เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ซ่อมแผงโซลาร์เซลล์ของวัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน โดยจัดกิจกรรมอมรมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีอาสาสมัคร ผู้บริจาคกรีนพีซ ประเทศไทย และชุมชนจากทั้ง 6 ตำบลของคุ้งบางกระเจ้า เข้าร่วมอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

กิจกรรมเวิร์กชอปการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ณ วัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ในกิจกรรมครั้งนี้ เราได้อาสาสมัครที่ทำงานกับกรีนพีซมาอย่างยาวนานมาช่วยจัดกิจกรรมเวิร์กชอปการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย เราเลยถือโอกาสชวน “พี่กช” และ “พี่หนุ่ม” มาเล่าให้ฟังถึงเส้นทางในการร่วมกิจกรรมอาสาสมัครกับกรีนพีซ มาจนถึงวันที่พวกเขาสามารถส่งต่อความรู้และมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนอื่น ๆ ในชุมชนและสังคม ไปจนถึงการรณรงค์เชิงนโยบายเพื่อให้เกิดกระจายศูนย์ทางพลังงานสู่ประชาชนด้วย

อาสาสมัครกรีนพีซที่เริ่มจากหลังคาบ้านตัวเองสู่การส่งต่อความรู้ให้ชุมชน

พี่กช เป็นอาสาสมัครกรีนพีซมายาวนานกว่า 8 ปี โดยเขาเป็นคนหนึ่งที่ใช้โซลาร์รูฟท็อปเองที่บ้าน จากนั้นจึงได้ต่อยอดความรู้ให้กับคนในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียง พี่กชเล่าให้ฟังว่าเขาเริ่มต้นจากการติดโซลาร์รูฟท็อปที่ใช้แบตเตอรี่แบบออฟกริด (off grid )เนื่องจากไฟฟ้าเข้าไม่ถึงในบริเวณทุ่งนา ต่อมาจึงนำมาติดที่บ้านที่อยู่อาศัยของตนเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า และกระจายความรู้สู่ชุมชน พี่กชกล่าวว่า “เริ่มจากญาติพี่น้องตัวเองก่อนเลยครับ คนใกล้ตัวเราก่อน ผมก็พยายามอธิบายถึงค่าใช้จ่าย และจุดคุ้มทุนของการซื้อเทียบกับใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เราก็คำนวณให้เขาดู ต่อมาเมื่อพอข้างบ้านเปลี่ยนมาใช้โซลาร์รูฟท็อป บ้านต่อ ๆ มาก็ไปบอกชาวบ้านต่อกันไปเรื่อย ๆ แบบปากต่อปากครับ ยิ่งช่วงนี้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น โซลาร์รูฟท็อปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ราคาจับต้องได้และหาซื้อได้ง่ายขึ้น” 

พี่กช อาสาสมัครกรีนพีซ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“โซลาร์รูฟท็อปเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ผมว่าถ้าทุกบ้านใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ ก็จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในระบบ ซึ่งปัจจุบันยังใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกันโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม”

“จริง ๆ อยากให้รัฐส่งเสริมนโยบายการใช้โซลาร์รูฟท็อปให้จริงจังมากกว่านี้ เช่น ผ่อนปรนในการขอไฟฟ้าเพิ่ม มีมาตรฐานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมและหลากหลายขึ้น หรือเงื่อนไขในโครงการให้กู้สำหรับผู้ที่อยากติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปควรเป็นไปอย่างเสรีมากกว่านี้ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น”

พี่กชแสดงความเชื่อมั่นว่าการติดโซลาร์รูฟท็อปไม่ได้อันตรายอย่างที่คิดหากเราได้รับการฝึกอบรมและหาความรู้มาเพียงพอแล้ว นอกจากนั้น พี่กชยังทิ้งท้ายว่าอยากเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากไฟแสงอาทิตย์ส่องถนนดวงเล็ก ๆ ก่อน แล้วนำมาเปรียบกับไฟฟ้าเดิมในบ้านซึ่งจะพบว่าราคาอาจต่างกันอยู่ที่หลักสิบบาท แต่หากมีกำลังทรัพย์แล้วขยับเป็นแผงโซลาเซลล์ที่ใหญ่ขึ้น ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นอกจากนั้นในเรื่องความร้อนที่เราเปิดจากหลอดที่มาจากระบบไฟฟ้าเดิมกับหลอดไฟฟ้าที่มาจากโซลาร์รูฟท็อปนั้นก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย 

“อยากเชิญชวนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อช่วยกันลดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าแล้วก็จะช่วยลดโลกร้อนได้ครับ”

ต้องลงมือทำและรณรงค์เชิงนโยบายไปพร้อมกันเพื่อให้คนที่งบน้อยเข้าถึงได้ 

อีกคนหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ “พี่หนุ่ม” ผู้เป็นอาสาสมัครกรีนพีซมากว่า 5 ปี พี่หนุ่มมีความสนใจการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า แต่ยังติดปัญหาค่าใช้จ่าย เขาจึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อให้คนที่งบน้อยเข้าถึงได้ โดยที่ไม่ต้องไปใช้พลังงานฟอสซิล เพราะทั้งภาครัฐและชาวบ้านก็ได้ประหยัดกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ก็ยังเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มาจากการสะสมก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

พี่หนุ่ม อาสาสมัครกรีนพีซ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

พี่หนุ่มเล่าว่าสิ่งที่ทำให้สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง คือการเห็นด้วยตาตัวเองว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน โดยเขาเล่าเหตุการณ์ที่ประสบด้วยตัวเองว่า “บ้านผมอยู่ชลบุรี ในตอนสมัยที่โรงงานนิคมอุตสาหกรรมยังไม่มี ธรรมชาติสมบูรณ์ดี ในแม่น้ำสามารถทอดแห หาปลากินได้ แต่ระยะหลังตั้งแต่ 30 กว่าปีที่ผ่านมา น้ำเสีย อากาศไม่ดี จากที่ไม่เคยเป็นโรคภูมิแพ้ก็เป็น แม่ผมก็เสียชีวิตเพราะโรคนี้ ในช่วงที่ค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 สูงมาก แม่ของผมที่เป็นหอบหืด ไม่สามารถพ่นยาได้ทัน ซึ่งทำให้เห็นถึงผลกระทบจากฝุ่นโดยตรงเลยครับ” 

“ตั้งแต่ที่ผมเข้ามาร่วมกับกรีนพีซ ผมก็มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายมุมมองขึ้น เช่น ได้เห็นกิจกรรมของแคมเปญยุติมลพิษพลาสติกอย่าง Brand Audit ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าแบรนด์ไหนสร้างขยะออกมามาก หรือเรื่องการปนเปื้อนสารพิษอาหาร พาราควอตที่มาจากการใช้ยาฆ่าหญ้า ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของเราเป็นสิ่งที่น่ากลัวแต่เรามองข้ามไป หรือแคมเปญอากาศสะอาด พลังงานหมุนเวียน จึงเข้าใจที่มามากขึ้น ว่าสาเหตุของฝุ่นมันเชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างไร

พี่หนุ่มยังกล่าวต่อว่า “อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนเชิงนโยบาย เช่น ลดเรื่องภาษีนำเข้าและภาษีธุรกิจเพราะเป็นตัวแปรสำคัญ หรือสนับสนุนด้านการกู้ยืมเงินมาลงทุนติดตั้งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นกว่านี้”

กิจกรรมเวิร์กชอปการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ณ วัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ส่งต่อความรู้สู่ชุมชนเพื่อผลักดันไปสู่ระดับนโยบาย

ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ณ วัดจากแดง คุ้งบางกระเจ้า ที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแห่งนี้ จะเกิดเป็นผลตอบแทนจากวัดสู่สังคม ทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง การลดผลกระทบต่อสุขภาพ การจ้างงานจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น 

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน

มาร่วมกันสนับสนุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน กระจายศูนย์ และเป็นธรรม รวมถึงการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว