ข่าวห้างค้าปลีกทั้งเล็กและใหญ่พร้อมใจกันงดแจกถุงพลาสติกในวันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ฉันร้องว้าวในตอนแรก และเปลี่ยนมาเป็นร้องว้าในตอนจบ เมื่อรู้ว่างดแค่วันเดียว!

บอกเลยว่าเสียของและน่าเสียดายมาก เพราะคนไทยทั้งประเทศรับรู้ข่าวสารและพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ขนาดมารดาวัยกว่าแปดสิบของผู้เขียนยังเตือนให้เตรียมถุงไปซื้อของ ถ้าทำต่อเนื่องอีกสักนิดจะส่งผลอันยิ่งใหญ่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว

ไม่ใช่กล่าวอ้างเกินจริง มีคนทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าหากมีการผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่องจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างและเหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อผู้ค้าขาใหญ่ลงสนาม ผู้ค้ารายเล็กจะลงเล่นด้วยอย่างเต็มใจ และผู้ซื้อจะให้ความร่วมมือโดยปริยาย

ขอบคุณภาพจาก https://www.sbs.com.au

ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อห้างสรรพสินค้าวูลเวิร์ธ (Woolworths) เริ่มนโยบายหยุดแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกสาขาต่างๆ ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนปีนี้ ส่วนห้างโคลส์ (Coles) ใช้นโยบายเดียวกันในอีก 10 วันต่อมา ซึ่งแต่ละห้างใช้ถุงพลาสติกปีละประมาณ 3,200 ล้านชิ้นต่อปี ผลปรากฎว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน สมาคมผู้ค้าปลีกแห่งชาติของประเทศออสเตรเลียรายงานว่าเพียง 3 เดือน การใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศลดลงถึง 80 % !!!

“ห้างค้าปลีกบางรายรายงานว่าการใช้ถุงลดลงสูงกว่า 90 % เสียอีก การที่ห้างใหญ่เป็นฝ่ายเริ่มต้นถือเป็นการเปิดประตูให้ร้านค้ารายเล็กเริ่มต้นนโยบายเดียวกัน เพราะความเสี่ยงที่จะเสียลูกค้าเพราะไม่แจกถุงลดน้อยลง” ตัวแทนจากสมาคมฯ กล่าว

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา การจุดพลุนโยบายดังกล่าวแต่ทำแบบไม่จริงจังเหมือนไฟไหม้ฟางเช่นนี้เป็นเรื่อง “เสียของ” และ “น่าเสียดาย” มิเพียงประเทศไทยจะเสียโอกาสในการรณรงค์เรื่องการงดใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ยังทำให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกมองว่าทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือเอาหน้าเท่านั้น เพื่อนผู้เขียนหลายคนเบ้ปากพูดแบบหมิ่นๆว่า “แค่ซีเอสอาร์”

หลังวันสิ่งแวดล้อมไทย แม่ค้าขายอาหารในตลาดแถวบ้านฉันบ่นให้ฟังว่า “คิดว่าจะงดแจกถุงหิ้วแบบจริงๆ จังๆ สุดท้ายก็ยังต้องซื้อถุงมาใส่ให้ลูกค้าเหมือนเดิม”
ยังน่าชื่นชมห้างร้านบางรายที่ยังทำกิจกรรมต่อด้วยการเลือกวันประจำสัปดาห์หรือวันประจำเดือนเพื่องดการแจกถุงหรือทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ เช่น เพิ่มคะแนน หรือแจกของชำร่วยแก่ผู้ที่ไม่รับถุง

อย่างไรก็ตาม น่าจะดีกว่าหากทุกห้างร้านที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อมไทยจะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมนี้ร่วมกันอีกครั้งแบบต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ตามกฎของนายแพทย์แมกซ์เวลล์ มอลตซ์ที่สังเกตว่าคนไข้ที่เสริมจมูกจะใช้เวลาอย่างน้อย 21 วันเพื่อให้คุ้นชินกับใบหน้าของตัวเอง และต่อมาเขาเขียนหนังสือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายใน 21 วัน ขายได้ถึง 30 ล้านเล่ม

หากยึดตามผลการทดลองกลุ่มคนประมาณ 100 คน และตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาสังคมที่เชื่อถือได้พบว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างอัตโนมัติเมื่อผ่านการลงมือปฏิบัติระหว่าง 18-254 วัน ผันแปรตามแต่ละคน และหากอยากเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ในประเทศออสเตรเลียควรทดลองทำอย่างน้อย 3 เดือน

เป็นเรื่องที่น่าท้าทายคนไทยทั้งประเทศไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ

สุดท้ายนี้หากห้างร้านทั้งหลายยังไม่เริ่มต้นทำโครงการดังกล่าว ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านทดลองงดรับถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากร้านค้าต่างๆ ให้ได้ยาวนานที่สุดจนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตัวเองและสิ่งแวดล้อมไทยค่ะ