ค่าไฟหน่วยละเท่าไหร่ ค่าไฟขึ้นกี่บาท ค่า FT คืออะไร ทำไมค่าไฟถึงขึ้นเอาขึ้นเอา แล้วบิลคิดค่าไฟจากอะไรกันบ้าง?

ในยุคที่ “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” ราคาของขึ้นทุกอย่างยกเว้นค่าแรง

ค่าไฟขึ้นกี่บาท?

กกพ.เตรียมขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT)  อีกครั้งในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565  ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟหน่วยละ 4.72 ดันค่าครองชีพคนไทยให้สูงขึ้นไปอีก

ทำไมค่าไฟแพง? ค่าไฟขึ้นเพราะอะไร?

การจะตอบคว่าทำไมค่าไฟแพงได้ ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าบิลค่าไฟที่เราจ่ายกันทุกเดือนนั้น คิดคำนวนจากอะไรบ้าง

ค่าไฟ 1 บิลคิดคำนวณจาก 4 ก้อนหลักๆ คือ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน : ค่าโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ฯ
  2. ค่าบริการรายเดือน ซึ่งแตกต่างไปตามประเภทผู้ใช้ไฟ (หรือเรียกภาษาบ้าน ๆ ว่าเราใช้ไฟไปกี่หน่วย)
  3. ภาษี Vat 7%
  4. ค่าไฟฟ้าผันแปร (FT)  ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าความพร้อมจ่าย 

4.1 ค่าเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าซึ่งแปรผันตามสถานการณ์โลก ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ฯ 

กฟผ. ผลิตไฟฟ้า ⅓ ของประเทศ และซื้อไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหลักๆ คือก๊าซฟอสซิล ผลของสงครามยูเครนทำให้ก๊าซฟอสซิลขาดแคลน ค่าเชื้อเพลิงจึงขึ้นตามไปด้วย 

4.2 ค่าความพร้อมจ่าย และค่าสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินความจำเป็น เกิดจากจากคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้ากี่เมกะวัตต์ แล้วจะสำรองไฟฟ้าในระบบกี่เมกะวัตต์ ปกติแล้วจะมีการสำรองไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ที่ 15%

แต่รู้ไหมว่าตามข้อมูลเดือนเมษายน 2564 ประเทศไทย สำรองไฟฟ้าในระบบราว 55 %! ซึ่งการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินแต่ไม่ได้ใช้ (เพราะเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด Peak Demand ไปมาก) ก็จะถูกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายด้วย 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม

ขั้นตอนต่อไปคือการวางแผนว่าจะนำเอาไฟฟ้ามาจากแหล่งใดเพื่อให้ครบตามจำนวนนี้ที่วางไว้  เช่น จากโรงไฟฟ้าถ่านหินกี่โรง กี่เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าก๊าซกี่เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซฟอสซิลจากอ่าวไทย เมียนมา หรือนำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลว (LNG)  แล้วจึงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันกับผู้ผลิตเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล

ประเด็นคือสัญญาซื้อขายไฟระหว่างรัฐกับผู้ผลิตเอกชนเป็นสัญญาบังคับซื้อที่เรียกว่า ‘สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment)’ หรือ ภายใต้เงื่อนไขแบบ “Take or pay – ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” สัญญาชนิดนี้มีการประกันกำไรให้ผู้ผลิตเอกชนที่ผูกขาดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แม้ว่าราคาเชื้อเพลิงจะผันผวน หรือแม้ไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า พวกเขาก็จะได้เงินตามเดิม! ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ฟันกำไรมหาศาล

เทียบง่ายๆ เสมือนว่าเราอยากกินไก่ 5 ชิ้นแต่ถ้าคนขายมี 10 ชิ้น เราก็ต้องซื้อ 10 ชิ้น หรือคนขายมีไก่ทอด 2 ชิ้น ก็ต้องจ่ายในราคา 5 ชิ้น จริงๆ ปกติแล้วแม่ค้าไก่ทอดที่ไม่มีลูกค้า ก็จะไม่ได้เงิน แต่งานนี้เปรียบเสมือนแม่ค้าไก่ทอดมัดมือชก แม้ว่าจะไม่มีลูกค้าก็ยังได้เงิน 

อีกทั้งไม่มีใครรู้ว่าภาครัฐซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่มาหน่วยละเท่าใด เนื่องจากสัญญาซื้อขายเป็น ‘ความลับ’

เรามักได้ยินคำกล่าวว่า “ค่าไฟฟ้าขึ้นเพราะค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น”  นี่เป็นเพียงแค่ความจริงเสี้ยวเดียวเท่านั้น 

สิ่งที่ภาครัฐไม่เคยบอกคือค่าไฟแพงเพราะผู้กำหนดนโยบายวางแผนการผลิตไฟฟ้าผิดพลาดทำให้ไฟฟ้าล้นระบบ

ค่าไฟที่ล้นเกินเหล่านี้บวกกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ผูกขาด ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดตกมาที่กระเป๋าสตางค์ประชาชน

บิลค่าไฟนี้รัฐบาลรู้ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้ แต่ประชาชนจ่ายนั่นเอง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม