คุณประภัสสร สิริวิชัย และ คุณดเนตร แสงกระจ่าง คือเครือข่ายของกรีนพีซประเทศไทยที่มาร่วมงาน เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยที่กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ซ่อมแผงโซลาร์เซลล์ของวัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ณ คุ้งบางกระเจ้า เราเลยชวนทั้งสองคนมานั่งคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ในฐานะที่ทั้งคู่เป็นผู้ที่รู้จักและใกล้ชิดกับชุมชนคุ้งบางกระเจ้าเป็นอย่างดี 

‘คุ้งบางกระเจ้า’ เป็นมากกว่าปอดคนของกรุง

คุณประภัสสร สิริวิชัย หรือ นุช เป็นนิสิตปริญญาเอกด้าน Environment Development and Sustainability (EDS) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักวิจัยที่สนใจเรื่องของความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายว่าอยากจะเห็นคุณภาพชีวิตของคนในประเทศโดยรวมในสังคมไทยดีขึ้น นอกจากนั้นคุณนุชยังสนใจเรื่องจิตวิทยา สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมในเมือง และมองว่า “คุ้งบางกระเจ้า” ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะพื้นที่สีเขียว แต่เป็นเรื่องขององค์รวมทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ที่ต้องเดินหน้าไปควบคู่กัน เพราะเราไม่สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้โดยที่ปากท้องของคนไม่อิ่ม ในขณะเดียวกันสังคมเราก็ต้องโตไปด้วยเช่นกัน 

คุณประภัสสร สิริวิชัย นิสิตปริญญาเอกด้าน Environment Development and Sustainability (EDS) และนักวิจัยที่สนใจเรื่องของความยั่งยืน © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ส่วนตัวเราศึกษาในพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้า สนใจความเป็นพลวัตของพื้นที่ เพราะมองว่าจริง ๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เราอยากชวนให้ทุกคนทำความรู้จักกับ ‘คุ้งบางกระเจ้า’ มากขึ้น เพราะ ‘คุ้งบางกระเจ้า’ คือ 6 ตำบลที่อยู่ในส่วนของเส้นทางน้ำโค้งตวัด (Meander) ของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนลงสู่อ่าวไทย หรือคนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘กระเพาะหมู’ ตามรูปร่างทางกายภาพของพื้นที่นี้  โดยแต่ละตำบลก็มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน มีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน” 

คุณนุชอธิบายว่า จากการศึกษาของเธอพบว่าชุมชนคุ้งบางกระเจ้ามีความเข้มแข็งและมีศักยภาพมาก และพื้นที่ก็มีความสำคัญ และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นมาก  แต่คนไทยรู้จักพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าน้อยมาก เธอกล่าวต่อว่า คุ้งบางกระเจ้ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เป็นปอดของกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เป็นปอดของภูมิภาค และของทุกๆ คน นอกจากนั้นยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยา ในการให้คุณูปการมากมายโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีประชากรอย่างน้อย ประมาณ 16 ล้านคนที่ได้ประโยชน์จากที่นี่ เช่น

  1. ป้องกันน้ำทะเลท่วมเข้าตัวเมืองชั้นใน 
  2. อุดมไปด้วยระบบนิเวศวิทยา มีทั้งระบบ 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย  
  3. เป็นพื้นที่สีเขียวในเมือง มีต้นไม้ทั้งเล็กใหญ่ พื้นที่เกษตรกรรม ป่าพรุ ป่าชายเลน
  4. ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน และระบบ cooling system 
  5. มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยสัตว์ต่าง ๆ มากมาย มีพืชพันธุ์หลากหลายซึ่งสร้างระบบนิเวศในอาณาบริเวณนี้
  6. เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคม คือสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น อย่างการปั่นจักรยานในพื้นที่ หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
  7. ชุมชนเข้มแข็ง มีพื้นที่สาธารณะ เช่น วัดจากแดงที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ผ่านการแยกขยะ และการเริ่มต้นเรื่องโซลาร์รูฟท็อป
  8. ดูดซับมลพิษ และป้องกันฝุ่นให้กับตัวเมืองชั้นใน

“อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ ดูแลรักษาคุ้งบางกระเจ้าให้ยังคงมีพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป เราสูญเสียพื้นที่สีเขียวนี้ไปไม่ได้   ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบและดูแลพื้นที่สีเขียวด้วยกัน” คุณนุชเสริม

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กระทบถึงชีวิตเกษตรกร

เมื่อชวนคุยต่อถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ในปัจจุบัน คุณนุชตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นหรือแหล่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อยู่ใกล้กับสาทร พระราม3 คลองเตย จึงเริ่มมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายประชากร โดยคนที่มีทุนทรัพย์ก็มาซื้อที่ดินบริเวณนี้มากขึ้น จึงทำให้คุ้งบางกระเจ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนข้างนอกก็อยากเข้าไปอยู่ คนข้างในส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกร ก็อยากออกไปหาพื้นที่ที่สามารถทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอมากขึ้น เพราะพื้นที่นี้มักเจอกับการน้ำขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทำให้เกษตรกรไม่สามารถรดน้ำในแปลงผักได้ เพราะน้ำเค็มและทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้ 

