สิ่งน่ากลัวใหญ่ยักษ์นี้คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำที่ถูกสร้างขึ้นลำแรกของโลก โดยมีขั้วโลกเหนือเป็นเป้าหมาย

อาคาดีมิค โลโมโนซอฟ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำที่ถูกสร้างขึ้นลำแรกของโลก © นิโคไล กอนทาร์ / กรีนพีซ

ฟังเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ

โรซาตอม ยักษ์ใหญ่นิวเคลียร์ที่รัฐบาลประเทศรัสเซียเป็นผู้ควบคุม กำลังเปิดตัว อาคาดีมิค โลโมโนซอฟ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำลำแรกออกสู่สายตาชาวโลก ตอนนี้มันกำลังถูกลากไปผ่านทะเลบอลติก ซึ่งจะอ้อมไปรอบสแกนดิเนเวีย ไปจนถึงเมอร์มันสก์ เพื่อเติมเชื้อเพลิงและทดสอบ ก่อนที่จะมุ่งหน้าเดินทางไปไกลถึง 5,000 กิโลเมตร ในอาร์กติก พวกเขาวางแผนที่จะสร้างและขายโรงไฟฟ้าแบบเดียวกันนี้ให้กับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศจีน  อินโดนีเซียและซูดาน

เรารู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงในการขุดเจาะน้ำมันในภูมิภาคที่ห่างไกลและเปราะบาง แต่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ลอยน้ำอาจทำให้เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม นี่คือเหตุผลว่าทำไม:

1. มันคือภัยพิบัติที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ลอยล่องอยู่ในน่านน้ำแถบมหาสมุทรขั้วโลกเหนือ เป็นภัยคุกคามที่เห็นได้ชัดต่อสภาพแวดล้อมอันห่างไกลและเปราะบางนี้

โรซาตอม เคยกล่าวว่าโรงไฟฟ้านี้ “มีการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงเกินกว่าที่ภัยคุกคามต่างๆจะเกิดขึ้นได้ และทำให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถอยู่รอดจากสึนามิและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆได้” จำครั้งสุดท้ายที่มีเรือลำหนึ่งได้รับสมญานามว่า “ไม่มีวันจม” ได้หรือไม่?

ไม่มีอะไรที่อยู่ยงคงกระพัน ปัญหาคือเรือนิวเคลียร์ไททานิกนี้ ได้รับการสร้างขึ้นโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญอิสระคอยตรวจสอบ ที่เชอร์โนบิลก็ขาดการกำกับดูแลที่คล้ายคลึงกัน

เปลือกหุ้มท้องแบนๆนี้ กลายเป็นจุดอ่อนของเรือเมื่อต้องเจอกับสึนามิและไซโคลนต่างๆ คลื่นลูกใหญ่ๆสามารถเหวี่ยงโรงไฟฟ้าเข้าใส่ชายฝั่งได้ และมันก็ยังไม่สามารถเคลื่อนที่เองได้ หากมันหลุดออกจากที่จอดเรือแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะขยับห่างภัยคุกคาม (ภูเขาน้ำแข็งหรือเรือของต่างประเทศเป็นต้น) เพิ่มความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ร้ายแรงถึงชีวิต การชนกันอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานสำคัญๆ พร้อมกับทำให้สูญเสียพลังงานและทำให้ความสามารถในการทำความเย็นลดลงจนอาจนำไปสู่การปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีต่างๆเข้าสู่สิ่งแวดล้อม

2. ลองนึกถึงความลำบากในการจัดการผลที่จะตามมา

เหล่านักกิจกรรมปักไม้กางเขนสองพันอัน เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบการเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล © ฟรานเซสโก อเลซี / กรีนพีซ

มีหลายสิ่งที่อาจเกิดผิดพลาดได้ น้ำอาจท่วม หรือจม หรือเกยตื้นได้ สถานการณ์ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การที่สารกัมมันตภาพรังสีจะถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

กรณีการเกิดข้อผิดพลาด แกนจะถูกระบายความร้อนจากน้ำทะเลโดยรอบ ในขณะที่สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี แต่เมื่อแท่งเชื้อเพลิงที่กำลังหลอมมาปะทะกับน้ำทะเล จะทำให้เกิดการระเบิดของน้ำทะเลและอาจเกิดการระเบิดของไฮโดรเจนที่อาจแพร่กระจายไอโซโทปกัมมันตภาพรังสีในปริมาณมากสู่ชั้นบรรยากาศ

เครื่องปฏิกรณ์ที่เสียหายอาจทำให้สัตว์ทะเลในบริเวณใกล้เคียงมีการปนเปื้อน นั่นหมายความว่าปลาจะถูกปนเปื้อนต่อไปอีกหลายปี ขั้วโลกเหนือที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าอภิรมย์ บริเวณโดยรอบฟูกูชิม่าและเชอร์โนบิลนั้นเป็นจุดที่ยากที่จะทำความสะอาดอยู่แล้ว ลองนึกภาพคืนในขั้วโลกกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์และพายุอาร์กติก

3. สถิติอันน่ากลัวของเรือนิวเคลียร์ เรือตัดน้ำแข็ง และเรือดำน้ำ

การประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ในเมืองมะนิลา © อะลานา ทอร์ราลบา / กรีนพีซ

มีรายการเหตุการณ์และอุบัติเหตุที่ยาวมากๆ เกี่ยวกับเรือดำน้ำนิวเคลียร์และเรือตัดน้ำแข็งที่มีอยู่

เรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์ลำแรกที่ชื่อว่า เลนิน มีอุบัติเหตุการระบายความร้อนในปี 2508 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสียหายของแกน กัมมันตรังสีที่เสียหายได้ถูกทิ้งไว้ในอ่าวซิโวลกี ใกล้กับเกาะโนวายาเซมลยา เมื่อปี 2510 ในปี 2513 เครื่องปฏิกรณ์ของเรือดำน้ำนิวเคลียร์ (K-320) เริ่มเดินเครื่องด้วยตัวเองที่ท่าเรือคราสโนเย ซอร์โมโว ในประเทศรัสเซีย ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยรังสีจำนวนมากและทำให้คนหลายร้อยคนต้องสัมผัสกับรังสี อุบัติเหตุระหว่างการขนย้ายเชื้อเพลิงของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเมืองแชส์มา ในปี 2528 ทำให้ผู้ใช้แรงงาน 290 รายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 49 คน และมากกว่าเกินที่จะกล่าวถึง

แผนของโรซาตอม ที่จะสร้างกองเรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น หมายความถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์และอุบัติเหตุมากมายในขั้วโลกเหนืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

4. การทิ้งกากนิวเคลียร์ในน้ำ

ถังบรรจุกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หลายถัง © เบิร์นด ฮอฟ / กรีนพีซ

เรามีกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์มากเกินกว่าที่เราจะรับมือไหวอยู่แล้ว เราไม่ต้องการมันเพิ่มอีก

เครื่องปฏิกรณ์ในโรงงานแห่งนี้มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนดินแบบเดิมๆ และจะต้องอาศัยเติมเชื้อเพลิงทุกๆ 2 ถึง 3 ปี กากนิวเคลียร์จะถูกเก็บไว้บนเรือจนกว่าจะกลับมาหลังจากผ่านไปแล้ว 12 ปี ตามเป้าหมายการเดินทาง นั่นหมายความว่ากากกัมมันตภาพรังสีจะถูกลอยทิ้งอยู่ในขั้วโลกเหนือเป็นเวลาหลายปีในแต่ละครั้ง

นอกจากความเสี่ยงสูงแล้ว แต่ยังไม่มีที่ไหนเลยที่ปลอดภัยสำหรับขนย้ายเชื้อเพลิงใช้แล้วไปหลังจากขึ้นฝั่งแล้ว ไม่มีแหล่งพลังงานไหนที่ควรสร้างของเสียที่ใช้เวลานับพันปีเพื่อรอให้ปลอดภัยอีกครั้ง

5. พลังงานนิวเคลียร์มีเพื่อใช้ในการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่ม

เครื่องมือขุดเจาะน้ำมันของ สแตทออยล์ ในขั้วโลกเหนือ © คริสเตียน โอสลุนด์ / กรีนพีซ

เหตุผลที่มีการลากไปยังขั้วโลกเหนือคือการช่วยประเทศรัสเซียขุดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เพิ่มขึ้น เหตุผลหลักที่มันมีอยู่คือเพื่อจัดสรรพลังงานให้อุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินและการทำเหมืองแร่ทางขั้วโลกเหนือ และเราก็ไม่จำเป็นจะต้องย้ำว่าทำไมการเพิ่มขึ้นของพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นถึงเป็นเหมือนข่าวร้ายสำหรับสภาพภูมิอากาศ เราเพียงแค่ต้องการจะปกป้องขั้วโลกเหนือจากหายนะครั้งนี้

ยอน ฮาเวอร์คอมพ์ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ จาก กรีนพีซยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

Comments

Leave your reply