Net Zero คืออะไร? แล้ว Carbon Offset ต่างกันยังไง? จะช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือเปล่า?

‘Net Zero’ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะ ‘สมดุล’ กับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก 

พูดง่าย ๆ คือเมื่อหักลบกับการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นการปลูกป่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต การทำโครงการที่ดูเหมือนจะรักโลก แล้วมลพิษที่ปล่อยออกมาจะต้องเท่ากับ ‘ศูนย์’ แบบเนต ๆ นั่นเอง

ทีนี้ เงื่อนไขแรกและสำคัญที่สุด คือ จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากยานยนต์สันดาปภายในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เข้าใกล้ศูนย์มากที่สุด ต่อมาคือการดึงก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศด้วยกระบวนการต่างๆ

ซึ่ง ‘Carbon Offset’ หรือการชดเชยคาร์บอน ตามหลักการก็คือกระบวนการดึงก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศ เพื่อเอาไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อยออกมา เหมือนเป็นกระบวนการในการสร้างของดีเพื่อเอามาหักล้างของเสียนั่นแหละ

ก็ฟังดูเข้าท่านะ แล้วมันเป็นปัญหายังไงล่ะ?

จริง ๆ แล้ว การชดเชยคาร์บอนและตลาดคาร์บอนถูกสร้างขึ้นในปี 2534 เมื่อพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดยังไม่แพร่หลาย แต่ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ สามารถใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ในราคาที่เอื้อมถึง พลังงานแสงอาทิตย์และลมได้กลายเป็นวิธีที่ถูกที่สุดในการผลิตไฟฟ้าใหม่ในส่วนต่าง ๆ ของโลกแล้ว การชดเชยคาร์บอนจึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอีกต่อไป

ที่สำคัญ การชดเชยคาร์บอนจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ก่อมลพิษใช้เป็นกลอุบายได้อย่างมากมาย เพราะการชดเชยคาร์บอนไม่ได้หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นเหมือนการลดการปล่อยในบัญชีแยกประเภทที่ผู้ก่อมลพิษทำขึ้นมา ซึ่งไม่ต่างจากการตกแต่งบัญชีซักเท่าไร

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมทำรายงานการประเมินของ IPCC ระบุว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในปริมาณมหาศาลและสม่ำเสมอ แต่การชดเชยคาร์บอนนั้นอยู่ตรงกันข้าม โดยเป็นใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป สร้างแรงจูงใจในการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า และเอื้ออำนวยให้บรรษัทและรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลเข้ายึดครองผืนแผ่นดินของชุมชนที่เปราะบาง เหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน และทำลายระบบนิเวศ 

Climate Strike 2021 in Berlin. © Sina Niemeyer / Greenpeace
เรียกร้องรัฐสภาไทย ประกาศสภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ

เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ

ร่วมผลักดัน

แล้วสรุปว่าลดโลกร้อนได้จริงหรือเปล่า?

การชดเชยคาร์บอนเป็นเรื่องหลอกลวงที่อันตราย เพราะไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนจริงและทำให้การดำเนินการจริงล่าช้าออกไป นอกจากนั้นกลไกการกำกับดูแลใด ๆ ที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างจริงจังจะขยายและเพิ่มโอกาสในการฟอกเขียวที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก

กรีนพีซไม่เห็นด้วยกับการบิดเบือนเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ แต่ต้องมุ่งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น ‘ศูนย์ที่แท้จริง’ กรีนพีซต้องการให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ประกาศยุทธ์ศาสตร์ระยะยาวในการบรรลุเป้าหมาย ‘ศูนย์ที่แท้จริง’ ภายในปี 2593 ที่กลาสโกว์ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากที่สุดและสม่ำเสมอในระยะอันใกล้และต้องไม่ใช้กลไกการชดเชยคาร์บอนใด ๆ

เราอยากเห็นการลงมือทำที่จริงจัง นี่ไม่ใช่เวลา ‘บลา บลา บลา’ เพราะเวลาของการฟอกเขียวหมดลงแล้ว!

#ClimateEmergency #วิกฤตสภาพภูมิอากาศ #RealZero