คุ้งบางกระเจ้า © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

คุณนุชเล่าว่าถึงแม้ชุมชนที่นี่จะเข้มแข็ง และมีศักยภาพ ในการร่วมมือกันเอาชนะภัยธรรมชาติ แต่บางทีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เกินต้านที่จะรับมือไหว ผลกระทบคือทำให้ผลผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ตามฤดูกาล ซึ่งคนในชุมชนมีความพยายามอย่างมากมาตลอด เพื่อที่จะทำให้รักษาสภาพแวดล้อมนี้ไว้ อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็ต้องการความช่วยเหลืออย่างเรื่องของอุปกรณ์ทางการเกษตร เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อช่วยให้เขาทำมาหากินได้ รวมทั้งระบบน้ำเพื่อการเกษตร

“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบคลุมปัญหาย่อยไว้หลายด้าน  ดูเหมือนว่าเวลานี้ เราเผชิญความยากลำบากในการผลิตอาหาร และพลังงาน ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น รัฐบาลสนับสนุนเกษตกรอย่างมาก ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี และการช่วยเหลือติดตั้งโซล่าให้กับเกษตรกรเพื่อลดค่าใช้จ่าย”

เมื่อถามถึงสิ่งที่คุณนุชอยากเห็นการสนับสนุนชุมชนคุ้งบางกระเจ้ามากขึ้น คุณนุชกล่าวว่า “อยากให้รัฐบาลไทยสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้เกษตรกรอย่างกระจายให้ทั่วถึง เพราะจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย และครอบคลุมเรื่องของการขนส่ง กระบวนการผลิต และการบำรุงรักษา โดยเฉพาะทุกวันนี้เรากังวลกับ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้น หากมีการสนับสนุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ก็จะช่วยเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง  อีกทั้งยังช่วยเรื่องความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย”

พลังชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

อีกคนหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเราที่คุ้งบางกระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนหรือมลพิษพลาสติก ก็คือคุณดเนตร แสงกระจ่าง ผู้เป็นเครือข่ายของกรีนพีซที่ช่วยประสานงานในชุมชนและคุ้นเคยกับผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างดี

คุณดเนตร แสงกระจ่าง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ผมสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมก็เพราะเราเกิดที่นี่ เราเห็นการเปลี่ยนแปลง เราก็เลยเป็นอาสากับกรีนพีซ และได้มาทำกิจกรรมที่วัดจากแดง สามปีที่ผ่านมาก็เห็นผลชัดขึ้น   อย่างการร่วมมือในแต่ละตำบล หลวงพ่อวัดจากแดงก็ช่วยคิดค้นก็ส่งต่อความรู้ให้กันและกัน เกิดการเชื่อมต่อกัน คนในชุมชนก็ช่วยเหลือกัน เหมือนมีวัดจากแดงเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพราะวัดก็มีการแยกขยะ โซลาร์รูฟท็อป และอื่น ๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ”

ในครั้งนี้ เราได้ซ่อมแผงโซลาร์เซลล์ของวัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน โดยจัดกิจกรรมอมรมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีอาสาสมัคร ผู้บริจาคกรีนพีซ ประเทศไทย และมีคุณดเนตรที่ช่วยประสานงานชุมชนจากทั้ง 6 ตำบลของคุ้งบางกระเจ้า มาเข้าร่วมอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 

คุณดเนตรแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานหมุนเวียนและการใช้โซลาร์รูฟท็อปกับเราว่า “เรื่องของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในพื้นที่ก็มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรมาติดตั้งให้ แต่ผมยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน สำหรับผมคือโซลาร์รูฟท็อปต้องมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับทุกครัวเรือน มันยังไม่ได้เกิดการใช้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง อย่างที่เห็นก็คือพอเสียแล้วก็ไม่ได้ซ่อม ยังไม่มีการเรียนรู้มากพอว่าควรบำรุงรักษาอย่างไร ซึ่งบ้านบางหลังก็ติดเอง ศึกษาเอง เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า แต่ตอนนี้หน่วยงานราชการอย่างองค์การบริหารส่วนตำบลก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น”

คุณดเนตรเกิดที่ ต. บางน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคุ้งบางกระเจ้า ได้เล่าต่อถึงมุมมองจากคนในที่อยู่ในพื้นที่ถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจะต้องไปพร้อมกันว่า

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ต้องพึ่งนักท่องเที่ยว เนื่องจากทำให้รายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น  แต่เราก็อยากทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืนเช่นกัน ปัจจุบันคุ้งบางกระเจ้ามีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ขยะเพิ่มขึ้น ต้นไม้ก็หายไปเยอะ ผมอยากให้ชุมชนร่วมกันมุ่งเข้าเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างการแยกขยะในแหล่งน้ำ และต่อยอดเรื่องของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในชุมชน ซึ่งผมก็อยากให้ อบต.ช่วยดำเนินการให้ความร่วมมือจากภาครัฐ เพราะเขาก็มีทรัพยากรที่ดีกว่าเรา”

ส่งต่อความรู้สู่ชุมชนเพื่อผลักดันไปสู่ระดับนโยบาย

ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ณ วัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ณ วัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า ที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแห่งนี้ จะเกิดเป็นผลตอบแทนจากวัดสู่สังคม ทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง การลดผลกระทบต่อสุขภาพ การจ้างงานจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น 

มาร่วมกันสนับสนุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน กระจายศูนย์ และเป็นธรรม รวมถึงการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว