACRO”) โดยพื้นที่ที่ถูกทำลายมีขนาดใหญ่กว่าเมืองริโอเดจาเนโรเสียอีก 

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการปกป้องผืนป่า คือการตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมือง ชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมและเขตแดนของชุมชนเชื้อสายแอฟริกาในบราซิลที่อาศัยอยู่มาก่อน แต่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลโบลโซนาโรผลักดันให้รัฐสภาของบราซิลพิจารณาร่างกฎหมายหลายประการ หนึ่งในตัวอย่างร่างกฎหมายคือร่างที่ชื่อว่า Marco Temporal ซึ่งเอื้อต่อกลุ่มบุกรุกพื้นที่ป่า รวมถึงข่มขู่ว่าจะ ‘ลบ’ ชุมชนพื้นเมืองออกจากแผนที่

ทำไมการปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองจึงเท่ากับการปกป้องป่าแอมะซอน? 

การยอมรับเขตแดนของชนพื้นเมืองมีความสำคัญในมุมมองด้านสิทธิมนุษยนชน เพราะการรับรู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีชนพื้นเมืองดูแลอยู่เป็นวิถีที่ปกป้องผืนป่าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถประหยัดงบในการจัดการปกป้องป่าอีกด้วย เพราะชนพื้นเมืองอาศัยอยู่กับฝืนป่ามาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน  ทำให้พวกเขามีการพัฒนาและใช้เทคนิคทางเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ 

ในขณะที่การทำลายป่าเพิ่มขึ้นทั่วทั้งแอมะซอนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ชนพื้นเมืองก็ทำให้เราเห็นเป็นประจักษ์อย่างต่อเนื่องว่าพวกเขาเป็นผู้ปกป้องดินแดนของตัวเองด้วยความรับผิดชอบ ตามรายงานของสถาบันทรัพยากรโลก ระบุว่า เขตแดนของชนพื้นเมืองที่อยู่ในป่าแอมะซอน ประเทศบราซิลซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมายนั้น มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบถึง 11 เท่า ซึ่งชนพื้นเมืองจะยังคงเป็นทั้งผู้พิทักษ์ป่า และปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงดินแดนของพวกเขา ซึ่งนั้นหมายถึงการปกป้องอนาคตของทุกคน

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเศร้าคือรัฐบาลโบลโซนาโร พยายามละเมิดสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปาฐกาถาในที่สาธารณะ หรือผ่านการออกกฏหมายที่เอื้อให้กับกลุ่มที่บุกรุกผืนป่าได้รับรางวัลจากรัฐบาล

เครือข่ายชนพื้นเมืองรวมตัวจัดขบวนรณรงค์ที่ชื่อ Free Land Camp ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 ในบราซิล โดยกิจกรรมเริ่มในวันที่ 4 เมษายน 2022 ซึ่งจัดภายใต้ธีม “Retaking Brazil: Demarcating the Territories and Indigenizing the Politics”. © Tuane Fernandes / Greenpeace

เราต้องเร่งแก้ไขระบบอาหารโลก!

อุตสาหกรรมเกษตรเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการทำลายป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในบราซิลเองก็มีปัญหาที่เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์และกลุ่มที่เข้ามายึดที่ดินจุดไฟเผาป่าแอมะซอนเพื่อเคลียร์ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย และปัจจุบันนี้พวกเขายังคงขยายอุตสาหกรรมทำลายล้างนี้ต่อไป เพราะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วโลกเป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภคเองอาจยังไม่ทราบว่าที่มาของอาหารเรานั้นเชื่อมโยงกับการทำลายป่าได้อย่างไร

ผืนป่าในบราซิลกำลังถูกทำลายและชนพื้นเมืองกำลังถูกคุกคาม เพียงแค่การเปิดช่องทางแสวงหาผลกำไรให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และการปลูกถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารสัตว์ให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และแม้ว่าการทำลายป่าเพื่อผลิตถั่วเหลือง จะถูกห้ามในแอมะซอนของบราซิล แต่ปัจจุบันป่าเซอร์ราโด ที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กลับกลายเป็นไร่ถั่วเหลืองขนาดใหญ่แทนที่ชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้มาหลายชั่วอายุคน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราต้องขอบคุณแรงสนับสนุนงานรณรงค์ของเราจากทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในบราซิล ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และรัฐบาลทั่วโลก ก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ที่ก่อเกิดมาจากการร่วมกันทำลายสิ่งแวดล้อมในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เพียงแค่การตระหนักรู้แต่ไม่ลงมือทำอะไรก็คงไม่พอที่จะแก้ไขปัญหาและไม่อาจปกป้องป่าแอมะซอนให้ดูแลรักษาสภาพภูมิอากาศได้

ดังนั้น กลุ่มธุรกิจด้านอาหารต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดการทำลายป่าที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิตอาหารของตัวเอง และหยุดซื้อวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า นอกจากนี้ เราคาดหวังว่าเราจะเห็นความมุ่งมั่นของบราซิลและประเทศอื่นๆในการปกป้องผืนป่า รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิวัติระบบอาหารโลกให้ดีกว่าเดิม ระบบอาหารโลกที่ทั้งเป็นมิตรต่อระบบนิเวศและเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในแอมะซอน เราหวังว่าการปรับเปลี่ยนระบบอาหารจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและป่าแอมะซอนจะไม่ถูกทำลายอีก

ร่วมเคียงข้างชนเผ่าพื้นเมือง และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

การต่อสู้เพื่อปกป้องป่าแอมะซอนคือการต่อสู้ที่เราต้องชนะ และเราจะชนะได้เมื่อพวกเราร่วมมือกัน

การทำลายป่าและการละเมิดสิทธิชนพื้นเมืองเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ที่ไหนของโลกแต่เราสามารถศึกษาประเด็นนี้เพิ่มเติมและร่วมสนับสนุนชนพื้นเมืองรวมถึงองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ได้เช่นกัน ทั้งนี้กรีนพีซบราซิล เป็นองค์กรที่ทำงานปกป้องแอมะซอนมาร่วมสามทศวรรษ เรามีผู้สนับสนุนจากเครือข่ายทั่วโลก และเรายังคงทำงานเพื่อกดดันให้ผู้นำประเทศและธุรกิจในภูมิภาคนี้หยุดการทำลายผืนป่าผ่านโมเดลธุรกิจที่ทำลายธรรมชาติและละเมิดข้อตกลงทางการค้า

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มภาคประชาชนและองค์กรอื่นๆ อีกมากมายที่ร่วมกันปกป้องแอมะซอน เพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองและเพื่อสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น Articulação dos Povos Indígenas do Brasil (APIB), Amazon Watch , Instituto Socio Ambiental และCIMI กลุ่มคนและองค์กรเหล่านี้ต้องการแรงสนับสนุนจากเราเช่นกัน 

มาร่วมกันปกป้องแอมะซอนด้วยการเคียงข้างชนเผ่าพื้นเมือง และชุมชนดั้งเดิมของแอมะซอน เพื่ออนุรักษ์ป่าแอมะซอนให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป


บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษ อ่านเนื้อหาจากต้นฉบับ

เกี่ยวกับผู้เขียน : คริส กรีนเบิร์ก กองบรรณาธิการ กรีนพีซสากล ประจำอยู่ที่บรู๊กลิน นิวยอร์ก

แปลโดย : วุฒิรักษ์ กฤษณมิตร นักศึกษาฝึกงาน