หากมีโอกาสมาเยือนเวนิส หลายคนคงไม่พลาดที่จะขึ้นเรือกอนโดลาที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้ (ซึ่งถือว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ต้องจ่ายค่าบริการในราคาสูง) แต่สำหรับฉันในการเดินทางไปยังเวนิสครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะครั้งนี้ฉันเดินทางมากับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศจากวิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษที่เป็นตัวการของวิกฤตสภาพภูมิอากาศออกมารับผิดชอบ

เอ็มม่า ทอมป์สัน กางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า ‘การฟอกเขียว’ คือตัวการทำลายสภาพภูมิอากาศ บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ที่ลอยลำอยู่ ณ เมืองเวนิส อิตาลี เพื่อสนับสนุน ‘ภาคีความร่วมมือพลเมืองยุโรป (the European Citizens’ Initiative (ECI) )’ ในการยุติการสนับสนุนหรือการให้พื้นที่โฆษณาแก่อุตสาหกรรมฟอสซิลในสหภาพยุโรป โดยเปิดให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวและเมื่อได้รายชื่อถึง 1 ล้านคนภายใน 1 ปีแล้ว คณะกรรมการสหภาพยุโรปจะต้องนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาต่อ © Greenpeace / Lorenzo Moscia

ก่อนหน้านี้ฉันเคยเข้าร่วมภารกิจกับกรีนพีซไปยังทวีปอาร์กติกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกฉันเดินทางไปกับเรือเอสเพอรันซา (ปัจจุบันเรือปลดระวางแล้ว) และอีกครั้งหนึ่งฉันเดินทางไปด้วยเรือ อาร์กติก ซันไรส์ และในตอนนี้บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ลูกเรือที่เคยเดินทางด้วยกันยังคงทักทายฉัน พวกเขาเหล่านี้ทำงานเพื่อต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

ปีนี้ อังกฤษไม่เพียงต้องเจอกับฤดูร้อนที่ร้อนจนทำลายสถิติที่เคยบันทึกเอาไว้ แต่ยังมีอีกหลายประเทศเช่น คิวบา สิงคโปร์ และปานามา ก็เผชิญกับเหตุการณ์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยบอกเราอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ก็แค่วันที่ร้อนจนแดดจ้าวันหนึ่งเท่านั้น นั่นทำให้ฉันสงสัยเหลือเกินว่าคนกลุ่มนี้พวกเขาอาศัยอยู่ในโลกแบบไหนกันนะ ซึ่งการเดินทางของฉันมายังเวนิสในครั้งนี้ได้ตอบคำถามในใจของฉัน

เมื่อฉันมาถึงก็พบว่า นักกิจกรรมกรีนพีซกำลังเตรียมการประท้วงโดยใช้เรือสัญลักษณ์ของเวนิสล่องผ่านทะเลสาบ พวกเขาถือป้ายโลโก้ของบริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ในยุโรป ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการยืนยันว่าพวกเขามี ‘การฟอกเขียว’ จริง (อธิบายได้ว่าเป็นเทคนิคการตลาดประเภทหนึ่งที่พยายามโน้มน้าวเราว่าธุรกิจของพวกเขาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น) ซึ่งการฟอกเขียวนี้ก็เป็นความพยายามที่จะให้พวกเราใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป แม้ว่ามันกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกก็ตาม โดยการรณรงค์ครั้งนี้นักกิจกรรมกรีนพีซสื่อสารในเชิงเสียดสีว่า ‘นี่คือทริปครั้งสุดท้ายของเวนิส’ เพราะเวนิสเป็นเมืองที่เสี่ยงต่อการจมน้ำเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นกับภูมิภาคเมดิเตอเรเนียน เหมือนกับตอนนี้ที่เรากำลังเจอกับคลื่นความร้อนทำลายสถิติและเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในหลายประเทศ

ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา กรีนพีซและองค์กรเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กรเปิดตัว ภาคีความร่วมมือพลเมืองยุโรป (the European Citizens’ Initiative (ECI) ) โดยมีข้อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการแบนโฆษณาที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลและการสปอนเซอร์จากอุตสาหกรรมฟอสซิลในสหภาพยุโรป เหมือนกับการแบนการโฆษณาบุหรี่ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษ ซึ่งหากข้อเสนอนี้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึง 1 ล้านคนภายในเวลา 1 ปี คณะกรรมการสหภาพยุโรปจะต้องนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาต่อ

ทำไมเราจึงผลักดันด้านกฎหมาย?

ปัจจุบันนี้ ทั้งเสียงสนับสนุนเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศจากสาธารณะรวมถึงข้อมูลจากแวดวงวิทยาศาสตร์เองต่างชี้ไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลซึ่งเป็นภาคธุรกิจกลุ่มใหญ่ที่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ (ซึ่งข้อมูลยืนยันแล้วด้วยว่าธุรกิจกลุ่มนี้พยายามชะลอการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมานานกว่า 10 ปี) ด้วยแรงกดดันจากสาธารณะทำให้ตอนนี้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้อยู่ในจุดที่เปราะบางที่สุด และพวกเขาก็เลือกใช้สื่อโฆษณาและการเป็นผู้สนับสนุนเป็นทางเลือกสุดท้ายเพื่อให้พวกเขาอยู่รอด

“การชะลอ และ การหลอกลวง” คือวิธีใหม่ในการปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมฟอสซิล บริษัทเหล่านี้กำลังผลิตซ้ำวาทกรรมฟอกเขียวว่าบริษัทตนเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ให้คำสัญญาลอยๆเกี่ยวกับ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้ประเด็นมลพิษที่พวกเขาสร้างขึ้นมาตลอดหลายสิบปีเบาบางลง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด 

แต่เราไม่มีทางยอมอีกต่อไปแล้ว ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยข้อมูลที่ได้จากรายงานของ IPCC ที่เปิดโปงความพยายามสร้างกลยุทธ์ในการบิดเบือนข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยกลยุทธ์ที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ควบคุมประเด็นถกเถียงในสื่อ และการถกเถียงนั้นเปิดกว้างแค่ไหน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ตามกลุ่มผู้ชมที่แตกต่างออกไป และอำนาจในการเข้าถึงสื่อรวมถึงการเลือกใช้ประเภทของสื่อ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้มีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างสื่อกระแสหลักด้วยสื่อโฆษณา และมีพลังมากในการกำหนดทิศทางความคิดของคนรับสื่อ อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อแวดวงการเมืองในประเทศ อย่างเช่นในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย’

ล่าสุดมีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 450 คนที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเพื่อเรียกร้องถึงเอเจนซี่โฆษณาและการประชาสัมพันธ์ ให้หยุดทำงานกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และขอให้หยุดการบิดเบือนข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ นี่เป็นครั้งแรกที่มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับหน้าที่ของเอเจนซี่โฆษณาต่อการทำงานกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในขณะที่โลกกำลังเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

กลุ่มบริษัทน้ำมันและก๊าซใช้วิธีการเป็นสปอนเซอร์ให้กับพิพิธภัณฑ์ในการสร้างชื่อเสียง สร้างอำนาจด้านความรู้และการศึกษาให้ตัวเองด้วยการสนับสนุนด้านการเงินให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักผ่านการนำโลโก้ของบริษัทไปอยู่ในวงการกีฬา กลุ่มบริษัทเหล่านี้ลงทุนมหาศาลเพื่อที่จะให้สังคมยอมรับการทำธุรกิจต่อไป โดยอยู่ในหน้าสื่อเพื่อให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ แต่ลับหลังก็พยายามปกปิดสิ่งที่ตัวเองทำไปด้วย ดังนั้นเราต้องเอากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ออกไปจากความคิด ชีวิตประจำวัน รวมถึงออกไปจากชุมชนของพวกเรา – เอ็มม่า ทอมป์สัน

จากการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมาประกาศว่าจะยุติการรับเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและพิพิธภัณฑ์สก็อตติช บัลเล่ต์ ในอังกฤษยืนยันว่าทางพิพิธภัณฑ์จะไม่รับเงินสนับสนุนที่เจรจาไว้กับบริษัท BP อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีรายการ เทนนิส ออสเตรเลีย ที่ปลดบริษัทก๊าซ Santos ออกจากกลุ่มสปอนเซอร์

ย้อนกลับไปต้นศตวรรษที่ 21 สหภาพยุโรปเริ่มแบนการโฆษณาบุหรี่และการสปอนเซอร์จากอุตสาหกรรมหลังจากมีข้อมูลว่ามีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นและมีคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ และตอนนี้ที่เรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ชี้ชัดเจนว่าสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงนั้นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล นี่คือเวลาที่เราจะต้องหยุดการชวนเชื่อของกลุ่มบริษัทนี้ก่อนที่เราจะเดินไปสู่หายนะด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้การออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องเพื่อสภาพภูมิอากาศยังได้ผลอยู่เสมอ เราต้องร่วมกันแสดงพลังประชาชนว่าโลกแบบไหนที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่ และใครที่จะต้องเปลี่ยนแปลงได้แล้ว


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